สศก.เผยหนี้สินเกษตรกรปี 2557 ทะลัก 1.3 ล้านล้านบาท แนวโน้มเพิ่มต่อเนื่อง
นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก.ได้ว่าจ้างสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ศึกษาภาวะหนี้สินเกษตรกร โดยพบว่าแม้ว่าทุกรัฐบาลจะมีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง แต่ตัวเลขหนี้สินเกษตรกรในปี 2557 เพิ่มขึ้นเป็น 1.32 ล้านล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากเกษตรกรมีการกู้ยืมเงินในอัตราที่สูงกว่ารายได้ ในขณะที่หนี้สินคงค้างต่อรายได้เกษตรกรอยู่ในระดับที่สูง
"ผลการศึกษาพบว่าตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา ครัวเรือนเกษตรกรที่มีรายได้สูงกว่าเส้นความยากจนมีการกู้ยืมเงินในปริมาณที่สูงกว่าครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นยากจนเกือบ 2 เท่า" นายสุรพงษ์ กล่าว
สำหรับหนี้สินเกษตรกรแบ่งเป็น 1.หนี้สินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ การเกษตร (ธ.ก.ส.) 8.26 แสนล้านบาท 2.หนี้สินธนาคารพาณิชย์ 3.98 แสนล้านบาท 3.หนี้สินสหกรณ์การเกษตร 8.38 หมื่นล้านบาท 4.หนี้สินกองทุนในความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรฯ 1.04 หมื่นล้านบาท และ 5.หนี้สินกองทุนฟื้นฟูเพื่อพัฒนาเกษตรกร 3,496 ล้านบาท โดยครัวเรือนเกษตรจำนวน 4.9 ล้านครัวเรือน พบว่าครัวเรือนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีหนี้สินมากที่สุด
ก่อนหน้านี้ สศก.สำรวจพบว่าหนี้สินเกษตรกร ปีการผลิต 2556/2557 อยู่ที่ 1.2 ล้านล้านบาท
นายสุรพงษ์ ระบุว่า สำหรับแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2559 คาดว่าจีดีพีภาคเกษตรจะขยายตัว 2.5-3.5% หรือมีมูลค่า 1.4 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่จีดีพีภาคเกษตรหดตัว 4.2% โดยมีปัจจัยจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว ราคาน้ำมันทรงตัวในระดับต่ำ การกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนภาครัฐ ส่วนสถานการณ์ภัยแล้งคาดว่าจะไม่รุนแรงเท่ากับปีนี้
ทั้งนี้ สศก.คาดว่าผลผลิตข้าวเปลือกในปีการผลิต 2558/2559 จะอยู่ที่ 29 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีการผลิต 2557/2558 ที่จะมีผลผลิต 26 ล้านตัน ผลผลิตมันสำปะหลังในปี 2559 คาดว่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2558 ที่ 31 ล้านตัน โดยราคาจะอยู่ที่ระดับ 2.18 บาท/กก. ส่วนพืชที่คาดว่าจะราคาไม่ดี คือ พืชที่เกี่ยวโยงกับราคาน้ำมัน เช่น ปาล์มน้ำมัน ยางพารา อ้อย และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ วันที่ 19 ธ.ค. 2558