ยื่นศาลเพิกถอนแบบจำลองค่าเสียหายโลกร้อน
"เกษตรกร" ยื่นศาลปกครอง ขอเพิกถอนคำสั่งใช้แบบจำลองค่าเสียหายโลกร้อน เอาผิดชาวบ้านไม่ชอบ ทนายชี้ หลักคิดค่าเสียหายไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ แถมขัด รธน.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 55 ชาวบ้านเกษตรกร จ.ตาก , จ.เพชรบูรณ์ , จ.เชียงใหม่ , จ.ตรัง , จ.ชัยภูมิ รวม 18 ราย , องค์กรชุมชนบ้านพรสวรรค์ , เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด , เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์ลุ่มน้ำเซิน , เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าภูผาแดง และมูลนิธิอันดามัน ร่วมกัน ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 เรื่อง เป็นหน่วยงานของรัฐกระทำการ ออกคำสั่งโดยมิชอบ กรณีที่ ผู้ถูกฟ้องทั้งสอง มีคำสั่งให้ใช้แบบจำลอง สำหรับการประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมบางประการหลังการทำลายป่าไม้ (แบบจำลองค่าเสียหายโลกร้อน) ที่ใช้บังคับกับผู้ฟ้องและประชาชนที่ถูกกล่าวหาว่าอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ ผู้ฟ้องจึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้ใช้บังคับ แบบจำลองค่าเสียหายโลกร้อน ประกอบด้วยหนังสือกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืชที่ ทส 0911.2/2181 ลงวันที่ 6 ก.พ. 47 เรื่องแบบจำลองสำหรับประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมบางประการหลังการทำลายป่าไม้ , หนังสือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่ ทส 0903.4/14889 ลงวันที่ 19 ส.ค. 53 เรื่องหลักเกณฑ์การคิดค่าเสียหายทางแพ่ง กรณีบุกรุกแผ้วถาง ยึดถือครอบครองพื้นที่ป่า , หนังสือกรมป่าไม้ที่ ทส 1610.4/15752 ลงวันที่ 6 ธ.ค. 49 เรื่องหลักเกณฑ์การคิดคำนวณค่าเสียหายทางแพ่งจากการบุกรุกทำลายป่าไม้ และสั่งให้ผู้ถูกฟ้องทั้ง 2 ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงแบบจำลองดังกล่าวให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก่อนนำแบบจำลองใหม่มาบังคับใช้
ขณะที่นายอัมรินทร์ สายจันทร์ ทนายความผู้ฟ้อง กล่าวว่า ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากแบบจำลองดังกล่าว เนื่องจากภายหลังกรมอุทยานฯ กรมป่าไม้ อ้างว่าประชาชนได้รุกที่ป่าอุทยานฯ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตป่าสงวน และได้มีการดำเนินคดีอาญาแล้วก็จะมีฟ้องดำเนินคดีแพ่งโดยใช้มาตรา 97 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ในการฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ และได้นำหนังสือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์และพันธุ์พืช ที่ ทส.0911.2/2181 ลงวันที่ 6 ก.พ. 47 ที่กำหนดแบบจำลองทางคณิตศาสตร์สำหรับประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมมาเป็นหลักเกณฑ์ในการขอให้ศาลสั่งเรียกค่าเสียหายซึ่งมีรายละเอียดการคิดค่าเสียหายเป็น 7 กรณี 1. ค่าการสูญหายของธาตุอาหาร 2. ค่าทำให้ดินไม่ซับน้ำฝน 3. ค่าทำให้น้ำสูญเสียออกไปจากพื้นที่โดยการแผดเผาของรังสีดวงอาทิตย์ 4. ค่าทำให้ดินสูญหาย 5. ค่าทำให้อากาศร้อนมากขึ้น 6. ค่าทำให้ฝนตกน้อยลง 7. มูลค่าความเสียหายโดยตรงจากป่า 3 ชนิด คือ การทำลายป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง รวมเป็นเงินที่ชาวบ้านต้องจ่ายประมาณ 150,000 บาทต่อไร่ต่อปี
ซึ่งชาวบ้าน เห็นว่าการคิดคำนวณค่าเสียหายโดยใช้แบบจำลองฯนั้น เป็นการคิดค่าเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติเกินกว่าที่กฎหมายให้อำนาจ ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ไม่สอดคล้องความเป็นจริง มีข้อผิดพลาดบกพร่องอย่างร้ายแรงหลายประการ รวมทั้งการใช้แบบจำลองไปเรียกค่าเสียหาย เป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 66 และ 67 ที่บัญญัติรับรองคุ้มครองในเรื่องสิทธิชุมชนของประชาชนเอาไว้ จึงขอให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งเพิกถอน
"การที่ 2 หน่วยงานพยายามสร้างหลักเกณฑ์การคิดค่าเสียหายที่ไปเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศเช่นเรื่องอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น และฝนตกน้อยลง ที่ยังเป็นกรณีที่นักวิชาการทั่วโลกยังมีข้อถกเถียงกันไม่เป็นที่ยุติ ประกอบกับการกำหนดหลักเกณฑ์การคิดค่าเสียหายที่เชื่อมโยงกับการเกิดภาวะโลกร้อนมาบังคับใช้ อาจทำให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเกิดความเข้าใจผิดคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับสถานะและความรับผิดชอบของประเทศไทยได้ ซึ่งย่อมไม่เป็นผลดีและอาจสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงของประเทศในเวทีโลก"
คม ชัด ลึก 29-05-55
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.