“อยากรู้จริงหรือ? วงจรเล้าหมูมันซับซ้อนนะ กว่าจะมาเฉือนขายที่แผงตลาด ชาวบ้านโดนรุมกระหน่ำทั้งบริษัทใหญ่กับเจ้าหน้าที่เกษตร เจ้าหน้าที่ธนาคารร่วมกันหมด”
“วารี” (นามสมมุติ) นักเทคนิคการสัตวแพทย์ เปิดเผยถึงชีวิตที่เคยเป็นเซลส์ขายยาส่งเล้าหมูทั่วไทย ก่อนกลับใจมาทำ “ฟาร์มหมูปลอดภัย” ให้ฟังว่า
หลังเรียนจบสาขาเทคนิคการสัตวแพทย์ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ก็สมัครเข้าเป็นเซลส์ขายยาให้ฟาร์มเลี้ยงปศุสัตว์ โดยเน้นที่ฟาร์มหมูเป็นพิเศษ หากขยันเดินทางจะทำรายได้ดีไม่ต่ำกว่าเดือนละ 4-5 หมื่นบาท บางคนอาจบวกราคาเพิ่มหากสามารถขายยายี่ห้อที่ไม่ค่อยมีชื่อเสียง หรือยาไม่ได้ขึ้นทะเบียนไม่มีใบรับรอง
โดยยาที่ขายนั้นแบ่งเป็น 3 ชนิดด้วยกันคือ 1 ยาที่ใช้ผสมอาหารเป็นลักษณะผง 2 ยารักษาเชื้อไวรัสใส่เป็นขวดแก้วใช้วิธีฉีด และ 3 ยาประเภทวัคซีนต่างๆ
ทังนี้ ยาที่นิยมใช้มากเป็นกลุ่มยาปฏิชีวนะในกระบวนการเลี้ยงสัตว์ เหมือนกันหมดทั้งที้ใช้ในหมู ไก่ ปลา และยังมีสารเคมีประเภท “ฮอร์โมน” ช่วยเร่งให้หมูเติบโตเร็วเพื่อให้ได้ขนาดตามที่บริษัทกำหนด เนื่องจากฟาร์มหมูขนาดใหญ่จะเป็น “คอนแทร็กฟาร์ม” หรืออยู่ภายใต้ “โครงการเกษตรพันธสัญญา” ที่มีบริษัทใหญ่บังคับให้ซื้อลูกหมู อาหาร ยา และสิ่งอื่นๆ
“ขายยาไปได้ 2-3 ปีก็เลิก เพราะรู้ว่าอันตรายมาก บางทีหมูไม่ได้เป็นอะไร เจ้าของเล้าก็ให้ยาเยอะๆ เพื่อป้องกัน เราเองเป็นเซลส์ก็พยายามพูดเกลี้ยกล่อมให้เขาใช้ยา หมูตัวเล็กก็เน้นยาไม่ให้หมูติดโรค หมูโตหน่อยก็เน้นขายฮอร์โมนเร่งให้โตเร็ว หากหมูใกล้ขายก็เน้นสารเคมีที่ช่วยให้หมูมีเนื้อแดง ยาพวกนี้จะได้กำไรคือพวกไม่มียี่ห้อ ถ้าต้นทุน 100 กว่าบาทขายได้เกือบ 300 บาท เล้าหมูใหญ่ๆ ที่เลี้ยงพันตัวขึ้นไป ต้องซื้อยาเดือนละหลายแสนบาท เซลส์กับบริษัทมีรายได้จากตรงนี้
สุดท้าย “วารี” ก็พบจุดเปลี่ยนชีวิตทำให้ต้องเลิกขายยา เพราะแม่ไม่สบาย เนื่องจากเป็นแม่ค้าขายหมูที่ตลาด ต้องสัมผัสและกินหมูเยอะ เมื่อแม่ป่วยหนักวารีตัดสินใจเลิกเป็นเซลส์ หันมาเรียนรู้การทำฟาร์มหมูปลอดสารพิษแทน ใช้ขมิ้นแทนยา และไม่ใช้อาหารที่ซื้อจากบริษัท เพราะรู้ดีว่าบริษัทพวกนี้จะแอบใส่ยาหรือฮอร์โมนผสมเข้าไปในอาหารช่วยเร่งให้หมูโตเร็ว
“วารี” เล่าต่อว่า ตลาดหมูปลอดสารพิษไปได้ดีมาก ปัจจุบันเลี้ยงไว้ 20 ตัว ตอนนี้ถูกจองซื้อหมดแล้วไว้สำหรับเทศกาลปีใหม่ ราคาดีกว่า เพราะหมูทั่วไปขายกิโลละ 100 กว่าบาท แต่หมูปลอดสารขายได้ 200-300 บาท อยากให้เจ้าของเล้าหมูที่เคยตกเป็นเหยื่อของพวกบริษัทคอนแทร็กฟาร์มเปลี่ยนมาเลี้ยงแบบธรรมชาติ ใช้สมุนไพรและอาหารที่ไม่ต้องซื้อจากบริษัท แม้ว่าจะเลี้ยงได้ไม่เยอะ แต่ปลอดภัยและราคาดี ไม่ตกอยู่ภายใต้สัญญาไม่เป็นธรรมหรือสัญญาทาส
“ส่วนใหญ่พวกบริษัทจะเข้าหาเกษตรกรหน้าใหม่ กลุ่มมีที่ดินขนาดใหญ่ แล้วหลอกล่อให้ไปกู้ยืมเงินจาก ธ.ก.ส. เจ้าหน้าที่จะให้เงินกู้เยอะถ้ามีคอน แทร็กฟาร์ม เริ่มกู้ตั้งแต่ 4-5 ล้านบาท จากนั้นเข้าสู่วงจรใต้คำสั่ง ใครไม่เชื่อฟังจะถูกกลั่นแกล้ง เอาลูกหมูติดเชื้อโรคมาผสมให้เลี้ยง พอลูกหมูหลายร้อยตัวตาย ก็ขาดทุนต้องกู้เพิ่ม ยิ่งเป็นหนี้ไปเรื่อยๆ ส่วนเล้าหมูที่ประสบความสำเร็จคือกลุ่มที่บริษัทพวกนี้อยากให้เป็นฟาร์มหมูตัวอย่าง ให้คนมาเยี่ยมชม จะได้เข้าร่วมโครงการของบริษัทเขา ตอนนี้ทั่วประเทศไทยมีประมาณ 3- 4 บริษัทที่เป็นเจ้าของสัญญา"
“วารี” กล่าวเตือนว่า เกษตรกรคนใดที่ได้รับการเชื้อเชิญ ควรศึกษาให้ดีโดย 1.ต้องไปดูฟาร์มหรือเล้าหมูหลายๆ แห่ง อย่าไปเฉพาะที่บริษัทแนะนำ ต้องไปสืบหาด้วยตัวเอง เพื่อเรียนรู้ว่าดีจริงหรือไม่ 2.ควรหาทนายความหรือผู้เชี่ยวชาญมาช่วยดูรายละเอียดในสัญญาเพื่อไม่ให้ถูกเอาเปรียบ
ข้อมูลจากเครือข่ายเกษตรพันธสัญญาสำรวจพบว่า ใน 10 จังหวัดใหญ่ เช่น ขอนแก่น เชียงใหม่ ลพบุรี ฯลฯ เฉพาะปี 2556 มีเกษตรกร 1,760 รายตกอยู่ภายใต้สัญญาไม่เป็นธรรม ก่อให้เกิดหนี้สินไปประมาณ 1,200 ล้านบาท นอกจากนี้ยังพบว่า เกษตรกรที่มาทำคอนแทร็กฟาร์มมีโอกาสขาดทุนมากกว่ากำไร โดยผู้เลี้ยง “ไก่เนื้อ” โอกาสขาดทุน 100% ไก่ไข่ 63% สุกร 70% และผู้เลี้ยงปลาในกระชังมีโอกาสขาดทุนประมาณ 49% เนื่องจาก สิ่งของ อาหาร ยา เครื่องใช้ที่จำเป็น ต้องซื้อจากบริษัทในราคาสูงกว่าตลาดทั่วไป และถูกกดราคาเวลานำไปขายคืนให้บริษัท
ยิ่งไปกว่านั้นยังมีเทคนิคบังคับให้ใช้สารเคมี ยาปฏิชีวนะ ฮอร์โมนในปริมาณที่เกินกว่ามาตรฐานทำให้มีการตกค้างของยาปฏิชีวนะหรือสารเคมีในสัตว์เลี้ยง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเกษตรกรหรือลูกจ้างผู้อยู่ใกล้ชิดสัตว์เหล่านี้
ข้อมูลจากเครือข่ายเกษตรพันธสัญญาอ้างถึงงานวิจัยจากโรงพยาบาลศิริราชว่า เมื่อนำเนื้อไก่จากห้างสรรพสินค้ามาตรวจหาการตกค้างของยาปฏิชีวนะในเนื้อ ทำให้พบเชื้อโรคที่ดื้อยาปฏิชีวนะ จึงเกิดข้อสงสัยว่าการใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินกว่ามาตรฐาน ทำให้เชื้อโรคในไก่เนื้อเกิดการดื้อยาขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคที่กินไก่หรือหมูหรือสินค้าเกษตรที่เต็มไปด้วยยาหรือสารเคมีตกค้าง มีพิษร้ายอันตรายสะสมในร่างกายก่อให้เกิดมะเร็ง โรคระบบทางเดินหายใจ ภูมิแพ้ หรือมีอาการทางจิตประสาท ฯลฯ
“อุบล อยู่หว้า” แกนนำเครือข่ายเกษตรพันธสัญญา ให้ข้อมูลว่า ตอนนี้ประเทศไทยกำลังจะออกกฎหมายใหม่ เป็น “ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการคุ้มครองระบบเกษตรพันธสัญญา” เสนอต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
“มีเกษตรกรไม่น้อยกว่า 4 แสนครอบครัวที่ตกอยู่ใต้สัญญาไม่เป็นธรรม เกษตรกรต้องแบกรับต้นทุนทุกอย่าง ค่าไฟ ค่าสถานที่ ค่าแรง โรงเรือน วัสดุ ค่าอาหาร ไม่มีโอกาสต่อรองกับบริษัทยักษ์ใหญ่ได้ ควรมีหน่วยงานรัฐที่เป็นคนกลางเข้ามาดูแล เพราะแม้แต่ธนาคารก็ไปเข้าข้างนายทุนรุมซ้ำเติมเจ้าของเล้าหมู หรือ ชาวไร่ชาวนา” อุบล กล่าวทิ้งท้าย
หลังจากเครือข่ายเกษตกรเสนอ “ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการคุ้มครองเกษตรพันธสัญญา” ต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน
จากนี้ไปคงต้องลุ้นกันต่อว่า “รัฐบาล คสช.” จะให้ความสำคัญกับปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรและผู้บริโภคที่ต้องกินอาหารที่เต็มไปด้วยสารเคมีพิษร้ายอย่างไร
สรุป 10 สาระสำคัญ
“ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเกษตรพันธสัญญา”
1 ห้ามส่ง “พันธุ์พืช-สัตว์” “อาหาร” “ยา” “ปัจจัยผลิต” ที่ไม่มีคุณภาพให้แก่เกษตรกรหรือคู่สัญญา
2 ห้ามทำสัญญา “ได้เปรียบ” อีกฝ่ายหนึ่ง
3 “ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตร” ต้องจดทะเบียนกับหน่วยงานรัฐ
4 ต้องเปิดเผยข้อมูลสัญญาต่อสาธารณะ
5 กระทรวงเกษตรและกระทรวงยุติธรรม ต้องจัดฝึกอบรมให้ความรู้ และประเมินผลงานให้เกษตรกรรับทราบ
6 รัฐต้องมีมาตรการส่งเสริม “การลงทุน” และ “ภาษีอากร” ให้กับบริษัทหรือเอกชนที่ประกอบธุรกิจด้านการเกษตรพันธสัญญา
7 ทั้งฝ่ายเกษตรกรและบริษัทเอกชนทั้ง 2 ฝ่ายต้องร่วมกันรับผิดชอบหากทำความเสียหายให้แก่ “สิ่งแวดล้อม”
8 เมื่อเกิดโรคระบาด ภัยพิบัติ เหตุสุดวิสัย ฯลฯ หากเกษตรกรได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาลต้องจัดสัดส่วนให้แก่ฝ่ายคู่สัญญาด้วย
9 แต่งตั้ง “คณะกรรมการระงับข้อพิพาท” ทุกจังหวัด มีตัวแทนจากภาครัฐ เช่น กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงแรงงาน กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงยุติธรรม
10 เมื่อมีการร้องเรียนต้องพิจารณาระงับข้อพิพาทให้เสร็จสิ้นภายใน 1 เดือน โดยผู้ที่ทำผิดต้องรับโทษจำคุก 2 ปี หรือปรับ 2 แสน-1 ล้านบาท ตามที่กฎหมายกำหนด
ที่มา : คมชัดลึก วันที่ 14 ธ.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.