จากกรณีมีการคัดค้านการ ประกาศใช้ พ.ร.บ.จีเอ็มโอ พร้อมระบุว่า การคัดแยก “พืชอินทรีย์-พืชจีเอ็มโอ” ไม่ให้ปะปนกัน เป็นเรื่องยาก เพราะเคยเกิดขึ้นมาแล้วในหน่วยงานราชการเอง หวั่นกระทบการค้า เพราะตลาดส่วนใหญ่ไม่รับซื้อ หากคู่ค้าไม่มั่นใจระบบคัดแยก พร้อมยืนยัน ระบบเกษตรอินทรีย์ไทยตอบโจทย์ได้มากกว่าระบบพืชจีเอ็มโอ “บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์” ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.) อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้มาร่วมแสดงความเห็นผ่านรายการ “ชั่วโมงที่ 26” ทางสถานีโทรทัศน์ดิจิทัล NOW 26 เมื่อค่ำวันที่ 9 ธันวาคม ที่ผ่านมา
นายบัณฑูร กล่าวว่า ในส่วนผู้ปลูก เนื่องจากเรายังมีระบบการผลิตที่ยังไม่จำแนกพื้นที่ปลูกพืชแต่ละชนิดให้ชัดเจน เช่น สถานที่ใดปลูกพืชอินทรีย์ ที่ใดปลูกพืชจีเอ็มโอ ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้มีการปะปนกันของพืชจีเอ็มโอ กับพืชที่ไม่ใช่จีเอ็มโอ
เมื่อดูตลาดส่งออกสินค้าภาคการเกษตรจะพบว่า ส่วนใหญ่ประเทศต่างๆ ยังไม่เปิดรับพืชจีเอ็มโอ โดยเฉพาะตลาดยุโรป ที่เป็นคู่ค้าสำคัญและนโยบายปิดกั้นผลิตภัณฑ์ที่มาจากพืชจีเอ็มโอ ฉะนั้นเกษตรกรในฐานะเป็นผู้ผลิต จะปลูกพืชทั่วๆ ไปปะปนกับพืชจีเอ็มโอไม่ได้เด็ดขาด เพราะอาจจะประสบปัญหาถูกปิดกั้น เนื่องจากถูกตรวจพบการปะปนของพืชจีเอ็มโอ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการค้าขาย
ฉะนั้นการแบ่งพื้นที่การปลูกและการจัดการเพื่อไม่ให้ผลผลิตปะปนกัน เป็นสิ่งสำคัญมาก แต่เรื่องดังกล่าวกำลังเป็นประเด็นข้อโต้แย้งว่า จะกลายเป็นต้นทุนให้แก่ผู้ผลิตที่ไม่ต้องการปลูกพืชจีเอ็มโอ ที่กลายเป็นภาระที่ต้องป้องกันไม่ให้พืชจีเอ็มโอข้ามมายังแปลงของตน รวมทั้งกระบวนการผลิต จัดการต่างๆ ไปจนถึงการส่งออก
ผอ.สถาบันธรรมรัฐฯ กล่าวอีกว่า คนที่ปลูกพืชธรรมดาต้นทุนก็จะเพิ่มขึ้นและราคาอาจจะแพงกว่าพืชจีเอ็มโออีกด้วย และยังอาจถูกปฏิเสธที่ไม่เชื่อมั่นในกระบวนการผลิตของประเทศไทย ระบบการคัดแยก เนื่องจากเคยมีความซับซ้อนจากการปลูกฝ้ายจีเอ็มโอเมื่อปี 2540 แต่กลับพบในแปลงปลูกฝ้ายปกติที่ จ.เลย และ จ.เพชรบูรณ์ หรือการปลูกมะละกอจีเอ็มโอ ที่ จ.ขอนแก่น แต่พบในแปลงปลูกของเกษตรกร ซึ่งกลายเป็นข้อสนับสนุนของความไม่ไว้วางใจการแยกการปะปนของพืชจีเอ็มโอ
ข้อถกเถียงในขณะนี้ มีฝ่ายที่สนับสนุนเสนอว่า สามารถแบ่งแยก มีระยะห่าง และมีวิธีป้องกันได้ แต่เมื่อมองจากตัวอย่างที่ได้กล่าวมานี้ จะพบว่า การทดลองปลูกในแปลงของทางราชการยังหลุดออกไป จึงเกิดคำถามว่า ในทางปฏิบัติจริงจะทำได้จริงหรือไม่
ส่วนมุมมองที่ยกเหตุผลสนับสนุนพืชจีเอ็มโอ เนื่องจากความแข็งแรง ทนทานต่อโรค แมลง และได้ผลผลิตที่ดีกว่า ในต้นทุนที่ต่ำกว่านั้น
นายบัณฑูร กล่าวว่า เหตุผลดังกล่าวต้องมองย้อนกลับไปว่า ประเทศไทยมีโจทย์ของภาคเกษตรอย่างไร และเรามีทางเลือกในการจัดการปัญหาดังกล่าวได้ดีแค่ไหน
ยกตัวอย่าง ความต้องการลดการใช้ยาฆ่าแมลง กับต้องการเพิ่มผลผลิต เรามีทางเลือกอื่นเพื่อตอบโจทย์นี้ อีกมาก เช่น เกษตรอินทรีย์ ซึ่งไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ที่มีบทพิสูจน์ให้เห็นมาแล้วว่า สามารถเพิ่มผลผลิตได้จริง และมีต้นทุนในการดำเนินการที่ต่ำกว่า ไม่สร้างปัญหาความเสี่ยงจากการปนเปื้อนของสารเคมีหรือพืชจีเอ็มโอ ทั้งยังไม่มีปัญหาในเรื่องตลาดส่งออกอีกด้วย ทั้งนี้ พืชจีเอ็มโอก็เป็นหนึ่งในทางเลือกด้วย
“เราไม่ปฏิเสธเทคโนโลยีชีวภาพที่สามารถตอบโจทย์หรือแก้ปัญหาได้มากมาย แต่เฉพาะพืชจีเอ็มโอมีคำถามที่เกี่ยวโยงมากมายที่นอกเหนือไปจากการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่เรามีทางเลือกอื่น เช่น การผูกขาดผลิตภัณฑ์ การปรับแก้กฎหมายเพื่อรองรับการเจรจาทางการค้า รวมถึงความเป็นจริงในทางปฏิบัติของการบังคับใช้กฎหมาย ความสามารถของหน่วยงานราชการในการควบคุมไม่ให้เกิดการปะปนได้จริง”
นายบัณฑูร กล่าวถึงเนื้อหาใน พ.ร.บ.ที่มีข้อท้วงติงว่า มีหลากหลาย ตั้งแต่การกำหนดในเชิงนโยบายที่กำหนด ให้ต้องมีการประกาศรายชื่อ พืช สิ่งมีชีวิตตัดแต่งพันธุกรรม ที่ห้ามผลิต ห้ามนำเข้า ซึ่งจะทำให้ พืช-สัตว์ จีเอ็มโอ ที่ไม่ได้ประกาศห้ามนำเข้า ห้ามผลิต มีความหมายในทางตรงข้ามกัน
“เป็นการเขียนกฎหมายในเชิงเปลี่ยนทิศทางนโยบายของประเทศ นั่นหมายความว่า แม้จะไม่เปิดเสรี เพราะยังมีกลไกการคัดแยก แต่ทิศทางนโยบายจากเนื้อหาของกฎหมายสามารถเข้าใจได้ว่าประเทศไทยมีแนวโน้มเปิดกว้างให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอได้ ควรจะระบุว่า อะไรที่อนุญาตให้นำเข้าได้ หากมีการพิสูจน์ในทุกมิติแล้ว” ผอ.สถาบันธรรมรัฐฯ กล่าว
นายบัณฑูร กล่าวถึงในส่วนที่มีการนำเข้ามาแล้วว่า จะต้องมีการประเมินถึงความเสี่ยง โดยการนำมาใช้มี 2 แบบด้วยกัน คือ 1.เพื่อการทดลอง 2.เพื่อการค้า ปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งมีข้อท้วงติงมากมายเช่นกัน กล่าวคือ คณะกรรมการที่พิจารณา สมาชิกส่วนใหญ่ได้มาจากการแต่งตั้งของรัฐมนตรี ขาดการมีส่วนร่วมของภาคสังคม และในการประเมินความเสี่ยงดูเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ยังขาดการประเมินผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม
ทั้งนี้ประเด็นการประเมินด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพนั้น นายบัณฑูร กล่าวว่า ในกรณีที่พืชจีเอ็มโอหลุดออกสู่ภายนอกแล้ว ความรับผิดชอบมีการกำหนดไว้เพียงว่า ให้ผู้ที่เป็นเจ้าของไปตามเก็บ ทำลาย กำจัด เหล่านั้น ไม่ได้ให้รับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งบทลงโทษก็ยังอยู่ในระดับอัตรา โทษที่ต่ำด้วย คือจำคุก 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนบาท ขณะที่ผลกระทบที่เคยปรากฏ เช่น กรณีสตาร์ลิงค์ มีมูลค่าความเสียหายกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์
ขณะนี้ พ.ร.บ.จีเอ็มโอผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้ว กำลังเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อกลับมาให้ ครม.เห็นชอบอีกครั้ง ก่อนจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่ง นายบัณฑูรกล่าวว่า ทราบว่า สนช.หลายท่านให้ความสนใจและมีความเป็นห่วง จึงมีการติดต่อพูดคุยเพื่อขอข้อมูล หลักฐานต่างๆ เหตุผลที่คัดค้าน รวมถึงเนื้อหาในบทบัญญัติของต่างประเทศที่ได้รับการยอมรับเป็นเช่นไร
หากการเคลื่อนไหวของกลุ่มที่คัดค้านจากทั่วประเทศสามารถผลักดันหรือกดดันฝ่ายที่สนับสนุนจนไม่สามารถท้วงติงได้ผลดี มีความเป็นไปได้ว่า อาจมีการปรับรื้อใหม่ทั้งหมดแล้วเริ่มต้นร่างกฎหมายใหม่อีกครั้ง หากคัดค้านไม่สำเร็จเป็นไปได้ว่า เมื่อกฎหมายเข้าสู่สภาก็ตั้งกรรมการวิสามัญ แล้วดึงภาคประชาชน นักวิชาการ กลุ่มผู้ที่เห็นต่างเข้าไปร่วมแก้ไข ปรับปรุงเนื้อหากฎหมายให้เหมาะสมมากที่สุด
“ผมมีความห่วงใยว่า พืชจีเอ็มโอมีโอกาสเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ได้ เพราะยังมีผู้บริโภคจำนวนมากที่ไม่มั่นใจความปลอดภัยและผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งที่ก่อนหน้านี้รัฐเคยอนุญาตให้มีการปลูกข้าวโพดจีเอ็มโอ เพื่อใช้เลี้ยงสัตว์ และสัตว์เหล่านั้นจะกลายมาเป็นอาหารให้แก่มนุษย์ เราจะมีระบบคัดกรองนั้นอย่างไรว่า อาหารที่บริโภคไม่มีการปะปนกัน ซึ่งเป็นสิทธิของผู้บริโภค ที่จะเป็นโจทย์ตามมา”
นายบัณฑูร กล่าวด้วยว่า เราไม่สามารถตอบโดยรวมได้ว่า ผลดีหรือผลเสียต่อสุขภาพอย่างไร เพราะขึ้นอยู่กับการประเมินเป็นรายผลิตภัณฑ์ แต่ความเหมาะสมของพืชจีเอ็มโอมาใช้ในประเทศไทยนั้น ขึ้นอยู่กับทิศทางของภาคเกษตรกรรมว่า ยังต้องการเกษตรอินทรีย์ แสดงว่า พืชจีเอ็มโอ ไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง
ที่มา : คมชัดลึก วันที่ 10 ธ.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.