ทีดีอาร์ไอ จวกรัฐไม่สนใจแก้ปัญหาคดีที่ดินคนจน
"นิพนธ์" จี้ ออก กม.ที่ดินสงวนหวงห้ามของรัฐ แก้ปัญหาคนจนรุกป่า หนุนดึงกรมศิลป์-จิสด้า ร่วมทีมพิสูจน์สิทธิ์อยู่อาศัย ด้าน "ไพโรจน์" เสนอ ตั้งศาลเฉพาะทางพิจารณาคดีทรัพยากร
วันที่ 28 พฤษภาคม ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) จัดเวทีสัมมนาวิชาการเรื่องกระบวนการยุติธรรมกับการแก้ไขปัญหาที่ดินคนจน ว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินบนเส้นทางการเมืองภาคพลเมือง ณ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ปาฐกถาพิเศษ
ดร.นิพนธ์ กล่าวตอนหนึ่งถึงสภาพปัญหาที่ดินของคนจนส่วนใหญ่เกิดจากกรณีบุกรุกพื้นที่สงวนหวงห้ามของรัฐ และความขัดแย้งเรื่องแนวเขตที่ดิน การประกาศเขตป่าสงวนทับที่ดินของชาวบ้าน ซึ่งก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม ความเกลียดชังระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งขณะนี้มีคนจนที่อยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีกว่า 400 คดี
"สาเหตุที่รัฐไม่สนใจแก้ปัญหาที่ดินของคนจนอย่างจริงจัง ปล่อยให้เป็นปัญหาเรื้อรัง แผลเน่าเปื่อย เนื่องจากปัจจุบันคนจนไม่ใช่ฐานเสียงทางการเมืองที่สำคัญเท่ากับคนชั้นกลาง เจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนไม่เห็นด้วยกับการมีชุมชนในป่า รวมถึงยังขาดหลักกฎหมาย ข้อมูล เครื่องมือในการช่วยเหลือคนจนที่ถูกข้อหาบุกรุกป่า ทำให้ข้าราชการยังคงปฏิบัติหน้าที่และรักษากฎหมายที่ล้าสมัยอยู่เช่นเดิม"
เสนอรัฐเร่งตรากม.ที่ดินสงวนหวงห้ามฯ
สำหรับเรื่องการพิสูจน์สิทธิ์ ในมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2541 นั้น ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ใช้ไม่ได้ผล เนื่องจากรัฐไม่รองรับการใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์และประวัติศาสตร์ในการพิสูจน์สิทธิ์ อีกทั้งเมื่อ ส.ส.เสนอร่างกฎหมายที่ดินสงวน หวงห้ามฯ เพื่อแก้ปัญหาที่ดินของคนจน ก็ตกไปเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลปี 2555 ฉะนั้น ทางออกในเรื่องนี้คือ รัฐบาลต้องเร่งตรากฎหมายที่ดินสงวนหวงห้ามฯ เพื่อสร้างระบบพิสูจน์สิทธิ์ของชาวบ้านเป็นรายบุคคล อยู่อาศัยมาก่อนกฎหมายป่าไม้จริงหรือไม่ โดยอาศัยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และประวัติศาสตร์ เช่น ภาพถ่ายทางอากาศ อาสินหรือพืชที่คนนำเข้าไปปลูกในป่า ซึ่งในเรื่องนี้ควรเพิ่มบทบาทของหน่วยงานภาครัฐอย่างกรมศิลปากร และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เข้ามาช่วย
ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า พื้นที่ป่าในปัจจุบันมีแนวโน้มลดลง ทั้งจากการบุกรุก การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ น้ำท่วม ระบบนิเวศน์ จึงจำเป็นต้องเร่งสร้างการมีส่วนร่วมในการดูแล ป้องกันแนวเขตป่า ซึ่งหากสามารถผนวกเรื่องโฉนดชุมชนเข้าไว้ในกฎหมายฉบับนี้ได้ จะยิ่งสร้างแรงจูงใจให้ชาวบ้านในการรักษาป่า ช่วยแก้ปัญหาทั้งระดับปัจเจกและชุมชนได้ อย่างไรก็ตามยอมรับว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะหากมีกรณีการคอร์รัปชั่นเข้ามาเกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ดร.นิพนธ์ กล่าวถึงการแก้ปัญหาไร้ที่ดินทำกินด้วยว่า การตั้งธนาคารที่ดินเป็นเงื่อนไขสำคัญ แต่ธนาคารที่ดินจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับกฎหมายภาษีที่ดิน ที่จะเข้าไปกำกับให้ผู้ถือครองที่ดินไว้เฉยๆ โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ต้องเสียภาษี และอาจต้องขายที่ดินออกมา
คดีที่ดินคนจน ไม่เข้าข่ายปรองดอง?
ด้านนายไพโรจน์ พลเพชร คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวถึงกระบวนการยุติธรรมกับความเป็นธรรมของชาวบ้านผู้ไร้ที่ดินว่า แม้ขณะนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในบรรยากาศปรองดอง แต่คดีความของชาวบ้าน กรณีที่ดินลำพูนนั้นเป็นเรื่องของชนชั้นล่าง จึงไม่เข้าข่ายปรองดอง
“ กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมปัจจุบันยังไม่ใช่เครื่องมือที่นำไปสู่ความเป็นธรรมในการแก้ปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน เนื่องจากกฎหมายยอมรับสิทธิอันศักดิ์สิทธิ์ของคนที่มีโฉนดเท่านั้น เป็นเจ้าของแล้วก็เป็นเจ้าของตลอดไป โดยไม่ได้ดูเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดิน การได้มาหรือการใช้ประโยชน์ในที่ดินผิดประเภท" นายไพโรจน์ กล่าว และว่าขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าตำรวจ อัยการ หรือศาลยังใช้กฎหมาย ตีความกฎหมายอย่างลำเอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทำให้กฎหมายมีขึ้นเพื่อรักษาการถือครองที่ดิน
ของปัจเจก ไมใช่เพื่อกระจายสิทธิ์เท่าที่ควร ดังนั้นเรื่องนี้ต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวคิด และเห็นว่าควรมีการจัดตั้งศาลเฉพาะทางที่มีความรู้ความชำนาญขึ้นมาพิจารณาคดีเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ ขณะที่กระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริงนั้น ควรจะต้องดำเนินการโดยศาลมากขึ้น
ปฏิรูปที่ดินจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีภาษีทรัพย์สิน-มรดก
ส่วนดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ในการปฏิรูปที่ดินนั้นมีด้วยกันหลายมิติ ทั้งเรื่องการจัดการที่ดินให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งในประเทศไทยนั้นพบปัญหาเรื่องการกระจุกตัวในการถือครองที่ดินค่อนข้างมาก ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ 90% ถือครองที่ดินไม่ถึง 1 ไร่ ขณะที่คนเพียง 10% ถือครองที่ดินมากกว่า 100 ไร่
"ขณะเดียวกันยังพบว่า มีที่ดินที่ถูกถือครองในไทย 50%-70% ถูกปล่อยทิ้งร้าง ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งหากประเมินเป็นความสูญเสียทาง เศรษฐกิจ มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี ในขณะที่เกษตรกรไทยไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็น 40% ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมดไม่มีที่ดินทำกินและต้องเช่าที่ดินทำกิน"
ดร.อนุสรณ์ กล่าวถึงแนวโน้มการถือครองที่ดินของไทยในอนาคตด้วยว่า ถูกครอบครองโดยชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะที่ดินซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง เช่น พัทยา ภูเก็ต ชะอำ ฉะนั้น การกำหนดยุทธศาสตร์การถือครองที่ดินในช่วงต่อไป ภายใต้ทุนนิยมและประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นว่า ต้องยึดแนวทางที่เป็นธรรม ไม่ทำให้การจัดการที่ดินทั้งระบบด้อยลง หรือจำกัดสิทธิเสรีภาพของการลงทุน ประการสำคัญ การปฏิรูปที่ดินจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดก ซึ่งจะเป็นตัวกดดันให้คนคายที่ดินออกมาก
ส่วน การตั้งธนาคารที่ดิน โดยภาคประชาชนนั้น ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า การใช้ชื่อว่าธนาคาร อาจติดเงื่อนไข มีปัญหาในหลายเรื่อง ดังนั้นจึงเห็นว่า การตั้งกองทุนฯ ระดมเงินจากกลุ่มประชาชนด้วยกันเองมาใช้เป็นทุนประเดิมในการจัดซื้อที่ดิน น่าจะเป็นช่องทางที่ดินกว่า แม้จะมีกำลังไม่มาก แต่เป็นการส่งสัญญาณให้ภาครัฐได้ตระหนักถึงกระแสในเรื่องนี้
ณัฐนันท์ อิทธิยาภรณ์ ศูนย์ข่าวสารนโยบายสาธารณะ 29-05-55
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.