วันที่ 2 พฤศจิกายน พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีพื้นที่รวม 500,000 กว่าตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็น 320 ล้านไร่ โดยมีเป้าหมายให้พื้นที่ป่าของประเทศอยู่ที่ร้อยละ 40 หรือประมาณ 128 ล้านไร่ แต่ปัจจุบันมีสภาพพื้นที่ที่เป็นป่าอยู่ประมาณ 102 ล้านไร่ หรือร้อยละ 31.5 โดยในส่วนที่ถูกบุกรุกรัฐบาลได้เร่งแก้ไขตามแผนยุทธศาสตร์หยุดยั้งการบุกรุกพื้นที่ป่าและปฏิบัติการทวงคืนผืนป่า โดยกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกันปฏิบัติงานเข้าไปดำเนินการกับผู้บุกรุก ซึ่งสามารถดำเนินการทวงคืนผืนป่าได้แล้วกว่า 280,000 ไร่ ส่วนใหญ่เน้นจับกุมนายทุนโดยผ่านกระบวนการคัดกรองแยกกลุ่มนายทุนออกจากชาวบ้านให้ชัดเจน เพื่อให้กระทบต่อผู้ยากไร้ที่ขาดแคลนที่ดินทำกิน สำหรับพื้นที่บางส่วนที่ได้จากการทวงคืนกลับมา รัฐจะนำมาจัดให้ประชาชนผู้ยากจนได้มีโอกาสมีพื้นที่ทำกิน โดยมีข้อกำหนดที่ทางรัฐได้วางไว้
พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวอีกวา นอกจากนี้กระทรวงทรัพยากรฯ ได้จัดตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ตั้งแต่ระดับจังหวัดที่ให้จังหวัดดูแล ระดับภาคก็เป็น กอ.รมน. ภาคโดยมีทหารเข้ามาช่วยดูแล และในส่วนกลางทางกระทรวงทรัพยากรฯ จะเป็นผู้ดูแล เพื่อเป็นช่องทางให้ ประชาชนคนใดที่รู้สึกว่าลำบากอึดอัดใจกับการทำงานของข้าราชการในกรณีการพิพาทที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ หรือหากประชาชนคนใดพบเบาะแสในการบุกรุกพื้นที่ป่าของกลุ่มนายทุนก็สามารถแจ้งเข้ามาให้เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการได้
นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า ในส่วนของพื้นที่ที่ปลูกยางพาราที่กรมป่าไม้ยึดคืนมาได้กำหนดแนวทางในการจัดการโดยร่วมมือกับทางจังหวัด ตำรวจ ทหาร และ กอ.รมน. เพื่อจำแนกว่าบุคคลใดเป็นกลุ่มนายทุนหรือไม่ กรณีที่ไม่แน่ใจก็จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการระดับจังหวัด (คปป.) ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน แต่หากพบว่าเป็นนายทุนก็จะดำเนินการทางกฎหมายทันที โดยทำการติดประกาศ ซึ่งให้เวลาประมาณ 30 วัน และสามารถยื่นอุทธรณ์ได้อีก 15 วัน จากนั้นจะเข้าดำเนินการตัดยางพาราออกตามขั้นตอนทางวิชาการต่อไป สำหรับการตัดต้นยางพาราของกรมป่าไม้ ทางกรมจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 และ 2 และกลุ่มพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 3 4 และ 5 ทั้งนี้ ในแต่ละกลุ่มจะจำแนกต้นยางพาราตามชั้นอายุ คือ 1.กลุ่มต้นยางพาราที่มีอายุ 1 - 4 ปี จะตัดออกหมด และปลูกป่าทดแทนโดยใช้พันธุ์ไม้พื้นเมืองในทันที 2.กลุ่มต้นยางพาราที่มีอายุ 4 - 20 ปี จะตัดออกบางส่วนและปลูกต้นไม้ป่าเสริมเข้าไป และ 3.ต้นยางพาราที่มีอายุเกิน 20 ปี จะคงสภาพไว้ให้เป็นพื้นที่สีเขียว ซึ่งในขณะนี้กรมป่าไม้ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษไปแล้วกว่า 100,000 ไร่ และตัดฟันต้นยางพาราแล้วประมาณ 20,000 กว่าไร่ ในส่วนของการทำงานกรมไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องปริมาณเป็นหลัก แต่จะเน้นการคัดกรองหานายทุนตัวจริง เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ยากไร้ หรือกระทบให้น้อยที่สุด
ที่มา : มติชน วันที่ 2 ธ.ค. 2558