เดินหน้าดันร่างก.ม.เขตพัฒนาศก.พิเศษ กนอ.ส่งกลับก.อุตสาหกรรม ยืนตามร่างกฤษฎีกา เพื่อเสนอครม.เห็นชอบ ก่อนเข้ากระบวนการนิติบัญญัติให้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป ชี้ให้อำนาจอื้อทั้งตราพ.ร.ฎ.ถอนสภาพที่ดินรัฐ เขตป่า ที่สาธารณประโยชน์ ยันถมทะเลถึงที่ธรณีสงค์ เอามาทำเขตพัฒนาศก.พิเศษได้ รวมถึงให้อำนาจวางผังแม่บทพัฒนาเมืองเองเพื่อความคล่องตัว
ตามที่รัฐบาลมีนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และออกมาตรการหลายประการเพื่อส่งเสริมให้มีการลงทุนในพื้นที่ไปพลางก่อน อีกด้านดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบให้สำนักงานกฤษฎีกา ไปจัดทำกฎหมายว่าด้วยเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษขึ้นมารองรับ เพื่อให้มีความคล่องตัวและต่อเนื่อง ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา(คณะพิเศษ)ได้จัดทำร่างพ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. … เสร็จแล้ว และส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความเห็น นั้น
ดร. วีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผย”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ล่าสุดทางกนอ.ได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้แล้ว และอยู่ระหว่างเสนอเรื่องกลับกระทรวงอุตสาหกรรม โดยไม่มีประเด็นเสนอแก้ไขเพิ่มเติมแต่อย่างใด ขั้นตอนต่อไปทางกระทรวงจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาเห็นชอบและเสนอให้สภานิติบัญญัติไปบรรจุเข้าวาระพิจารณาตามกระบวนการนิติบัญญัติ เพื่อให้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้ สาระสำคัญหลัก ๆ ของร่างพ.ร.บ.นี้ ได้กำหนดโครงสร้างให้มีคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ” เป็นกรรมการระดับชาติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีหน้าที่เสนอแนะคณะรัฐมนตรี ในการกำหนดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และการตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งแต่ละเขต อนุมัติแผนการดำเนินงาน เป็นต้น ส่วนในระดับพื้นที่จะมีคณะกรรมการบริหารในแต่ละเขต เป็นผู้กำกับนโยบายในแต่ละเขต และจะมีการจัดจ้างผู้ว่าการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เป็นซีอีโอ หรือหัวหน้าฝ่ายบริหารในแต่ละพื้นที่ ตามที่ประกาศจัดตั้งเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งคณะกรรมการแต่ละชุดจะมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นกรรมการ นอกจากนี้กฎหมายดังกล่าวยังให้อำนาจ จัดหาที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นที่ดินของเอกชน ที่ดินรัฐ รวมทั้งการวางผังแม่บทพัฒนาได้ทันที ตามที่กฎหมายให้อำนาจ
ด้านแหล่งข่าวจากกนอ. กล่าวเพิ่มเติมว่า หากร่างกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ จะแปลงสถานะของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ไปเป็นสำนักงานคณะกรรมการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เป็นนิติบุคคลที่เป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ทำหน้าที่สำนักงานของคณะกรรมการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ส่วนระดับพื้นที่เมื่อมีการประกาศให้เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จะมีผู้ว่าการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เป็นซีอีโอที่ได้จากการสรรหา และมีรองผู้ว่าการไม่เกิน 2 คน และมีผู้ว่าราชการจังหวัดร่วมเป็นคณะกรรมการบริหารในแต่ละเขต ซึ่งจะทำงานขับเคลื่อนในรูปของคณะกรรมการย่อยในพื้นที่ โดยมีอำนาจจัดหาที่ดิน ซึ่งจะมีอำนาจในตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อความคล่องตัว คล้ายกับการใช้มาตรา 44
อาทิ การจัดหาที่ดินที่เห็นว่าเหมาะสมมีศักยภาพ ต้องการพัฒนาตั้งเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของการเวนคืน สามารถใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์ในกรณีเลิกใช้แล้ว เช่น ถนนที่ไม่มีสภาพใช้งานได้ หากองค์กรส่วนท้องถิ่นไม่ใช้ประโยชน์แล้ว สำนักงานคณะกรรมการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ สามารถถอนสภาพได้ทันที โดยไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายเวนคืน กฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุ ประมวลกฎหมายที่ดิน เป็นต้น
รวมถึงอำนาจเพิกถอนสถานภาพที่ดินอื่น ๆ เช่น เขตป่า ที่รกร้างว่างเปล่า ที่ดินปฏิรูป หรือที่ดินของหน่วยงานราชการที่สงวนไว้ ก็สามารถเพิกถอนใช้ประโยชน์ได้ โดยไม่ต้องรอให้เป็นที่ราชพัสดุหรือใช้ที่ราชพัสดุ รวมถึงที่ธรณีสงฆ์ ก็สามารถเพิกถอนได้ แต่ทั้งนี้จะต้องได้รับการยินยอม จากคณะกรรมการเถรสมาคม รวมถึงอำนาจของการถมทะเล หากมีความจำเป็น ซึ่งที่ดินของรัฐที่ถอนสภาพแล้ว สามารถนำมาเช่าซื้อได้ตามปกติ นอกเหนือจากอำนาจซื้อที่ดิน-เช่าที่ดินเอกชนทั่วไป ที่สำคัญคณะกรรมการเขตดังกล่าวยังมีอำนาจพิจารณาออกใบอนุญาต ในการลงทุนตั้งกิจการในพื้นที่อีกด้วย
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า กฎหมายยังให้อำนาจ คณะกรรมการบริหารเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแต่ละเขต สามารจัดทำผังแม่บทให้แล้วเสร็จภายใน 6-1 ปี เพื่อใช้แทนผังเมืองรวมในแต่ละพื้นที่ ที่ประกาศควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดิน และเมื่อแผนแม่บทแล้วเสร็จ สามารถยกเลิกการบังคับใช้ผังเมืองรวมดังกล่าวได้ทันที เป็นต้น
ทั้งนี้ ร่างพ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. …ที่คณะกรรมการกฤษฎีกายกร่างขึ้นนั้น มีสำระสำคัญระบุว่า กำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้น เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการในการจัดตั้งและบริหารจัดการเขตพื้นที่ ที่กำหนดขึ้นเป็นการเฉพาะ เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และอำนวยความสะดวก รวมทั้งให้สิทธิประโยชน์บางประการภายในพื้นที่นั้นเพื่อประโยชน์ ในการดำเนินการต่าง ๆ อันได้แก่ การอุตสาหกรรม การพาณิชยกรรม การท่องเที่ยว การบริการ หรือการอื่นใดหรือหลายอย่าง ทั้งนี้ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่
ครม.จะเป็นผู้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษแต่ละแห่ง โดยมีคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทำหน้าที่เสนอแนะแนวทาง กำหนดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ การตราพระราชกฤษฎีกาตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ การออกระเบียบเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ ในการดำเนินการเรื่องต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการ และการดำเนินงานของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เช่น การร่วมทุนกับบุคคลอื่นในกิจการที่เขตเศรษฐกิจพิเศษต้องลงทุน และการกู้หรือให้กู้ยืมเงินของเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น รวมทั้งกำกับดูแลการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษแต่ละพื้นที่
สำหรับการได้มาซึ่งที่ดินและการใช้ประโยชน์ที่ดินของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ กรณีที่ดินเอกชน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ในกรณีตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจะทำได้โดยวิธีการจัดซื้อ การเช่าซื้อ การเช่า การและเปลี่ยนหรือเวนคืน ทั้งนี้ในกรณีเวนคืนจะเป็นลักษณะไม่สามารถเจรจาเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินโดยวิธีซื้อหรือเช่าได้ ก็สามารถใช้อำนาจเวนคืนได้ และสามารถนำที่ดินดังกล่าวปล่อยเช่าต่อ ระยะยาว 50 ปี ตาม พ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2542 มาบังคับใช้ในกรณีการเช่าที่ดินในเขตเศรษฐกิจพิเศษ
กรณีที่ต้องถมทะเล เพื่อพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ก็สามารถดำเนินการถมทะเลได้ ตามกฎหมายว่าด้วยการถมทะเล แต่ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายดังกล่าว เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด กล่าวคือ ต้องดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยให้ยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายการเดินเรือในน่านน้ำไทย แต่จะต้องร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เมื่อถมทะเลแล้วทรัพย์สินดังกล่าวจะตกเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมีอำนาจใช้และดูแลรักษาเป็นการเฉพาะ
สำหรับที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ดินสาธารณประโยชน์ของแผ่นดิน ที่พลเมืองเลิกใช้ประโยชน์แล้ว หรือเปลี่ยนสภาพที่พลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ชำระค่าธรรมเนียมให้กับกระทรวงการคลัง ให้ตราพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ.) จัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ มีผลในการถอนสภาพการเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน และให้ตกเป็นของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยไม่ต้องดำเนินการถอนสภาพหรือโอนตามประมวลกฎหมายที่ดิน แต่อย่างใด
ในกรณีที่ดินสาธารณประโยชน์ยังมีพลเมืองใช้ร่วมกัน เมื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่ในเขตให้ความเห็นชอบ แต่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมีความประสงค์จะใช้ที่ดินแปลงนั้น และจัดหาที่ดินมาแลกเปลี่ยนเพื่อให้พลเมืองใช้ร่วมกัน ก็ให้ตกเป็นของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยไม่ต้องถอนสภาพและโอนตามประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีที่ดินรกร้างว่างเปล่า หรือที่ดินที่มีผู้เวนคืนทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ ให้ตกเป็นของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษโดยไม่ต้องถอนสภาพและโอนตามประมวลกฎหมายที่ดิน ที่ดินเขตป่าไม้ถาวร เขตป่าสงวน ที่ดินเขตปฏิรูป ให้ผู้ว่าการเขตฯ มีอำนาจนำที่ดินนั้นมาใช้เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยให้มีผลเป็นการเพิกถอนป่าสวนหรือที่ดินรัฐดังกล่าว โดยไม่ต้องดำเนินการเพิกถอนตามกฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ เป็นต้น
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,109 วันที่ 29 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม พ.ศ. 2558
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 2 ธ.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.