ปี 2559 ที่กำลังจะมาถึงนี้ จะเป็นปีที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (แบงก์รัฐ) ทั้ง 8 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จะต้องเข้าสู่ "การกำกับดูแลและตรวจสอบ" โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ภายใต้มาตรฐานการกำกับดูแลใหม่อย่างเต็มตัว
ใน มุมของหน่วยงานกำหนดนโยบาย (Policy Maker) อย่างกระทรวงการคลัง จึงแบ่งบทบาทกับ ธปท. ในฝ่ายกำกับ (Regulator) ไว้อย่างชัดเจน คือ ให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) มีอำนาจหน้าที่ "กำกับแนวนโยบาย" และ "ให้ความเห็นชอบแผนธุรกิจ" โดยเสนอความเห็น รมว.คลังพิจารณา รวมถึงให้ความเห็นกรณีการแก้ไขฐานะของแบงก์รัฐ
ส่วน ธปท.มีอำนาจหน้าที่ ออกเกณฑ์กำกับดูแล, ตรวจสอบผู้บริหาร, ติดตามและตรวจสอบการดำเนินงาน และสั่งการให้แก้ไขปัญหา
"สมชัย สัจจพงษ์" ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การประชุมมอบนโยบายและกำหนดทิศทาง ทำงานในระยะข้างหน้าแก่ 8 แบงก์รัฐ ที่มี "อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์" รมว.คลังเป็นประธานที่ประชุม ได้มอบหมายให้ สศค.ประสานแบงก์รัฐทุกแห่งในเรื่องการแก้ไขกฎหมายที่จำเป็น เพื่อปลดล็อกอุปสรรคและเพิ่มบทบาทให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงนโยบายให้แบงก์รัฐแยกบัญชี ผลการดำเนินงานเป็น 3 ส่วน ได้แก่ บัญชีในภาพรวม บัญชีโครงการตามนโยบายรัฐ (PSA) และบัญชีผลการดำเนินงานปกติ เพื่อลดความซ้ำซ้อนในทางบัญชี
ขณะที่แหล่งข่าวจากแบงก์รัฐ ระบุว่า รมว.คลังต้องการให้แบงก์รัฐแต่ละแห่งโฟกัสที่พันธกิจ ขณะที่ภาพรวมการดำเนินงานของแบงก์รัฐที่ผ่านมา ถือว่าไม่มีปัญหา ระดับเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ยังสูง ระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ในระดับที่ดูแลได้ และมีกันสำรองสูงกว่าเกณฑ์ ดังนั้นจึงไม่น่าเป็นห่วง
"รม ว.คลัง เน้นเรื่องที่แบงก์รัฐต้องโฟกัส และบทบาทใหม่ ๆ ที่ต้องทำเพิ่มเติม เพื่อเติมช่องว่างทางการเงิน และหลังจากนี้ทุกแห่งจะต้องกลับไปทำแผนมาเสนอให้ สศค.พิจารณา" แหล่งข่าวกล่าว
ตัวอย่างนโยบาย "เติมช่องว่างทางการเงิน" อาทิ ธนาคารออมสินต้องมีบทบาทแก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้มากขึ้น เพราะปัจจุบันยังมีถึง 1.3 ล้านครัวเรือน เข้าไม่ถึงบริการทางการเงินในระบบ ขณะที่ ธอส.ต้องดูแลประชาชนกว่า 2.6 ล้านครัวเรือนที่ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อที่อยู่อาศัย
ด้านแบงก์รัฐ 2 แห่งที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการตามมติคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด ได้แก่ เอสเอ็มอีแบงก์ และไอแบงก์มุ่งเน้นให้ดำเนินการให้ได้ตามแผนฟื้นฟู โดยกรณีเอสเอ็มอีแบงก์จะต้องคิดบริการทางการเงินให้สอดรับกับนโยบายรัฐบาลพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และหาทางให้เอสเอ็มอีอีกราว 1.5 ล้านรายเข้าถึงแหล่งเงินทุน ขณะที่ไอแบงก์ต้องเร่งขยายฐานลูกค้ามุสลิม ทั้งด้านเงินฝากและสินเชื่อ รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้เหมาะสมสอดคล้องหลักชะริอะฮ์ โดยคำนึงถึงผู้นับถือศาสนาอิสลามอีกกว่า 3 ล้านครัวเรือน ที่ยังไม่ได้ฝากเงินกับไอแบงก์
ส่วน บสย.กับ บตท. ต้องแก้ไขกฎหมายเพื่อขยายบทบาทการดำเนินงาน โดย บตท.จะเพิ่มบทบาทการค้ำประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัย (Mortgage Insurance) สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage) การเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) รวมถึงการระดมทุนโดยการออกตราสาร MBS (Mortgage-Backed Securities) ให้มากขึ้น ขณะที่ บสย.จะต้องแก้ไขกฎหมายเพื่อขยายการค้ำประกันให้ครอบคลุมน็อนแบงก์ และค้ำประกันเอสเอ็มอีรายย่อย ๆ ให้มากขึ้นด้วย
"ปัจจุบันร่างแก้ไขกฎหมายของ บตท.และ บสย. อยู่ที่ สศค.แล้ว และรอประสานงานเพื่อเตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป ก่อนจะเสนอไปที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)" แหล่งข่าวกล่าว
สิ่งสำคัญที่ขุนคลัง "อภิศักดิ์" ย้ำหนักแน่นกับ 8 แบงก์รัฐ คือ การดำเนินงานตามพันธกิจ โดยไม่มุ่งเน้นทำกำไรสูงสุด ไม่แข่งกับธนาคารพาณิชย์ และต้องเข้าเติมเต็มช่องว่างทางการเงินให้ประชาชนได้เข้าถึงพึ่งแบงก์รัฐได้
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 1 ธ.ค. 2558