ธอส.จับมือกคช.-เอกชน ศึกษารูปแบบโครงการบ้านคนจนในเขตศก.พิเศษ คาดรูปแบบชัดเจนปีหน้า ด้านกนอ.เร่งดันร่างพ.ร.บ.เขตศก.พิเศษเข้าครม. ศูนย์ข้อมูลฯเผยอีก 3 ปีที่อยู่อาศัยเขตศก.พิเศษจะคึกคัก
(24 พ.ย.58) นายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล ประธานกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยในงานสัมมนา "อสังหาริมทรัพย์เขตเศรษฐกิจพิเศษ" จัดโดยศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ที่โรงแรมพูลแมน กรุงเทพฯ แกรนด์ สุขุมวิท ว่า ธอส.ร่วมกับการเคหะแห่งชาติ (กคช.) และกลุ่มสมาคมผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ อยู่ระหว่างศึกษาการพัฒนาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยใน เขตเศรษฐกิจพิเศษ เฟสแรก 6 จังหวัด ได้แก่ ตาก มุกดาหาร ตราด สงขลา สระแก้ว และหนองคาย คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปี 2559 ว่ารูปแบบโครงการจะเป็นอย่างไร จะพัฒนาในพื้นที่ใดหรือมีโครงการอะไรบ้าง โดย ธอส.จะเข้าไปให้การสนับสนุนด้านสินเชื่อ ทั้งสินเชื่อโครงการและสินเชื่อรายย่อย
นายสุรชัยกล่าวว่า สำหรับโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยแก่ผู้มีรายได้น้อยและปานกลางตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท มีผู้ที่สนใจเข้ามาขอสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีผู้ยื่นขอสินเชื่อแล้ว 1.6 หมื่นล้านบาท เกินวงเงินที่กำหนดไว้แล้ว ธอส.จึงจะขยายวงเงินเพิ่มอีก 1 หมื่นล้านบาท รวมเป็น 2 หมื่นล้านบาท ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาสินเชื่อ คาดว่าสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้จะอนุมัติสินเชื่อได้ราว 5 พันล้านบาท และจะอนุมัติครบ 1 หมื่นล้านบาทแรกในช่วงต้นปี 2559 ที่เหลือจะทยอยอนุมัติจนถึงระยะเวลาสิ้นสุดโครงการ
นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษ อยู่ระหว่างการพัฒนาสาธารณูปโภคต่าง ๆ ทั้ง นิคมอุตสาหกรรม ถนน ประปา ไฟฟ้า เป็นต้น โดยพื้นที่แรกที่มีความพร้อมมากที่สุด คือ เขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตาก ซึ่งจะเป็นพื้นที่นำร่องก่อนพัฒนาในเขตต่อๆ ไป การพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษจะเริ่มคึกคักและเติบโตมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีต่อจากนี้ โดยขณะนี้ความต้องการที่อยู่อาศัยจะมีเฉพาะคนในท้องถิ่นเท่านั้น โดยในอนาคตหลังเกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้วความต้องการที่อยู่อาศัยของกลุ่มแรงงานจะตามมา โดยจะอยู่ในรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตรของพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ส่วนผู้บริหารระดับสูง จะอยู่อาศัยในเมืองหรือเขตเทศบาลที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากกว่า นอกจากโครงการที่อยู่อาศัยแล้วจะมีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ ตามมา เช่น ห้างสรรพสินค้า คลังสินค้า อาคารพาณิชย์ และกลุ่มที่จะมีการเติบโตมากคือ กลุ่มโรงแรมราคาประหยัดหรือบัดเจดโฮเทลที่ราคาไม่สูงมากนัก
นายอัฐพล จิรวัฒน์จรรยา ผู้เชี่ยวชาญ ระดับ 12 การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) กล่าวว่า ขณะนี้ ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) เศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. ... เรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างนำเสนอกระทรวงอุตสาหกรรม และเตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณา ก่อนให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจาณาและเสนอต่อไปยัง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) พิจารณาเพื่อประกาศบังคับใช้กฎหมาย คาดว่ากระบวนการจะแล้วเสร็จในช่วงต้นปี 2559 โดยกฎหมายนี้จะมาทดแทนพ.ร.บ.กนอ. รายละเอียดของกฎหมาย อาทิ จะมีหน่วยงานบริหารที่เป็นอิสระคล่องตัว เป็นแบบวันสต็อปเซอร์วิส มีการจัดตั้งผู้ว่าแต่ละ เขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นมาบริหาร มีการกำหนดทุนประเดิมการจัดตั้ง กำหนดเขตพื้นที่ดิน และสิทธิประโยชน์ ซึ่งแต่ละเขตอาจจะได้ไม่เท่ากัน เป็นต้น
นายอัฐพลกล่าวว่า ทั้งนี้ กนอ. ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เข้าไปลงทุนพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษ 3 แห่ง ได้แก่ เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด จ.ตาก ซึ่งถือเป็นประตูการค้าหลักเชื่อมกับพม่า เน้นอุตสาหกรรมการขนส่งและอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบจากพม่า หรือการผลิตสินค้าเพื่อขายในพม่าและ อินเดีย บังกลาเทศ เป็นต้น เขตเศรษฐกิจพิเศษสะเดา จ.สงขลา และเขตเศรษฐกิจพิเศษอรัญประเทศ จ.สระแก้ว ด้านเขตเศรษฐกิจพิเศษตราด และมุกดาหาร จะให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนพัฒนานิคมฯ ส่วนหนองคาย กนอ.มีนิคมฯที่ร่วมดำเนินการกับเอกชนอยู่แล้ว
นายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานคณะกรรมการภาษีของสภาหอการค้าไทย และกรรมการสภาหอการค้าไทยกล่าวว่า จำเป็นต้องมีการเขียนกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษโดยเฉพาะ เพราะปัจจุบันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเขตเศรษฐกิจพิเศษหลายกฎหมาย อยู่ภายใต้แต่ละหน่วยราชการ ที่ผ่านมาราชการทำงานไม่ประสานงานกัน ดังนั้นถ้าอยากจะให้เขตเศรษฐกิจพิเศษเกิดขึ้นจริงจะต้องมีการเขียนกฎหมายและมีคณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษเข้ามาบริหารและขับเคลื่อนขึ้นให้ชัดเจน
ที่มา : มติชน วันที่ 25 พ.ย. 2558