ชาวบ้านเตรียมฟ้องศาลให้กรมอุทยานฯ ยุติการใช้แบบจำลองโลกร้อน
สมาคมนักข่าวฯ 23 พ.ค. - เครือข่ายชาวบ้าน ขอกรมอุทยานฯ ทบทวนแบบจำลองโลกร้อน ซึ่งนำมาใช้ฟ้องคดีแพ่งเรียกร้องค่าเสียหายกับชาวบ้านรุกพื้นที่ป่า เพราะคำนวณค่าความเสียหายขาดความน่าเชื่อถือ และชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรม พร้อมกับมอบอำนาจให้ทนายความจากสภาทนายความ เป็นตัวแทนฟ้องศาลปกครองกลางให้ยุติการทำแบบจำลองดังกล่าว
ในการเสวนาวิชาการเรื่อง “แบบจำลองความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมจากคดีโลกร้อน” ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย รศ.ดร.ชยันต์ ตันติวัสดาการ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งใน 16 นักวิชาการที่ร่วมประเมินแบบจำลองของกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า แนวคิดในแบบจำลองที่เลือกประเมินค่าความเสียหายที่ใช้ไม่เหมาะสมและไม่ถูกต้องทางวิชาการ เช่น การเลือกฐานการประเมินที่ก่อให้มูลค่าความเสียหายเกินจริง รวมทั้งนำเอาประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาเชื่อมโยงกับการคิดมูลค่าความเสียหายจากการทำลายป่าต้นน้ำ ซึ่งยังไม่มีข้อบ่งชี้ทางงานวิจัยที่เกิดขึ้น และจุดนี้ก็จะทำให้ต้นทุนการคิดค่าเสียหายมีแนวโน้มสูงเกินไป
ด้าน น.ส.พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน กล่าวว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ใช้แบบจำลองเพื่อประเมินมูลค่าป่าต้นน้ำและระบบนิเวศป่าไม้ เพื่อร้องเรียกค่าเสียหายกับชาวบ้านที่บุกรุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์รวม 38 คดี มูลค่าความเสียหายกว่า 32.8 ล้านบาท โดยเฉพาะในเขตพื้นที่เทือกเขาบรรทัด อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ซึ่งชาวบ้านบางรายก็ไม่มีเงินจ่าย และบางรายต้องรับภาระหนี้ที่ไม่ได้มีอยู่จริง เพราะการคำนวณค่าเสียหายมีมูลค่าสูง ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
ตัวแทนกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน กล่าวว่า วิชาการอิสระ 16 ราย จากสาขาวิทยาศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ ได้ประเมินแบบจำลองคดีโลกร้อน เพื่อตรวจสอบความถูกต้องทางวิชาการ พบว่า 99.9% ของแบบจำลองไม่มีความเหมาะสม ไม่ถูกต้องในทางวิชาการ และไม่ควรนำมาใช้เป็นฐานในการฟ้องแพ่งกับชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านที่ถูกฟ้องร้องทั้ง 38 ราย และตัวแทนมูลนิธิต่างๆ รวม 41 คดี จะแต่งตั้งทนายความยื่นฟ้องศาลปกครองกลางให้ยุติการนำแบบจำลองมาใช้ฟ้องร้องในคดี ในวันที่ 28 พฤษภาคมนี้.
ข่าวโดย สำนักข่าวไทย