กรมอุทยานฯเตรียมของบฯครม.สัญจรเมืองกาญจน์ 50 ล้าน แก้สวนยางรุกป่า
ชี้สวนยางรุกป่าอนุรักษ์ 7 แสนไร่ อุทยานฯของบ 50 ล้านบาท ลุยป่าภาคใต้ วอนชาวบ้านอย่ากดดัน ใช้มาตรฐานเดียวกันหมดทั้งนายทุนและชาวบ้าน ด้านปลัดทส. มาแปลก เตรียมเสนอแก้ไขปัญหาคนจน 1 ล้านไร้ทีดินทำกิน เสนอให้สิทธิ์ทำกินในป่าเสื่อมโทรม
นายเริงชัย ประยูรเวช รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรวันที่ 19-20 พ.ค.นี้ที่ จ.กาญจนบุรี ทางกรมอุท ยานฯ ได้เตรียมเสนอโครงการปราบปรามการบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เพื่อปลูกไม้ยางพารา โดยจะขอตั้งชุดปฏิบัติและศูนย์ปฏิบัติงานในพื้นที่ที่มีปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อปลูกยางพารา วงเงิน 50 ล้านบาท โดยจะมีการสนธิกำลังเป็นชุดปฏิบัติงาน จำนวน 750 คนจากหน่วยงานทางภาคเหนือ และภาคอีสาน มาช่วยจัดการพื้นที่ปลูกยางผิดกฎหมายในเขตพื้นที่ภาคใต้ 13 จังหวัด ไล่ตั้งแต่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรมราช สงขลา และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมด โดยมีระยะเวลาในการปฏิบัติงาน 5 เดือน ทั้งนี้จะเน้นสวนยางที่ถูกดำเนินคดีถึงที่สุดแล้ว รวมทั้งป่าที่ถูกบุกใหม่ในเขตอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทางใต้
ใช้บันทัดฐานเดียวแก้สวนยางรุกป่า
“ขณะนี้ปัญหาบุกรุกปลูกยางใเขตป่าอนุรักษ์รุนแรงเพิ่มขึ้น โดยพบว่าเบื้องหลังไม่ใช่ชาวบ้าน แต่มีนายทุน จ้างวานชาวบ้านเข้าไปบุกรุก ซึ่งจากการรวจสอบภาพถ่ายทางอากาศพบมีสวนยางพาราในป่าอนุรักษ์ราว 700,000 ไร่ ดังนั้นถ้าปล่อยไว้ก็คงไม่ไหว กรมอุทยานฯ จึงต้องตั้งชุดเฉพาะกิจลงมาปราบปราบอย่างเร่งด่วน โดยยืนยันว่ากรมอุท ยานจะบังคับใช้กฎหมายให้เป็นบันทัดฐานเดียวกันทั่วประเทศ นอกจากกรณีรีสอร์ทที่วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ที่เคยใช้หลักการเดียวกันมาแล้ว อย่างไรก็ตาม สำหรับพื้นที่ของชาวบ้านถ้าไม่ถูกต้อง ผิดกฎหมายก็ต้องดำเนินการด้วย ”
เมื่อถามว่าปฏิบัติงานจะต้องแจ้งเจ้าของพื้นที่ที่บุกรุกก่อนหรือไม่ นายเริงชัย กล่าวว่า ส่วนมากถ้าเป็นพื้นที่ที่บุกรุก เจ้าของมักจะไม่แสดงตัว และกรมอุทยานฯก็ไม่รู้จะบอกใคร ถ้าบอกและมีคนแสดงตัวก็เท่ากับเป็นผู้ต้องหา เพราะ ซึ่งยอมรับว่าที่ผ่านมาหลายๆกรณีที่เจ้าหน้าที่เข้าไปรื้อพืชผลอาสิน ก็ถูกมวลชนแสดงพลังมากดดันการทำงาน ทั้งที่ส่วนใหญ่ก็รู้ดีว่าเป็นพื้นที่อุทยาน เขตรักษาพันธุ์แต่ก็มาบุกรุก เพราะคิดว่าจะได้พื้นที่ไป
วอนอย่านำมวลชนกดดัน
“ ก่อนจะปฏิบัติงานทางชุดก็ต้องประชุมวางแผนการทำงานในพื้นที่ก่อน เช่น สงขลา มีพื้นที่กี่ไร่ จะใช้เวลากี่วัน ทำอะไร โดยมีเป้าหมาย 3 ข้อคือปราบปราม รื้อถอน และทำลายเส้นทางบุกรุก ซึ่งเป็นปฏิบัติการภายใต้มาตรการปกครองทุกอย่างตามขั้นตอน ดังนั้นจึงอยากอธิบายให้เข้าใจว่ากรมอุทยานฯไม่ได้เข้าไปรังแกใคร และอย่านำมวลชนมาต่อต้าน เราทำตามกฎหมาย ถ้าไม่ทำก็จะเกิดปัญหาน้ำท่วมดินถล่มอย่างต่อเนื่อง ประชาชนทางใต้ต้องระวัง เพราะไปปลูกในพื้นที่ลาดชัน จากเดิมที่รุกเขตป่าสงวนแห่งชาติ แต่พอพื้นที่เต็มหมดก็มาเข้าเขตป่าอนุรักษ์ ถ้าไม่เร่งจัดการก็จะบุกกันเรื่อยๆ” นายเริงชัย กล่าว
ปลัดทส.หนุน-ชี้คนจน 1 ล้านไร้ที่ดินทำกิน
ด้านนายโชติ ตราชู ปลัดทส.กล่าวว่า ถ้าได้รับงบประมาณสนับสนุนโครงการนี้ก็ถือว่าดี เพราะสวนยางรุกป่า เป็นปัญ หามานานแล้ว เจ้าหน้าที่ไล่จับแต่ไม่หมด โดยเฉพาะกลุ่มนายทุนทางภาคใต้ ที่เข้ามาทำสวนยางขนาดใหญ่พื้นที่เป็น 100-1,000 ไร่ ขึ้นไปถ้าจับได้แล้วต้องจัดการอย่างเด็ดขาด อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ามาตรการดำเนินการจับกุมไล่รื้ออย่างเดียวคงไม่สามารถแก้ต้นตอของปัญหาได้ เพราะต้นตอที่แท้จริงในเรื่องคนบุกรุกป่า เกิดจากการขาดที่ดินทำกิน ซึ่งจำได้ว่าในสมัยที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงปี 2547 เคยเปิดให้คนจนมาลงทะเบียน โดยพบว่ามีทั้งสิ้น 10 ล้านคน ในจำนวน 4 ล้านคน เป็นผู้ที่มีปัญหาที่ดินทำกิน ขณะที่ 1 ล้านคนในจำนวนนี้บอกว่าไม่มีที่ดินทำกิน ไม่มีอาชีพ ดังนั้นถ้าจะแก้เรื่องคนรุกป่าได้ก็ต้องนำเอาคนเหล่านี้มาแก้ปัญหาให้กับเขา
“เราต้องแยกคนรวยกับคนจนออกให้ได้ก่อน โดยเฉพาะคนจนที่ไม่มีที่ดินทำกิน ต้องมาคิดว่าจะแก้อย่างไร ความเห็นผมว่าต้องดูแลคนจน ไม่ให้เขาเป็นเครื่องมือคนรวย และต้องแก้ตรงนี้ให้ได้ แยกคนรวยกันคนจนโดยเฉพาะที่อยู่ระหว่างการพิสูจนิ์ทธิ์ตามมติ 30 มิ.ย.2541 ซึ่งกำลังเสนอโรดแมพ เพื่อแก้ปัญหาคนจนไม่มีที่ดินทำกิน โดยเบื้องต้นมีแนว คิดว่าจะเอาที่ดินที่ถูกบุกรุก และที่ดินของคนรวยที่บุกรุก มาจัดสรรให้คนจนในลักษณะของการให้สิทธิ์ทำกิน แต่ไม่ให้เป็นเจ้าของพื้นที่ โดยเฉพาะคนที่อยู่ภายใต้มติครม. 30 มิ.ย.2541 ซึ่งรัฐต้องดูแลเขา เพื่อไม่ให้ลุยบุกรุกป่าแบบไร้การควบคุมเหมือนตอนนี้ โดยเบื้องต้นเสนอแนวคิดให้กับนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีทส.ไปแล้ว และนายปรีชา บอกให้เขียนโรดแมพให้ชดเจน ดูแนวปฏิบัติอย่างไร ไม่ให้ลักลั่นทางกฎหมาย และไม่ให้ถูกฟ้องว่าจะเลือกปฎิบัติ มีกฎหมายรองรับอะไรหรือไม่” นายโชติ กล่าว
เอ็นจีโอ ชี้ทำงานต้องโปร่งใส
ด้านนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวว่า เห็นด้วยกับนโยบายการแก้ปัญหาสวนยางรุกป่า แต่กรมอุทยานฯต้องดำเนินการกับพื้นที่ที่คดีถึงที่สุดแล้ว ทั้งนี้ถ้าเป็นไปได้ก่อนจะเข้ารื้อถอนตรงจุดไหน ก็ควรต้องชัดเจนว่าพื้นที่ไหน เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และลดความขัดแย้ง เนื่องจากที่ผ่านมาเกิดคำถามจากชาวบ้านที่โดนเจ้าหน้าที่เข้าไปไล่รื้อถอนว่าทำไมกรมอุทยานฯ ถึงไล่รื้อสวนยางเฉพาะของชาวบ้าน ส่วนของนายทุนยังไม่ค่อยเห็นไปจัดการ ดังนั้นจึงต้องเคีลยร์เรื่องนี้เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และตรวจสอบได้
ข่าวไทยพีบีเอส วันที่ 18 พ.ค. 55
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.