รัฐบาล“บิ๊กตู่”เดินหน้าสุดแรงแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ หลังหลายฝ่ายวิตกเป็นความเสี่ยงต่อศก.ไทยปีหน้า ดันมาตรการผ่านธ.ก.ส.-มหาดไทย-ออมสิน แก้หนี้ “กลุ่มเกษตรกร-ครู-ปชช.” อึ้งลูกหนี้ บางส่วนไร้ทางเยียวยาหนี้สินล้นพ้นตัว ธ.ก.ส. เตรียมส่งกว่าหมื่นรายชื่อให้คลังช่วย ขณะที่ บ.ติดตามหนี้เปิดข้อมูลของจริงเงินเดือนหลักแสนต้องวิ่งพึ่งเงินกู้นอกระบบ แฉรับงานตามหนี้บัตรเครดิตกลุ่มเงินเดือนเกิน 5 หมื่นอัพพุ่ง ด้านออมสินแจงคืบหน้าปรับโครงสร้างหนี้ครูเสร็จสิ้นปีนี้
ต่อสถานการณ์ “หนี้ครัวเรือน” ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนสูงถึง 85% ของจีดีพี และเป็นที่วิตกกังวลของหลายฝ่ายว่าปัญหาหนี้ครัวเรือน เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยปี 2559 โดยนอกจากผลกระทบในแง่การบริโภคและกำลังซื้อของประชาชนแล้ว ในขณะเดียวกัน “ปัญหาหนี้นอกระบบ” ที่เป็นส่วนหนึ่งในหนี้ครัวเรือน กำลังบั่นทอนการเติบโตของเศรษฐกิจ และถูกยกเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขผ่านกลไกต่างๆ (ดูจากตารางประกอบ) รวมไปถึงการแก้หนี้ของข้าราชการกลุ่มใหญ่ อาทิ ข้าราชการครู และตำรวจ
ออมสินปรับโครงสร้างหนี้ครู
ต่อกรณีความคืบหน้า การแก้ปัญหาหนี้ครูที่ถือเป็นหนี้กลุ่มใหญ่ และก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลังแสดงความเห็นห่วงสถานะของธนาคารออมสินที่ปล่อยกู้ให้แก่ลูกหนี้ครูจำนวนมากและมีปัญหาหนี้เสีย หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) นั้น
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือข้าราชการครูที่เป็นลูกหนี้ของออมสินว่า ขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างทยอยทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้ที่เป็นข้าราชการครูที่ได้ลงทะเบียน (เมื่อ 31 ต.ค. 58) คาดว่าจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2558 สำหรับลูกค้าที่เข้ามาลงทะเบียนกับธนาคารออมสินมีจำนวน 4 .5 หมื่นราย วงเงินสินเชื่อ 7.5 หมื่นล้านบาท เป็นทั้งลูกค้าดีและหนี้เอ็นพีแอล แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 และกลุ่ม 2 มูลหนี้รวมกันประมาณ 2 พันล้านบาท โดยกลุ่ม1 เป็นลูกหนี้ถูกฟ้องดำเนินคดีทั้งในส่วนของธนาคารออมสินและบุคคล ภายนอก กลุ่ม 2 เป็นเอ็นพีแอลที่ค้างชำระ 3-12 เดือน มูลหนี้ของกลุ่มนี้ประมาณ 1.3 พันล้านบาท จำนวนลูกหนี้กว่า 2 พันราย เฉลี่ยมูลหนี้ต่อราย 5-6 แสนบาท สำหรับกลุ่ม 3 และกลุ่ม 4 เป็นลูกค้าที่มีสถานะปกติประมาณกว่า 4 หมื่นล้านบาท มีจำนวน 2.9 หมื่นราย โดยกลุ่ม 3 ค้างชำระไม่เกิน 3 เดือนและกลุ่ม 4 สถานะปกติไม่มียอดค้างชำระโดยเข้าร่วมโครงการเพื่อลดหย่อนภาระซึ่งธนาคารปรับโครงสร้างหนี้ให้ผ่อนชำระดอกเบี้ยเป็นเวลา 2 ปีปลอดเงินต้น
“จริงๆ เดิมทีกลุ่มข้าราชการครูมีมูลหนี้ กับธนาคารออมสิน 4.9 แสนล้านบาท แต่ยอดผ่อนชำระลดลงแต่ละปี 3-4 หมื่นล้านบาท ซึ่งปัจจุบันคงเหลือ 4.7 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีลูกหนี้ในส่วนของกลุ่มข้าราชการตำรวจที่ให้ความร่วมมือกับธนาคารเป็นอย่างดีโดยทำข้อตกลงพิเศษจนปัจจุบันเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว” นายชาติชายกล่าว
แก้หนี้ตร.เหลือ 7.46 หมื่นราย
ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ยังได้กล่าวถึงการแก้หนี้ในกลุ่มของลูกหนี้ที่เป็นข้าราชการตำรวจว่า ได้ประสานกับหน่วยงานต้นสังกัดซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยทำข้อตกลงพิเศษและปัจจุบันสามารถเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว คือ หนี้กลุ่มข้าราชการตำรวจซึ่งเป็นเอ็นพีแอลได้ ปรับโครงสร้างหนี้และปรับเงื่อนไขในการผ่อนชำระ โดยมีมูลหนี้คงเหลือกว่า 5.1หมื่นล้านบาท จำนวน 7.46 หมื่นราย ทั้งนี้ ที่ผ่านมากลุ่มนี้ถูกฟ้องคดีล้มละลายโดยธนาคารออมสินกว่า 100 ราย มูลหนี้รวม 220 ล้านบาท และธนาคารออมสินได้ยื่นขอรับชำระหนี้ 89.16 ล้านบาท (เจ้าหนี้/สถาบันการเงินอื่นยื่นฟ้องล้มละลาย 300 ล้านบาท)
ก่อนหน้านี้ นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เบื้องต้นพบว่ามีครูที่กู้ยืมเงินจากธนาคารออมสิน 4.6 แสนคน วงเงินประมาณ 5 แสนล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นหนี้นอกระบบและหนี้ที่กู้ยืมจากสหกรณ์ออมทรัพย์ต่างๆ อีกประมาณ 7 แสนล้านบาท
ธ.ก.ส.ส่งหมื่นรายชื่อให้คลังช่วย
ลูกหนี้อีกกลุ่มหนึ่งที่รัฐบาลมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อเร่งแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ คือกลุ่มเกษตรกร ซึ่งก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลังมอบหมายผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ โดยเฉพาะธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรหรือธ.ก.ส.ให้ความช่วยเหลือผ่านโครงการปล่อยกู้อัตราดอกเบี้ย 12% ต่อปี วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท
จากข้อมูลที่ ธ.ก.ส. รายงานล่าสุดถึงความคืบหน้าโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่มีหนี้นอกระบบ โดยกำหนดวงเงินช่วยเหลือ 1หมื่นล้านบาท ให้แก่เกษตรกรที่มีมูลหนี้ไม่เกิน 1.5 แสนบาท คิดอัตราดอกเบี้ย 12% ต่อปี (ข้อมูลจนถึง 28 ก.ย. 58) หรือ เฟสแรก ธ. ก.ส. รับขึ้นทะเบียนหนี้นอกระบบ 105,421 ราย มูลหนี้ 11,074 ล้านบาท เจรจาไกล่เกลี่ยประนอมหนี้แล้วเสร็จ 105,421 ราย ผลการไกล่เกลี่ยสำเร็จ 66,923 ราย มูลหนี้ 7,068 ล้านบาท ผลการไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จ 38,498 ราย มูลหนี้ 4,006 ล้านบาท ในส่วนที่ผลการไกล่เกลี่ยสำเร็จ พิจารณาสินเชื่อเสร็จแล้ว 36,597 ราย ยอดเงิน 3,611 ล้านบาท ไม่สามารถจ่ายเงินกู้ได้ 30,326 ราย ยอดเงิน 3,457 ล้านบาท เนื่องจาก 1.รายได้ไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ 5,293 ราย 2.ไม่สามารถจัดหาหลักประกันได้ 6,135 ราย 3.ไม่ผ่านการอบรม 1,523 ราย และ 4.ถอนความประสงค์ในขั้นตอนพิจารณาสินเชื่อ 17,375 ราย
นายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยถึงความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เกษตรกรที่มีปัญหาหนี้นอกระบบว่า ในกลุ่มที่ถอนความประสงค์ในขั้นตอนพิจารณาสินเชื่อ ซึ่งมีจำนวนมากถึง 17,375 รายนั้น เป็นกลุ่มที่เข้าใจโครงการไม่ถูกต้อง เพราะคิดว่าโครงการดังกล่าวเป็นการปลดหนี้ให้ โดยไม่เสียอัตราดอกเบี้ย แต่เมื่อเข้าใจโครงการดีแล้ว จึงมีการถอนความประสงค์ในขั้นตอนพิจารณาสินเชื่อ และไปชำระหนี้นอกระบบกันเอง
ในส่วนที่เป็นเรื่องของหลักประกันไม่พอ หรือรายได้ไม่เพียงพอชำระหนี้ (รายได้ไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ 5,293 ราย และ ไม่สามารถจัดหากหลักประกันได้ 6,135 ราย) นั้น ลูกหนี้ในกลุ่มดังกล่าว ธ.ก.ส. จะรวบรวมรายชื่อ เพื่อส่งข้อมูลให้กระทรวงการคลังพิจารณาแนวทางช่วยเหลือต่อไป เนื่องจากถือเป็นกลุ่มที่ถือว่าเข้าไม่ถึงสินเชื่อจริงๆ แม้ว่าในหลักเกณฑ์การพิจารณาหลักประกัน ธ.ก.ส. จะผ่อนผันให้ใช้บุคคลค้ำประกันแทนหลักประกันได้ แต่ลูกหนี้ก็ยังไม่สามารถหาบุคคลมาค้ำประกันได้ ทั้งนี้คาดว่าลูกหนี้ในกลุ่มนี้เมื่อธ.ก.ส. ส่งให้กระทรวงการคลังหาแนวทางคาดว่าจะใช้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองช่วย ซึ่งถือเป็นการช่วยเหลือในระดับชุมชน
พบเงินเดือน1-2แสนกู้นอกระบบ
แนว ทางแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ เพื่อช่วยเหลือประชาชนทั่วไป เมื่อ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งมีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงยุติธรรม(ยธ.) เสนอต่อแนวทางดังกล่าว “ฐานเศรษฐกิจ” สำรวจความเห็นไปยังบริษัทติดตามหนี้มองว่าการใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียวอาจไม่ได้ช่วยในเรื่องของการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ
นายประชา ชัยสุวรรณ ประธานชมรมผู้ติดตามเร่งรัดหนี้สิน โดยวิธีที่เป็นธรรม เปิดเผยว่า ไม่คิดว่าการที่ ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว จะช่วยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบได้ เนื่องจากการกู้นอกระบบ เมื่อ 2 ฝ่ายยินยอมกัน ก็เขียนในสัญญาให้ถูกต้องได้ อาทิ กู้เงินจริง 1 หมื่นบาท แต่ในสัญญาระบุ 1.2 หมื่นบาท หรือ 1.5 หมื่นบาท เป็นต้น
“กฎหมายอย่างเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาให้ประชาชนได้ แม้ว่าจะมีการกำหนดบทลงโทษก็ตาม”
นายประชายังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า พบว่าในขณะนี้ ปัญหาหนี้นอกระบบ ไม่ได้เกิดกับเฉพาะผู้มีรายได้น้อยเท่านั้น แต่ผู้ที่มีเงินเดือนหลักแสนบาทต่อเดือนก็ประสบปัญหาจนถึงขั้นต้องพึ่งพาหนี้นอกระบบ ยกตัวอย่าง ลูกหนี้ที่บริษัทติดตามหนี้บางรายมีเงินเดือนต่อเดือนกว่า 1 แสนบาทแต่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ หลังจากที่สอบถามพบว่าลูกหนี้รายดังกล่าว มีหนี้บัตรเครดิตหลายใบ และต้องหันไปพึ่งการกู้หนี้นอกระบบ สุดท้ายแล้วหนี้สินที่ล้นพ้นตัวทำให้ไม่สามารถชำระคืนหนี้ได้ความเห็นดังกล่าวสอดรับกับสถานการณ์หนี้เสียในธุรกิจบัตรเครดิต ซึ่ง ธปท. เพิ่งรายงานเมื่อพบว่าหนี้เสียในธุรกิจบัตรเครดิต ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2558 ในกลุ่มของลูกหนี้บัตรเครดิตที่มีรายได้เกินกว่า 5 หมื่นบาท เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้น
หนี้เสียกลุ่มเงินเดือนเกิน 5 หมื่นพุ่ง
นายวิเชียร ชุบไธสง กรรมการผู้จัดการ สำนักงานกฎหมาย ซี.เอ.แอลกล่าวยอมรับว่า ในช่วง 2-3 เดือนมานี้เริ่มเห็นสัญญาณชัดเจนขึ้นว่ามีลูกหนี้ที่มีเงินเดือนสูงเริ่มมีปัญหาในการชำระหนี้ เห็นได้จากก่อนหน้านี้ลูกหนี้ที่บริษัทรับงานติดตามหนี้บัตรเครดิต พบว่าลูกหนี้กลุ่มที่มีเงินเดือน 5 หมื่นบาทขึ้นไปนั้น จากที่เคยรับงานติดตามหนี้เฉลี่ย 20 รายต่อเดือน แต่เดือนที่ผ่านมารับงานมาประมาณ 50-60 ราย และในกลุ่มดังกล่าวมีลูกหนี้ที่มีเงินเดือนหลัก 1-2 แสนบาทที่มีปัญหาจ่ายไม่ได้ จากปกติที่กลุ่มนี้จะจ่ายหนี้เพื่อรักษาสถานภาพ แต่ในระยะหลังเริ่มเห็นสัญญาณว่าจ่ายหนี้ไม่ได้เกิน 3 เดือน
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,106 วันที่ 19 – 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 20 พ.ย. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.