ในท่ามกลางความเสื่อมทางสังคมทั่วโลก ที่กรุงเทพจะมีการประชุม One Young World summit 2015 การประชุมนี้จะช่วยอะไรโลกได้บ้าง ?เราตอบไม่ได้ แต่อย่างน้อยที่สุด ก็น่าจะกระตุ้น ผลักดันให้เกิดพลังการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางฐานะเศรษฐกิจในหลายสังคมได้บ้างเรามองเหมือนการเทศน์มหาชาติ สอนผู้คนให้นักธุรกิจ(ทุนนิยม)รู้จักทำทานเสียบ้าง อย่าขูดรีดหากำไรเกินไป
One Young World เขาเน้นกิจกรรมสนับสนุนให้เกิด การประกอบกิจการเพื่อสังคมและการสร้างความยั่งยืน กิจการธุรกิจเพื่อสังคมเป็นหลักแนวคิดสำคัญของ One Young World สมาชิกตัวแทนเยาวชนทั่วโลกริเริ่มสร้างกิจการเพื่อสังคมแล้วทั้งสิ้นกว่า 400 กิจการ กิจการธุรกิจเพื่อสังคม มันมีด้วยหรือ ? มันเป็นไปได้หรือ ? คำตอบคือทำได้จริง ผู้นำที่ริเริ่มต่อสู้ฝ่าฟันสร้างธุรกิจเพื่อสังคมจนประสบความสำเร็จ ได้รับการเชิดชูเกียรติระดับรางวัลโนเบล ก็มีมาแล้ว คือ ศาสตราจารย์ Muhammad Yunus
ศาสตราจารย์ Muhammad Yunus นับเป็นบิดาแห่งการประกอบกิจการเพื่อสังคม ศ.ดร. มูฮัมหมัด ฮัมยูนุส ชาวบังกลาเทศนักเศรษฐศาสตร์ได้ก่อตั้งธนาคารเพื่อคนยากจนที่เรียกว่า กรามีน แบงก์ ธนาคารคนจนแห่งแรกของโลก ที่ปล่อยกู้ ไมโครเครดิต ให้กับคนจน ผู้ไร้การศึกษาโดยไม่เรียกหลักประกัน ไม่มีการจำนอง โดยเชื่อมั่นและศรัทธาในศักยภาพของคนจนในการพัฒนาตนเอง จากการคิดดีทำดี ทุ่มเทอุทิศชีวิตเพื่อสังคมมาโดยตลอด
มิติด้านการศึกษาของกรามีนอาจเป็นมิติที่ช่วยเหลือลูกหนี้ให้พ้นปลักแห่งความจนได้อย่างยั่งยืนที่สุด นอกเหนือจากให้การศึกษาลูกหนี้เกี่ยวกับทักษะในการบริหารเงินและวินัยในการใช้จ่าย กรามีนยังสนับสนุนให้ลูกหนี้รับเป้า หมายพื้นฐานต่างๆ ด้านสังคม การศึกษา และสุขภาพ มาเป็นเป้าหมายในชีวิตของตน เช่น ให้ลูกหลานทุกคนได้รับการศึกษา บ้านมีส้วมถูกสุขลักษณะ ไม่มีใครในครอบครัวต้องนอนบนพื้น มีเงินฝากธนาคารไม่ต่ำกว่า 5,000 ตากา (2,500 บาท) และมีแหล่งน้ำดื่มที่สะอาด เป้าหมายเหล่านี้ยังเป็น ดัชนีความจน ที่ยูนุสใช้ในการประเมินผลว่า ในแต่ละปีมีลูกหนี้ของกรามีนกี่ครัวเรือนที่หลุดพ้นจากความยากจนได้ (ภายใต้นิยามดังกล่าว ปัจจุบันลูกหนี้กว่าร้อยละ 58 ของกรามีนได้หลุดพ้นจากความยากจนแล้ว) การเป็นลูกหนี้ของกรามีนจึงมีความหมายมากกว่าการกู้เงินธรรมดา หากเป็นการ เข้าถึง ช่องทางและกระบวนการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนจน ให้เขาหลุดออกจากวัฏจักร โง่-จน-เจ็บ ได้อย่างถาวร
การวิเคราะห์ (ของนักเศรษฐศาสตร์) เกี่ยวกับสาเหตุของความยากจนนั้น เน้นหนักที่การหาคำตอบว่าเหตุใดบางประเทศจึงยากจน แทนที่จะหาคำตอบว่าเหตุใดประชากรบางกลุ่มจึงมีชีวิตอยู่ใต้เส้นความยากจน นักเศรษฐศาสตร์ที่มีจิตสำนึกทางสังคมมักพูดถึง สิทธิ ต่าง ๆ ของคนจน แต่สิ่งที่ผมยังไม่รู้เกี่ยวกับความหิวโหย แต่ได้เรียนรู้ตลอด 22 ปีให้หลัง คือข้อเท็จจริงที่ว่า นักเศรษฐศาสตร์ผู้ฉลาดปราดเปรื่องด้านทฤษฎีทั้งหลาย มองไม่เห็นความสำคัญของการอภิปรายเรื่องความยากจนและความหิวโหย เพราะพวกเขาเชื่อว่าปัญหานี้จะหมดไปเองเมื่อเศรษฐกิจทั้งระบบเจริญขึ้น นักเศรษฐศาสตร์เหล่านี้หมดพลังสมองไปกับการแจกแจงกระบวนการพัฒนาและความเจริญทางเศรษฐกิจ แต่ไม่สนใจศึกษาสาเหตุและการดำรงอยู่ของความยากไร้และความหิวโหย ผลที่เกิดขึ้นจากความละเลยนี้คือ ความยากจนก็ดำรงอยู่ต่อไป
ศ.มูฮัมหมัด ยูนุส เข้าร่วมการประชุม One Young World ทุกครั้ง และเราก็หวังว่า สังคมไทยจะตระหนักถึงความสำคัญของ ธุรกิจเพื่อสังคมมากขึ้น
ที่มา : สยามรัฐ วันที่ 16 พ.ย. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.