ไทยเสียแชมป์ผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลกให้อินเดีย หลังเร่งระบายสต๊อก 30 ล้านตัน กดราคาขายถูกสู่ตลาดโลก แย่งแชร์ข้าวไทยในอินโดนีเซีย-จีน ส่วนการส่งออกปีหน้าต้องดู "ภัยแล้ง" ทำให้ซัพพลายลด ตั้งความหวังจะดันราคาข้าวในตลาดโลกให้สูงขึ้น
ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ให้ความเห็นกรณีกระทรวงเกษตรสหรัฐ (USDA) รายงานการส่งออกข้าวอินเดียในปีนี้จะมีปริมาณถึง 11.5 ล้านตัน หรือสูงกว่าการส่งออกข้าวไทยที่มีปริมาณ 9 ล้านตัน ทำให้อินเดียกลายเป็นแชมป์ส่งออกข้าวว่า เป็นผลมาจากอินเดียเร่งระบายข้าวสต๊อกในประเทศ ซึ่งสูงมากถึง 30 ล้านตัน ทำให้ข้าวอินเดียราคาถูกกว่าไทย และส่งออกมาตีตลาดอินโดนีเซียและจีน ตลาดส่งออกสำคัญของไทย
แนวโน้มการส่งออกข้าวปี 2559 ทั้งไทยและอินเดียจะมีปริมาณการส่งออกข้าวใกล้เคียงกันคือ 9.5 ล้านตัน โดยเวียดนามน่าจะส่งออกได้ 7 ล้านตัน จากปีนี้ส่งออกได้ 6.2 ล้านตัน ส่วนปากีสถานส่งออกได้ 4.5 ล้านตัน จากปีนี้ 4 ล้านตัน "ภาวะภัยแล้งหลายประเทศทำให้ซัพพลายข้าวลดลง ปริมาณความต้องการข้าวในตลาดโลกทั้ง ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และจีน ยังคงมีความต้องการสูง ขณะที่แนวโน้มผลผลิตข้าวลดลง จะทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคาอย่างรุนแรง"
นาย สมเกียรติ มรรคยาธร เลขาธิการสมาคมผู้ส่งออกข้าว กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกข้าวในปี 2559 ภาพรวมทั้งโลกจากการประเมินของ USDA คาดว่าจะมีปริมาณการค้าข้าว 42.02 ล้านตัน ลดลง 1% การผลิต 474.02 ล้านตัน ลดลง 1% การบริโภค 487.52 ตัน เพิ่มขึ้น 0.6% ส่งผลให้ปริมาณสต๊อกข้าวโลกลดลงเหลือ 88.29 ล้านตัน หรือ 15.3% ถือเป็นปริมาณที่ต่ำกว่า 100 ล้านตัน ครั้งแรกในรอบ 7 ปีนับจากปี 2551
"สาเหตุหลักมาจากปริมาณสต๊อกข้าวของจีนและอินเดีย ซึ่งเป็นผู้ถือครองสต๊อกสูงสุดระบายข้าวออกมาเป็นจำนวนมาก รวมถึงสต๊อกข้าวของไทยที่เดิมมี 18.8 ล้านตัน ขณะนี้ระบายไป 4-5 ล้านตัน และคาดว่าปีหน้ารัฐบาล จะระบายได้อีก 4-5 ล้านตัน ทำให้สต๊อกข้าวภาพรวมของโลกลดลง ประกอบกับปริมาณซัพพลายข้าวลดลง หลังจากหลาย ๆ ประเทศเกิดภัยแล้ง ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อราคาข้าวในตลาด"
สำหรับ การส่งออกข้าวไทยในช่วง 10 เดือนแรก (มกราคม-ตุลาคม) 2558 มี 7.529 ล้านตัน ลดลง 8.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่อินเดียส่งออก 8.961 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 10.5% ขึ้นมาเป็นอันดับ 1 นำไทยแล้ว ส่วนเวียดนาม 5.097 ล้านตัน หรือลดลง 7.8%สมาคมคาดว่าในปีนี้ไทยจะยังคงส่งออกได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 9-9.5 ล้านตัน โดยข้าวหอมมะลิจะเป็นพระเอกเป็นรายการเดียวที่ส่งออกเพิ่มขึ้น 1.4% สามารถทวงส่วนแบ่งตลาดข้าวหอมมะลิในฮ่องกงคืนมาได้ หรือเพิ่มขึ้นเป็น 57% จากเดิมที่มีอยู่ 47% ซึ่งถึงสิ้นปีจะสามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดได้ถึง 60% ประกอบกับผลจากการขายข้าวแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (G to G) ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดข้าวไทยในตลาดเอเชียเพิ่มขึ้นจาก 25% เป็น 31% โดยเฉพาะการส่งออกไปฟิลิปปินส์ คู่ค้า G to G ซึ่งเพิ่มขึ้น 202% และจีนเพิ่มขึ้น 30%
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 17 พ.ย. 2558