บิ๊ก บจธ. เร่งดัน พ.ร.บ.ธนาคารที่ดินเข้าครม. เส้นตายไม่เกิน 8 มิ.ย.59 เผยหากไม่ได้รับไฟเขียวต้องยุบสถาบันทิ้ง โอดเสียดาย ชี้รัฐบาลปกติทำไม่ได้ หวังลดความเหลื่อมล้ำ –สกัดนายทุนฮุบที่ดินตุนแลนด์แบงก์ ไม่ได้ทำธุรกิจจริงทำชาติเสียรายได้ปีละแสนล้าน ด้านนักวิชาการเชียร์อุ้มคนจน คุ้มครองที่ดินเกษตร วงในติงหวั่นซ้ำซ้อน
นายสถิตย์พงษ์ สุดชูเกียรติ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการ ธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) (บจธ.) ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงที่มาของการจัดตั้ง บจธ. ว่า เมื่อ ปี 2554 ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันขึ้น ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่มที่ 128 ตอนที่ 33 ก ลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 แต่ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2554 โดยในมาตรา 30 ของพระราชกฤษฎาดังกล่าว กำหนดไว้ว่าเมื่อมีการจัดตั้งธนาคารที่ดินหรือองค์กรที่มีวัตถุประสงค์ในลักษณะเดียวกับธนาคารที่ดิน และหากพ้นกำหนดระยะเวลา 5 ปีนับตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้มีผลใช้บังคับแม้จะมิได้มีการจัดตั้งธนาคารที่ดินหรือองค์กร อื่นตามที่ได้กล่าวมาก็ตาม ขอให้สถาบันยุบเลิก ซึ่งจะครบกำหนด 5 ปีในวันที่ 8 มิถุนายน 2559 ซึ่งเหลือเวลาประมาณ 7 เดือนที่จะจัดตั้งธนาคารที่ดินให้ประสบผลสำเร็จ
“นับจากพระราชกฤษฎีกาที่ตั้งสถาบันขึ้นมาผ่านมาจะร่วม 4 ปีแล้ว เสียดายเวลา แล้วถ้าไม่ผ่านเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามที่กำหนดเวลาไว้ จะทำให้เสียโอกาส เพราะถ้า พ.ร.บ. ธนาคารที่ดินแจ้งเกิด จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมและช่วยคนยากจนได้ เพราะงานไม่ได้ซ้ำซ้อนกับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เลย เนื่องจาก ส.ป.ก.จะต้องซื้อที่ดินในเขตปฏิรูปเท่านั้น แต่ บจธ.สามารถซื้อที่ดินเอกชนนอกเขตปฏิรูปได้ อีกทั้งจะเป็นหน่วยงานที่ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ กับเกษตรกร คนยากจน ให้ไปซื้อที่ดินที่กำลังจะหลุดไปตกอยู่ในมือของนายทุน และที่สำคัญยังเป็นคนกลาง (โบรกเกอร์) ไปซื้อที่ดินที่รกร้าง ไม่ได้ทำประโยชน์ นำมาจัดสรรให้กับคนยากจนหรือเกษตรกรได้”
นายสถิตย์พงษ์ กล่าวว่า จากผลการศึกษาพบว่ามีที่ดินรัฐและเอกชนถูกทิ้งร้างไม่ได้รับการ จัดการ หรือใช้ที่ดินผิดวัตถุประสงค์ โดยชี้ให้เห็นข้อมูลว่า ผู้ครอบครองที่ดินมากกว่า 200 ไร่ ใช้ประโยชน์ 71% ผู้ครอบครองที่ดินมากกว่า 1 หมื่นไร่ ใช้ประโยชน์ 30% และผู้ครอบครองที่ดินมากกว่า 5 หมื่นไร่ ใช้ประโยชน์เพียง 3% ซึ่งการกักตุนที่ดินโดยไม่ใช้ประโยชน์ ทำให้ประเทศสูญเสียรายได้ปีละกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจของธนาคารที่ดินจะเป็นกลไกดึงพื้นที่ซื้อจากเอกชนแล้วนำมาจัดสรรให้กับเกษตรกรที่ยากจนต่อไป (ดูตารางประกอบ)
สำหรับเรื่องร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธนาคารที่ดิน พ.ศ. … ทาง ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ เห็นสอดคล้องกันว่า ธนาคารที่ดินถือเป็นความหวังของประชาชน เพราะยังมีเกษตรกร 13.5 ล้านคน เสี่ยงสูญเสียที่ดินและคนจนเมือง 9 ล้านคนไม่มีที่ดิน ดังนั้น ธนาคารจึงถือเป็นกลไกใหม่ในการปฏิรูปที่ดินครั้งใหญ่ของไทย อยู่ระหว่างรอผลการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ปัจจุบันมีเงินงบประมาณที่ได้จัดสรรอยู่แล้วประมาณ 700 ล้านบาท สามารถขับเคลื่อนได้ทันที หากเป็นรัฐบาลปกติทำไม่ได้ ยุคนี้เหมาะที่สุดแล้ว
สอดคล้องกับผศ.อิทธิพล ศรีเสาวลักษณ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในฐานะประธานอนุกรรมการบูรณาการกฎหมายการบริหารจัดการที่ดิน ของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) กล่าวว่า เห็นด้วยในหลักการจัดตั้งธนาคารที่ดิน เพราะภารกิจหลักที่สำคัญ คือการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่ที่ดินหลุดจำนอง โดยการให้สินเชื่อ หรือการช่วยในการเช่าซื้อ การบริหารจัดการที่ดินของรัฐ การบริหารจัดการที่ดินของเอกชนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ และการจัดซื้อที่ดินเข้าธนาคารที่ดิน นับว่าเป็นแนวทางเยียวยาการสูญเสียที่ดินจากหนี้สินการจำนำ การจำนอง และ การขายฝากกับสถาบันการเงิน ให้คงอยู่กับเกษตรกรต่อไป
แหล่งข่าวจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการประชุมเกี่ยวกับการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศนั้น อาจจะมีความซ้ำซ้อนกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.)
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,104 วันที่ 12 – 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 14 พ.ย. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.