โดย...สิทธิณี ห่วงนาค
เป็นข้อมูลที่สะท้อนว่านโยบายเกษตรของไทยในช่วงที่ผ่านมา “ล้มเหลว” แม้ว่าตลอดระยะเวลา 10 ปี (2547-2557) แต่ละรัฐบาลได้ดำเนินนโยบาย แทรกแซงราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าว 15 โครงการ เป็นเงินสูงถึง 1.1 ล้านล้านบาท และการปิดบัญชีงวดวันที่ 30 ก.ย. 2557 มีผลขาดทุนเกือบ 7 แสนล้านบาท
เมื่อ โอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เผยผลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรปีการ ผลิต 2558/ 2559 ณ วันที่ 20 ต.ค. 2558 ซึ่งสำรวจครัวเรือนเกษตรกร 6.5 ล้านครัวเรือน ครอบคลุม 9 ด้าน เช่น การถือครองที่ดิน รายได้ หนี้สิน เครื่องจักรการเกษตร การเข้าร่วมโครงการของรัฐและแหล่งน้ำ เป็นต้น เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการกำหนดนโยบายช่วยเหลือเกษตรกร
ปรากฏว่าในด้านรายได้ ซึ่งไม่นับรวมเงินช่วยเหลือจาก ภาครัฐ พบว่าเกษตรกร 5.36 ล้านคน (ครัวเรือน) มีรายได้จากภาคเกษตรเฉลี่ย 100,239 บาท/ปี และเกษตรกร 4.24 ล้านคน (ครัวเรือน) มีรายได้นอกภาคเกษตรเฉลี่ย 79,662 บาท/ปี แต่เมื่อจำแนกเป็นรายได้รวมต่อปี พบว่ามีเกษตรกร 5.52 ล้านคน (ครัวเรือน) มีรายได้ต่ำกว่า 1.8 แสนบาท/ปี หรือต่ำกว่า 300 บาท/วัน เกษตรกร 7.34 แสนคน (ครัวเรือน) มีรายได้ระหว่าง 180,000-499,999 บาท/ปี เกษตรกร 8.77 หมื่นคน (ครัวเรือน) มีรายได้ 500,000-999,999 บาท และมีเกษตรกรเพียง 1.85 หมื่นคน (ครัวเรือน) ที่มีรายได้มากกว่า 1 ล้านบาท
เท่ากับว่ามีเกษตรกรเพียง 15% เท่านั้นที่มีรายได้สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วัน
ส่วน ข้อมูลด้านหนี้สิน ซึ่งมีเกษตรกรมาให้ข้อมูล 5.44 ล้านคน พบว่ามีเกษตรกร 3.76 ล้านคน (ครัวเรือน) หรือคิดเป็น 69.27% ของครัวเรือนที่สำรวจ มีหนี้สินในภาคการเกษตรเฉลี่ย 134,020 บาท/ครัวเรือน และเกษตรกร 2.97 ล้านคน (ครัวเรือน) หรือคิดเป็น 54.64% โดยมีหนี้สินนอกภาคเกษตรเฉลี่ย 130,164 บาท/ครัวเรือน อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจไม่ได้ระบุว่า ครัวเรือนที่มีหนี้สินทั้งหนี้ในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ แต่ระบุหนี้สินรวมเฉลี่ยอยู่ที่ 163,164 บาท/ครัวเรือน
ขณะที่ในด้านการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตร ซึ่งสำรวจทั้งจำนวนที่ดิน สิทธิที่ดิน สภาพการเช่า โดยเก็บข้อมูลเฉพาะเกษตรกรที่ปลูกข้าว 3.7 ล้านครัวเรือน เนื้อที่ปลูกข้าว 61.4 ล้านไร่ พบว่าเกษตรกรมีที่ดินที่เป็นโฉนด/น.ส.4 จำนวน 2.4 ล้านราย เนื้อที่ 39.9 ล้านไร่ หรือมากกว่า 50% เป็นเกษตรกรที่ทำกินบนที่ดิน ส.ป.ก. 5.78 แสนราย เนื้อที่ 7.65 ล้านไร่ เป็นต้น
แต่พบว่ามีเกษตรกร 4.52 แสนราย ถือครองที่ดินเพื่อปลูกข้าวโดยวิธีการเช่าที่ดินคิดเป็นเนื้อที่มากกว่า 8.41 ล้านไร่ และในจำนวนนี้เป็นเกษตรกรที่เช่าที่ดิน โดยไม่มีสัญญาเช่า 7,058 ราย คิดเป็นเนื้อที่ 7.07 หมื่นไร่
“ข้อมูลที่สำรวจได้เหล่านี้จะนำไปใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร แม้ว่าครัวเรือนเกษตรทั่วประเทศที่สำรวจ 6.5 ล้านครัวเรือน จะมีครัวเรือนที่ให้ข้อมูลครบทั้ง 9 ด้านเพียง 3.7 ล้านครัวเรือน และเกษตรกรมักไม่ให้ข้อมูลด้านหนี้สิน แต่ก็ถือว่าข้อมูลครั้งนี้ครอบคลุมมากที่สุด” โอฬาร ระบุ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร แต่การแก้ปัญหาอาจจะยังล่าช้าอยู่ โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยได้รายงานความคืบหน้าในการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร พบว่ามีหนี้สินที่จะต้องเข้าไปแก้ไขเป็นจำนวนมาก
ประกอบด้วย 1.ลูกหนี้ที่อยู่ในความรับผิดชอบของธนาคารเพื่อการ เกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จำนวน 1.2 ล้านราย และ 2.หนี้สินนอกระบบ 3.61 หมื่นราย 5,074 ล้านบาท รวมถึงหนี้สินที่เกษตรกรได้นำที่ดินไปค้ำประกันการกู้เงินกับเอกชนหรือขายฝาก ในลักษณะที่เป็นหนี้สินนอกระบบที่ต้องได้รับการช่วยเหลือเร่งด่วน เนื่องจากมีคำพิพากษาให้บังคับคดีแล้ว 2,292 ราย มูลหนี้ 2,184 ล้านบาท เป็นต้น
นิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน ประธานสมาพันธ์สมาคมชาวนาเเห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร โดยเฉพาะชาวนาจะไม่มีทางสำเร็จ หากตัวชาวนาเองยังไม่พยายามที่จะลดต้นทุนการผลิต และเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาอุดหนุนราคาตลอดเวลา ขณะที่ชาวนาในภาคกลาง 86% ไม่มีที่นาเป็นของตัวเองต้องเช่าที่ดิน
“แม้ว่ารัฐบาลจะเข้ามาแก้ปัญหาหนี้สินชาวนา แต่หากชาวนาไม่ลดต้นทุนการผลิตลงก็มีแต่จะขาดทุน และชาวนายังเป็นกลุ่มเกษตรที่มีอำนาจต่อรองน้อยมาก เมื่อเทียบกับโรงสีและพ่อค้าส่งออก ที่สุดแล้วก็ยังมีหนี้สินมากอยู่เหมือนเดิม ซึ่งรัฐบาลจะต้องเข้าไปจัดการกลไกเหล่านี้ รวมถึงการจัดหาที่ดินให้ชาวนา เช่น อาจจัดหาในรูปธนาคารที่ดิน ซึ่งสามารถทำแบบค่อยเป็นค่อยไปได้ในระยะยาว ไม่ใช่รอให้พร้อมแล้วจึงจะทำเช่นทุกวันนี้” นิพนธ์ กล่าว
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ วันที่ 10 พ.ย. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.