กรมการข้าวเปิดโมเดลจัดการพื้นที่ในภาวะน้ำแล้ง ปลูก "เผือกเงินแสน" ทดแทนพื้นที่ปลูกข้าว ระบุปลูกเผือก 1 ไร่ มีรายได้เท่ากับปลูกข้าว 10 ไร่
นาย อนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า จากสภาพดินฟ้าอากาศที่เปลี่ยนไป ทำให้ปีนี้น้ำต้นทุนจากเขื่อนมีน้อย ส่งผลต่อการจัดสรรน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการในภาคเกษตร กระทบต่อชาวนาในลุ่มแม่น้ำภาคกลางซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญของประเทศ ไม่สามารถเสี่ยงทำนาปรังต่อไปได้ เมื่อขาดรายได้จากการทำนาเกษตรกรต้องประกอบอาชีพเสริมอย่างอื่นที่อาจไม่สอด คล้องกับวิถีชีวิต และความถนัด กรมการข้าวจึงคิดหาแนวทางช่วยเหลือ โดยศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานีทำการศึกษาและสร้างโมเดลบริหารจัดการพื้นที่ของ ชาวนาในสภาวะขาดแคลนน้ำ ตามแนวคิดลดพื้นที่การปลูกข้าวและหาพืชใช้น้ำน้อยที่เหมาะสมปลูกในนาข้าว เพื่อทดแทนรายได้จากการลดพื้นที่การทำนา ควบคู่กับการจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้ง
นายอภิชาติ ลาวัณย์ประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี กล่าวว่า โมเดลดังกล่าวมีแนวทางดำเนินการที่สำคัญ คือ การแบ่งพื้นที่นาเป็น 4 ส่วน ส่วนแรกขุดบ่อน้ำสำรองไว้ใช้โดยใช้ระบบน้ำวน และเลี้ยงปลาหรือกบ ส่วนที่สองปลูกข้าวเท่าที่จำเป็นโดยจัดการน้ำด้วยวิธีเปียกสลับแห้ง ส่วนที่สามปลูกพืช ใช้น้ำน้อยในนาที่สามารถสร้างรายได้เท่ากับการทำนา และในการศึกษาครั้งนี้ได้ทำการปลูกเผือก ซึ่งมีวิธีการปลูกคล้ายกับการปลูกข้าว ส่วนที่สี่เพื่อการพักนาหรือปลูกพืชบำรุงดิน
ผลการทดลองตามโมเดลดัง กล่าวพบว่า แนวทางดังกล่าวทำให้เกษตรกรสามารถดำรงวิถีชีวิตเดิม และมีรายได้เลี้ยงครอบครัวได้ไม่น้อยไปกว่าเดิมแม้ปลูกข้าวน้อยลง โดยมีข้าวบริโภคจากปลูกข้าว แบบเปียกสลับแห้ง ซึ่งสามารถลดการใช้น้ำ 20-30% หากเหลือกินนำมาจำหน่ายสร้างรายได้ 5,600 บาท/ไร่ จากต้นทุน 4,500 บาท/ไร่ ณ ราคาข้าวเปลือก 6.5-7.5 บาทต่อกิโลกรัม
ส่วนการปลูกเผือกต้องดูแล รักษามากกว่าข้าวแต่น้อยกว่าการปลูกผัก และมีรายได้เป็นที่น่าพอใจ แม้มีต้นทุนสูงกว่าการปลูกข้าวประมาณ 30,000-40,000 บาทต่อไร่ แต่เมื่อเก็บผลผลิตแล้วมีรายได้ประมาณ 80,000 บาท ณ ราคาจำหน่าย 15-35 บาทต่อกิโลกรัม ดังนั้น การปลูกเผือกจำนวน 1 ไร่ มีรายได้เท่ากับการปลูกข้าวจำนวน 10 ไร่ แต่มีข้อจำกัดว่าเกษตรกรต้องติดต่อหาตลาดเอง จึงควรปลูกในพื้นที่ที่มีตลาดรองรับชัดเจน
ด้าน นางเพ็ญศรี ชมแค อายุ 56 ปี ชาวบ้านตำบลระแหง อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า เดิมตนทำนาปลูกข้าวตลอดปี แต่เมื่อเห็นโอกาสของการปลูกเผือกซึ่งใช้น้ำน้อยและมีรายได้ดีกว่าการปลูก ข้าว จึงหันมาแบ่งพื้นที่ทยอยปลูกเผือกทีละแปลง ช่วงเวลาที่เหมาะสมคือระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม แปลงล่าสุดเก็บผลผลิตเมื่ออายุประมาณ 8 เดือน จากต้นทุนไร่ละ 40,000 บาท ได้ผลผลิตกว่า 4,000 กิโลกรัม มีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อในราคากิโลกรัมละ 25 บาท น้ำหนักหัวละไม่ต่ำกว่า 800 กรัม ทำให้มีรายได้จากการจำหน่ายไร่ละ 120,000 บาท ในขณะที่เพื่อนเกษตรกรรายอื่นจำหน่ายไปก่อนหน้านี้ มีรายได้ไร่ละ 150,000 บาท เนื่องจากเป็นช่วงที่ตลาดมีความต้องการสูงจากเทศกาลกินเจ และขณะนี้กำลังเตรียมแปลงเพื่อปลูกรอบใหม่ คาดว่าจะเก็บเกี่ยวในช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งราคาเผือกจะพุ่งสูงอีกครั้งหนึ่ง
"ถือว่าพอใจกับรายได้จากการ ปลูกเผือก เพราะปลูกเผือก 1 ไร่ มีรายได้มากกว่าปลูกข้าว 10 ไร่ เพราะที่ผ่านมาข้าวขายได้เพียงไร่ละ 6,000 บาทเท่านั้น ส่วนเกษตรกรที่สนใจปลูกเผือกจะต้องขยัน และมีเวลาดูแล คอยกำจัดวัชพืช เฝ้าระวังโรคไหม้และโรคเน่า ใส่ปุ๋ย ถึงเวลาเก็บผลผลิตมีพ่อค้าคนกลาง เข้ามารับซื้อถึงพื้นที่ เพื่อป้อนให้โรงงานอุตสาหกรรมและส่งออกต่างประเทศ ตอนนี้ปลูกแล้วยังไม่พอจำหน่าย จึงไม่ห่วงว่าจะล้นตลาด แต่ถ้าช่วงไหนราคาเผือกยังไม่เป็นที่พอใจก็ยืดอายุเป็น 9 เดือนแล้วค่อยเก็บขายเพื่อรอราคาให้สูงขึ้นก็ได้"
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 8 พ.ย. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.