รอยเตอร์ส รายงานว่า รัฐบาลคสช.ได้อนุมัติงบประมาณกว่า 1,300 ล้านดอลลาร์ (ราว 45,550 ล้านบาท ) ในนโยบายประชานิยม คล้ายกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่ถูกโค่นอำนาจ เพื่อหวังเอาใจและผ่อนคลายปัญหาของกลุ่มเกษตรกร ที่ถือเป็นกลุ่มฐานการเมืองที่ทรงอำนาจ ที่กำลังประสบปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ รวมทั้งปัญหาการส่งออกที่อ่อนตัว
รอยเตอร์สรายงานอีกว่า ปัจจุบัน พื้นที่ชนบทซึ่งถือเป็นฐานเสียงสำคัญของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตสองนายกรัฐมนตรี กำลังได้รับผลกระทบจากนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลคสช. ส่งผลให้เกิดกระแสความขัดแย้งและภัยเสี่ยงต่อการถูกคนกลุ่มนี้ลุกฮือประท้วง
โดยที่ผ่านมา รัฐบาลคสช.ได้เคยรับปากกลุ่มเกษตรกรว่าจะแยกพวกเขาออกจากนโยบายประชานิยม ของรัฐบาลเก่า แต่ล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลคสช.ได้อนุมัติมาตรการราว 1 พันล้านดอลลาร์ (35,000 ล้านดอลลาร์) เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรปลูกข้าว และเมื่อวันอังคาร ก็เพิ่งอนุมัติเงินช่วยเหลือจำนวน 365 ล้านดอลลาร์ ( 12,775 ล้านบาท )ให้แก่เกษตรกรปลูกยาง ซึ่งขู่จะชุมนุมประท้วงรัฐบาล โดยไม่สนต่อคำสั่งห้ามการชุมนุมทางการเมือง
ขณะที่นายโคทม อารียา ที่ปรึกษาของสถาบันศึกษาสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ แห่งมหาวิทยาลัยมหิดล ชี้ว่า แม้ว่า มาตรการที่รัฐบาลคสช.นำมาใช้จะเหมือนกับรัฐบาลสองชุดก่อนหน้านี้ แต่รัฐบาลนี้ก็อ้างว่ามาตรการนี้จะไม่รั่วไหลเหมือนรัฐบาลที่แล้ว
รอยเตอร์ส ระบุว่า มาตรการเหล่านี้ถือสิ่งที่ไม่คาดฝันมาก่อนหลังจากเหตุการณ์รัฐประหารได้ช่วยหนุนต่อคำอ้างของรัฐบาลคสช.ว่าจะ"ล้างระบบ"เมืองไทยและขับเคลื่อนประเทศไทยให้พ้นจากการคอร์รัปชั่นของนักการเมืองและนโยบายประชานิยมของพวกนักการเมืองและหลังจากช่วงเวลาผ่านมา17เดือน แล้วปรากฎว่า รายได้ของชาวชนบท ซึ่งมีจำนวนกว่า 34 ล้านคนในเมืองไทย ต้องทรุดลง และทำให้เกษตรกรไทย ที่ถือเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่เป็นอันดับสองของโลก และเป็นผู้ส่งออกยางระดับแถวหน้าของโลก ได้เรียกร้องให้มีการนำนโยบายประกันราคาข้าวและราคายางแก่พวกเขา
มาตรการประกันราคาสินค้าเกษตรล่าสุดนี้ ยังถือเป็นมาตรการประชานิยมล่าสุด ที่รวมทั้งการออกเงินกู้กองทุนหมู่บ้านแก่เกษตรกร ที่ผลักดันโดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี รัฐบาลคสช. ที่เคยเป็นอดีตผู้สร้างนโยบายนี้ขึ้นมาเองสมัยเป็นรัฐมนตรีในยุครัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อกระตุ้นรายได้ของเกษตรกรและเศรษฐกิจ
แต่ขณะที่ความช่วยเหลือดังกล่าวได้เพิ่มมากขึ้น เกษตรกรไทยก็ยังคงวิจารณ์ต่อรัฐบาลคสช. ว่า มาตรการประกันสินค้าเกษตรนี้ยังห่างไกลจากของยุคอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์อย่างมาก โดยนโยบายประกันข้าวของนางสาวยิ่งลักษณ์ ได้ประกันราคาข้าวเฉลี่ยสูงกว่า 50 เปอร์เซนต์ของราคาตลาดโลก ราว 14,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 4.9 แสนล้านบาท ) ซึ่งส่งผลให้เกิดกระแสวิจารณ์ว่าเป็นการซื้อเสียง รวมทั้งมาตรการประกันราคายางมูลค่า 620 ล้านดอลลาร์ด้วย (21,700 ล้านบาท)
ขณะเดียวกัน ในขณะที่รัฐบาลคสช.นำนโยบายประชานิยมนี้มาใช้ แต่ก่อนหน้านี้ รัฐบาลนี้ก็ได้ถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ออกจากตำแหน่ง ในข้อหาละเลยต่อโครงการจำนำราคาข้าวที่บิดเบือนราคาตลาด และทำให้ข้าวจำนวนมากค้างอยู่ในสต็อกและโกดังจำนวนมาก
ที่มา : มติชน วันที่ 5 พ.ย. 2558