ตามที่ “ฐานเศรษฐกิจ” ได้เสนอข่าว “นาโนไฟแนนซ์หืดจับ” ตีพิมพ์ในฉบับที่ 3 ,097 วันที่ 18-21 ตุลาคม 2558 นำเสนอประเด็นผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ สะท้อนปัญหาและข้อจำกัดในการให้สินเชื่อดังกล่าว ซึ่งกระทบต่อยอดการปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ และแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจ รวมทั้งอาจไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่ทางการต้องการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ
ขณะเดียวกันผู้ประกอบการมีข้อเสนอในประเด็นหลัก คือขอให้ผ่อนเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดอัตราดอกเบี้ยได้สูงกว่า 36% และผ่อนคลายเกณฑ์หลักประกันใน การกู้ อาทิ บริษัทไอร่าแอนด์ไอฟุล จำกัด (มหาชน) เสนอขยายเพดานอัตราดอกเบี้ยเป็น 48% เช่นเดียวกับบริษัท ไทยเอซ แคปปิตอล จำกัด ที่เสนอขยายเพดานอัตราดอกเบี้ย ส่วนบริษัท เมืองไทย ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) เสนอให้รัฐบาลใช้มาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการปล่อยกู้ เป็นต้น
ต่อกรณีดังกล่าว “ฐานเศรษฐกิจ” ได้สอบถามไปยังนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ให้ความเห็นถึงการเปิดให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ว่า ตอนที่คลังเปิดให้ใบอนุญาตฯ ผู้ประกอบการได้เห็นเงื่อนไขในการปล่อยกู้อยู่แล้ว ขณะนี้จะมาขอผ่อนปรนคงไม่ได้ และเราได้วิเคราะห์แล้วว่าเงื่อนไขที่กำหนดก็น่าจะเป็นเงื่อนไขที่เป็นไปได้ อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไปหากคลังพิจารณาเห็นว่าประเด็นใดจะเป็นปัญหาก็พร้อมที่จะพิจารณา
ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ให้ความเห็นถึง ประเด็นข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการนาโนไฟแนนซ์ว่า จนถึงขณะนี้ส่วนตัวยังไม่ได้รับข้อร้องเรียนโดยตรง ซึ่งในกรณีผู้ประกอบการกังวลต่อประเด็นอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 36% นั้น อัตราดอกเบี้ยที่ระดับกังกล่าว เป็นที่ยอมรับในหลักเกณฑ์เบื้องต้นก่อนที่ผู้ประกอบการธุรกิจนาโนฯจะได้รับอนุญาตแล้ว และก่อนจะมีการออกหลักเกณฑ์ก็ได้มีการศึกษาอย่างมากทั้งระดับภูมิภาคและปรึกษาธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) รวมถึงเปรียบเทียบกับอัตราดอก เบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคล อาทิ สินเชื่อส่วนบุคคล กำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ย 28% (มีหลักประกัน) แต่สำหรับนาโนไฟแนนซ์ ปรับเพิ่มเป็น 36% พร้อมกำหนดวงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 1 แสนบาท เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2-3 หมื่นบาทต่อราย ซึ่งเป็นการกระจายความเสี่ยงแก่ผู้ประกอบการระดับหนึ่งแล้ว
“การจะมาบอกว่าระดับอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวผู้ประกอบการอยู่ไม่ได้คงไม่ใช่ประเด็น ส่วนเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ เมื่อลูกหนี้ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ การที่จะร้องขอให้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจะยิ่งซ้ำเติมลูกหนี้ให้ไม่มีความสามารถชำระมากขึ้นหรือไม่” นายกฤษฎากล่าว
ผอ.สศค. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ หรือนาโนไฟแนนซ์( Nano Finance)นั้น ในหลักการของวัตถุประสงค์ทั้งเพื่อใช้ในการประกอบอาชีพและกู้ยืมทั่วไปแต่กำหนดวงเงินไม่เกิน 1 แสนบาทต่อราย หรือ ผู้ประกอบธุรกิจใหม่ ที่อาจไม่มีรายได้ประจำ ไม่มีสลิปเงินเดือน ไม่เคยเดินบัญชีกับธนาคาร แต่เป็นผู้มีความสามารถในการชำระหนี้ เจตนาของนโยบายนาโนไฟแนนซ์ คือให้ผู้ประกอบการรู้จักลูกค้าหรือตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า (Know Your Customer/Customer Due Diligence: KYC/CDD) ของตัวเองและให้บริการลูกค้าเฉพาะในพื้นที่ท้องถิ่นเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนอยู่ได้และไม่สูง แต่หากกระจายให้บริการนอกพื้นที่อาจจะมีต้นทุนไม่เพียงพอและอยู่ไม่ได้
ผอ.สศค. กล่าวยืนยันว่า ขณะนี้จะยังไม่มีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขสำหรับนาโนไฟแนนซ์ อย่างไรก็ตาม แนวคิดเดิมของการทำธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ กำหนดทุนจดทะเบียนไว้ที่ 10 ล้านบาทโดยกำหนดให้บริการลูกค้าในท้องถิ่นเท่านั้น แต่พอปรับทุนจดทะเบียนเป็น 50 ล้านบาทให้บริการที่ไหนก็ได้ อาจเป็นประเด็นที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 36% อยู่ไม่ได้
เท่าที่ทราบข้อมูลจากผู้ประกอบการ 1 ใน 18 รายที่ได้รับอนุญาตไปแล้วมีรายใหญ่อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบโดยมีเงินลงทุน 400 ล้านบาทซึ่งผู้ประกอบการายดังกล่าวระบุว่า ระบบดังกล่าวเขาประสบความสำเร็จมากในต่างประเทศจึงเข้ามาร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการของไทยโดยหลังจากบริษัทดังกล่าวพัฒนาระบบเรียบร้อยแล้วจะเริ่มธุรกิจได้เลย ดังนั้นคงต้องรอเวลาประเมินผลในภาพรวมต่อไป
ขณะที่ นายรณดล นุ่มนนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า การปล่อยกู้นาโนไฟแนนซ์ที่กำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ย 36% นั้น ในส่วนของฟันดิ้งที่ผู้ประกอบการได้ก็จะอยู่ที่ประมาณ 4-5% อีกทั้งการปล่อยกู้ที่อัตราดอกเบี้ย 36% หากมองในมุมของผู้ที่จะมาขอกู้เงินก็ถือว่าสูงมากแล้ว ดังนั้นการที่ผู้ประกอบการนาโนไฟแนนซ์จะขอให้สามารถเก็บอัตราดอกเบี้ยได้สูงกว่าในระดับดังกล่าวน่าจะระดับที่สูงเกินไป
“อัตราดอกเบี้ยนาโนไฟแนนซ์ที่ระดับ 36% ถือว่าน่าจะเพียงพอแล้ว ดูจากต้นทุนและส่วนต่างก็น่าจะมากพอแล้ว ยอมรับว่าอาจจะมีหนี้เสีย( เอ็นพีแอล) บ้าง แต่ก็ไม่น่าจะใช่ปัญหาที่ต้องกังวล” ผู้ช่วยผู้ว่าการธปท. กล่าว
นับตั้งแต่กระทรวงการคลังออกประกาศมีผู้สนใจยื่นขอใบอนุญาตนาโนไฟแนนซ์ (24 ม.ค.-22 ต.ค. 58) มีผู้ยื่นคำขอใบอนุญาตทั้งหมด 25 ราย ได้รับอนุญาตแล้ว 18 ราย ในจำนวนดังกล่าวเปิดดำเนินการแล้ว 5 ราย และมีรายที่อยู่ระหว่างรอเอกสารเพิ่มเติมจากผู้ยื่นขออนุญาต 7 ราย โดยยอดให้สินเชื่อคงค้างตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2558-ปัจจุบันมียอดสินเชื่อคงค้างทั้งสิ้น 56 ล้านบาท
“อัตราการอนุมัติสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ในช่วงแรกยังมีปริมาณไม่สูงมากนัก เนื่องจากผู้ประกอบการมีความระมัดระวังการให้สินเชื่อ โดยจะพิจารณาให้เฉพาะลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่บริษัทกำหนด และมีความสามารถในการชำระหนี้ ขณะที่ผู้ประกอบการที่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ด้วยจะมุ่งเน้นการทำธุรกิจเดิมไปก่อนโดยยังไม่เร่งขยายสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์”นายรณดลกล่าว
พร้อมกันนี้ ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.ยังได้กล่าวด้วยว่า ต้นทุนการประกอบธุรกิจจากการสอบถามธุรกิจที่ให้บริการในปัจจุบันและนำมาวิเคราะห์พบว่าอัตราดอกเบี้ยนาโนไฟแนนซ์ที่กำหนดไว้ที่ 36% สามารถครอบคลุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตลอดจนรองรับเอ็นพีแอลได้ระดับหนึ่งแล้ว
ทั้งนี้ “ฐานเศรษฐกิจ” สำรวจไปยังผู้ประกอบการที่เริ่มปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ไปแล้ว และทางธปท. ส่งเจ้าหน้าที่ไปรับฟังความเห็นและปัญหาในการทำธุรกิจ
นายขจิต เสรีรัตน์ ผู้จัดการบริษัท สหไพบูลย์ (2558) จำกัด หนึ่งในผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ ซึ่งให้บริการในต่างจังหวัด กล่าวว่า หลังจากที่บริษัทเริ่มให้บริการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์มาแล้ว 3 เดือน เมื่อประมาณสัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ธปท. (ธปท. ที่ขอนแก่น)ได้เข้ามารับฟังความเห็น โดยถามถึงสาเหตุที่ยอดปล่อยกู้มีน้อย และถามความเห็นว่าจะให้ช่วยอย่างไร ซึ่งตนได้ให้ความเห็นไปว่า ในการกู้ขอให้มีผู้ค้ำที่มีหลักทรัพย์
อย่างไรก็ตาม ในประเด็นดังกล่าวตนเคยถูกกระทรวงการคลังโทร.มาเตือนว่าห้ามปล่อยกู้ในลักษณะดังกล่าว หรือให้มีผู้ค้ำประกันที่มีหลักทรัพย์ เพราะสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์เป็นสินเชื่อที่ต้องไม่มีหลักประกัน และทางเจ้าหน้าที่คลังยังระบุว่าหากปล่อยกู้ผิดเงื่อนไขมีโทษถึงจำคุก ตนจึงไม่กล้าปล่อยกู้ แต่ส่วนตัวในมุมมองของนักกฎหมายมองว่า เงื่อนไขการปล่อยกู้ กำหนดว่าเป็นสินเชื่อที่ต้องไม่มีหลักประกัน แต่ไม่ได้ห้ามปล่อยกู้หากผู้กู้มีผู้ค้ำประกันที่มีหลักทรัพย์
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,099 วันที่ 25 – 28 ตุลาคม พ.ศ. 2558
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 26 ต.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.