นายสมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโสสถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวว่าในปี 2559 ราคาข้าวโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ7,000 บาทต่อตัน ซึ่งถือว่ายังอยู่ในช่วงราคาที่ตกต่ำ และทำให้ชาวนาโดยเฉพาะชาวนาที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งจะมีโอกาสขาดทุนในการปลูกข้าวมากขึ้นเนื่องจากต้นทุนในการปลูกข้าวจะเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ชาวนาบางส่วนต้องแบกรับความเสี่ยงจากการปลูกข้าวเพิ่มขึ้นซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรที่ลดลงต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าในกรณีของพื้นที่ปลูกข้าวภาคกลางที่ชาวนาไม่มีรายได้จากการปลูกข้าวมานอย่างต่อเนื่องจะมีความชัดเจนของปัญหารวมทั้งอาจมีการประท้วงของกลุ่มชาวนาในพื้นที่ที่มีปัญหาสั่งสมมาไม่มีรายได้จากการปลูกข้าวมาหลายรอบการผลิต
ทั้งนี้จากการติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมา ยังไม่เห็นนโยบายหรือมาตรการที่เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างชัดเจน โดยเฉพาะมาตรการที่จะออกมาช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งให้กับเกษตรกร แม้จะมีการจัดสรรปล่อยสินเชื่อผ่านกองทุนหมู่บ้าน และโครงการลงทุนขนาดเล็กตำบลละ 5 ล้านบาทซึ่งรัฐบาลตั้งใจให้เงินจำนวนนี้นำไปสู่การสร้างอาชีพหรือเพิ่มสภาพคล่องให้กับเกษตรกรในช่วงที่ขาดแคลนรายได้จากภัยแล้ง
นายสมพร ประเมินว่าจะมีเกษตรกรจำนวนไม่มากนักที่ได้ประโยชน์จากการจัดสรรเงินลงทุนตามโครงการนี้เนื่องจากเกษตรกรในพื้นที่จำนวนมากอายุเฉลี่ยเกิน50 ปีไม่สามารถใช้แรงงานก่อสร้างได้ ดังจะเห็นได้จากโครงการขุดบ่อน้ำของกระทรวงเกษตรฯที่เคยมีการนำไปใช้ในหลายพื้นที่แต่มีเกษตรกรเข้าร่วมไม่มากนัก
“ปัญหาภัยแล้งที่จะเกิดขึ้น จริงอยู่จะมีเกษตรกรบางส่วนปรับตัวได้ ไปหางานหารายได้จากนอกภาคเกษตร แต่ก็มีเกษตรกรจำนวนมากที่ยังคงต้องพึ่งพารายได้จากภาคเกษตรเป็นหลัก ซึ่งเมื่อมาตรการออกมายังไม่ชัดเจน เช่น ยังไม่เห็นว่าจะปลูกพืชอะไรทดแทนข้าว จำนวนเท่าไร พื้นที่ใด ซึ่งข้อมูลยังไม่ชัดเจน รวมทั้งมาตรการที่ออกมาก็ยังไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันเช่น พยายามจ้างงานชาวนาให้ไปทำงานก่อสร้างโครงการต่างๆ ซึ่งเป็นงานหนักเกษตรกรบ้านเราซึ่งอายุมากก็ทำไม่ไหว ซึ่งมาตรการที่ออกมาควรมีการสร้างความชัดเจนในการช่วยเหลือและสอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบันด้วย”
สำหรับมาตรการที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เสนอว่าให้รัฐมีการเช่าที่นาของเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งจะมีปัญหาภัยแล้งเพื่อปลูกพืชทางเลือกที่ใช้น้ำน้อย และจ่ายค่าเช่าที่ดินให้เป็นรายได้ของเกษตรกรและสุดท้ายนำพืชผลของเกษตรกรมาจำหน่าย เพื่อเป็นรายได้ให้เกษตรกรหรือที่เรียกว่า“X+Y+Z” นายสมพรมองว่า เป็นแนวความคิดที่ทำให้ได้ผลจริงในทางปฏิบัติได้ยาก เนื่องจากจะมีปัญหามากที่สุดในขั้นตอนการที่รัฐซื้อผลผลิตของเกษตรกรมาจำหน่าย เนื่องจากการกำหนดราคารับซื้อที่จะให้ส่วนเพิ่ม(Intensive) ให้กับเกษตรกรจะมีความยุ่งยาก เช่น จะใช้วิธีการกำหนดราคาพืชให้สูงกว่าพื้นที่อื่นๆ ก็จะเกิดการโยกย้ายผลผลิตเพื่อรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล
“จะมีปัญหาในทางปฏิบัติตามมา การแก้ปัญหาที่ถูกต้องจะต้องมีการวางแผนระยะยาวอย่างเป็นระบบ และเร่งรัดการทำเรื่องโซนนิ่งพื้นที่เกษตรให้เหมาะสมกับการปลูกพืชชนิดต่างๆ โดยศึกษาความต้องการของตลาดควบคู่กันไปด้วย”
ชี้เช่าที่ดินเกษตรเป็นการแทรกแซง
นายวิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัย ด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่าแนวคิดที่จะเช่าพื้นที่เกษตรกร กำหนดพืชให้ปลูก และนำผลผลิตมาจำหน่ายและแบ่งรายได้กับเกษตรกรนั้น ถือเป็นความพยายามของรัฐในรูปแบบหนึ่งที่จะเข้าไปแทรกแซงสินค้าเกษตร
ที่ผ่านมามีตัวอย่างให้เห็นเป็นจำนวนมากว่าล้มเหลวมากกว่าสำเร็จ เพราะองค์ประกอบหลายๆอย่างที่รัฐพยายามเข้าไปแทรกแซงในทางปฏิบัติควบคุมไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องราคาของสินค้าเกษตรที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และการแทรกแซง
ในส่วนนี้รัฐก็ต้องใช้งบประมาณเข้าไปแทรกแซงซึ่งไม่รู้ว่าจะต้องใช้มากน้อยเท่าไร ซึ่งหากจะช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งก็ต้องมีการศึกษาในเรื่องการใช้งบประมาณและเรื่องของตลาดที่จะรองรับให้รอบครบ
นอกจากนี้มองว่าที่ผ่านมามีการประกาศมาตรการต่างๆที่จะช่วยเหลือเกษตรในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต เช่น การสนับสนุนให้ทำเกษตรแปลงใหญ่ ซึ่งนำร่องไปแล้ว 200 พื้นที่ การส่งเสริมให้ปลูกพืชเศรษฐกิจทดแทน เช่น ปลูกอ้อยทดแทนข้าว ปลูกปาล์มน้ำมันทดแทนยางพารา ซึ่งภาครัฐควรมีการติดตามผลของโครงการเหล่านี้เป็นระยะๆ หากได้ผลในการช่วยยกระดับการผลิตของภาคเกษตรได้ก็ควรมีการขยายผลไปสู่เกษตรกรกลุ่มต่างๆมากขึ้น
หนุนเน้นปฏิรูปเศรษฐกิจระยะยาว
นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความจริงแล้วทุกอย่างถือว่าเป็นไปตามแผนที่รัฐบาลชุดนี้วางเอาไว้ เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาลก็บอกไว้ชัดเจนว่าไม่ได้ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาเติบโตอย่างหวือหวา เพียงแต่จะดูแลเพื่อพยุงไม่ให้เศรษฐกิจชะลอตัวมากไปกว่านี้เท่านั้น ดังนั้นมาตรการที่รัฐบาลได้ผลักดันออกมาก่อนหน้านี้ จึงถือว่าเพียงพอที่จะทำให้รัฐบาลบรรลุเป้าหมายที่วางเอาไว้
“ถามว่ามาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลผลักดันออกมา เพียงพอกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ ก็ต้องบอกว่ายังไม่พอถ้าจะดันให้เศรษฐกิจกลับมาเติบโต 5-6% เหมือนในอดีต แต่อย่างน้อยเราก็คงจะเห็นการเติบโตของเศรษฐกิจในระดับ 3% ซึ่งก็เป็นไปตามแผนที่รัฐบาลได้วางเอาไว้ หลังจากนี้ภาครัฐก็คงนำงบประมาณที่เหลือ มาใช้ในการปฏิรูปเศรษฐกิจ เผื่อผลักดันการเติบโตในระยะกลางถึงยาวต่อไป”
นายสมประวิณ กล่าวด้วยว่า แผนงานที่ภาครัฐดำเนินการมา ถือว่ามาถูกทาง เพราะเศรษฐกิจโลกในเวลานี้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก การดูแลด้วยการพยุงเศรษฐกิจผ่านมาตรการต่างๆ สามารถทำได้ แต่สิ่งที่สำคัญกว่า คือ การดูแลให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งการทำแบบนั้นได้ก็ต้องมาให้น้ำหนักกับเรื่องการปฏฺิรูปเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ นายสมประวิณ ยังเชื่อว่า หากภาครัฐสามารถผลักดันโครงการลงทุนขนาดใหญ่ รวมถึงโครงการลงทุนที่ถูกวางเพื่อเป็นยุทธศาสตร์ในอนาคตของประเทศได เช่น การจัดตั้งซูเปอร์คลัสเตอร์ กรณีนี้ก็น่าจะช่วยการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะกลางถึงยาวอย่างแน่นอน
ย้ำเรื่องดีรัฐหันมาเน้นปฏิรูปมากขึ้น
นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ภัทร กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลหันมาเน้นเรื่องการปฏิรูปที่มากขึ้น เพราะสะท้อนว่ารัฐบาลไม่ได้ละเลยที่จะผลักดันการเติบโตเศรษฐกิจในระยะยาว เพียงแต่จากนี้ไปคงต้องดูว่าจะมีการปฏิบัติอย่างจริงจังมากน้อยแค่ไหน ซึ่งทำได้ก็น่าจะส่งผลดีต่ออนาคตของเศรษฐกิจไทย
ส่วนมาตรการภาครัฐที่ได้ผลักดันออกมานั้น โดยภาพรวมคงไม่ทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างหวือหวา แต่อย่างน้อยก็น่าจะพยุงให้เศรษฐกิจไม่ทรุดไปมากกว่าเดิม อย่างไรก็ตามโดยส่วนตัวมองว่ายังมีกลุ่มผู้ใช้แรงงานในระดับฐานราก และกลุ่มเกษตรกรที่ยังไม่ได้รับการบรรเทาปัญหาเท่าที่ควร จึงอยากให้ภาครัฐหาแนวทางช่วยเหลือคนกลุ่มนี้มากขึ้น
“เห็นด้วยกับภาครัฐที่มองว่า เราคงไม่สามารถสวนกระแสโลกได้ เพราะเศรษฐกิจโลกในเวลานี้มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง ส่งผลต่อภาคการส่งออกและราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ การกระตุ้นไปคงไม่สามารถช่วยพยุงได้ มากนัก และมาตรการภาครัฐที่ออกมา ก็คงไม่ได้หวังผลในเชิงกระตุ้น แต่เป็นการบรรเทาปัญหา เพียงแต่มองว่าคนกลุ่มใหญ่ เช่น ในภาคเกษตรและแรงงานระดับฐานราก อาจจะยังไม่ได้รับการบรรเทาปัญหามากนัก”
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 17 ต.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.