“ทุกวันนี้ประชานิยมเป็นคำที่เสีย ไปแล้ว การจะทวงคืนประชานิยมดีหรือไม่ ผมคิดว่ายาก ประชานิยมไม่ได้ดีเลอเลิศ ถึงขั้นไปทวงคืน ขอให้ก้าวข้ามประชานิยม และมาเรียกร้องประชาธิปไตยที่เป็นสากลจะดีกว่า”
วันที่ 17 ตุลาคม ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ( TDRI) กล่าวในเวทีเสวนา Fact & Fear ชุด ความกลัวในสังคมไทย ครั้งที่ 1 'กลัวผีประชานิยม' จัดโดย เว็บไซต์ www.aftershake.net และสถานีโทรทัศน์ Thai PBS ณ ห้องประชุมพันธุมดิษยมณฑล ชั้น 2 อาคาร KU HOME มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
ดร.วิโรจน์ หนึ่งในวิทยากรร่วมได้เริ่มต้นนำเสนอมุมมองประชานิยม โดยเห็นว่า ประชานิยมไม่ใช่ของไทย หากเปรียบเป็น "ผี"ก็ถือว่า เป็นผีที่คนไทยไม่รู้จัก เป็นผีที่ถูกนำเข้า หรือในอีกแง่ ประชานิยม เป็นผีที่เพิ่งถูกสร้าง เกิดมาไม่นานนี้เอง
“ไม่ว่าเราจะมองความหมายประชานิยมอย่างไร การเลือกตั้งครั้งหลังสุด แทบทุกพรรคการเมืองมีนโยบายที่คล้ายๆ กัน ตีตราได้อย่างไทยๆ ว่า ประชานิยม ขณะที่กลุ่มที่ไม่ชอบพรรคการเมือง ไม่ชอบการเลือกตั้ง ก็บอกว่า ไม่เอาประชานิยม”
สำหรับนโยบายการรักษาพยาบาลฟรี เรียนฟรี ดร.วิโรจน์ ชี้ว่า ในประเทศอย่างรัฐสวัสดิการก็มีนโยบาย เช่นนี้ แต่เขาไม่ได้ตีตราป้ายประชานิยม “การรักษาฟรี หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จึงไม่ได้หมายถึงว่า ต้องเป็นนโยบายประชานิยมเสมอไป”
นัก วิชาการทีดีอาร์ไอ ย้อนกลับไปสมัยรัฐบาลไทยรักไทย หรือรัฐบาลทักษิณ 1 ก็ไม่ได้ใช้คำว่า ประชานิยม ซึ่งขณะนั้นประชานิยมก็ไม่ได้มีภาพที่เป็นลบมาก “คำที่ถูกใช้ในเมืองไทย ผมมองว่า ไม่ใช่ populism แต่คือ popular นโยบายที่คนชอบ จากนั้นก็ถูกโยนเป็นประชานิยมหมด จึงเป็นภาพลบและถูกใช้โจมตีกันต่อๆ มา”
เมื่อถามถึงราคาของประชานิยม ตกลงดีหรือไม่ดี ดร.วิโรจน์ ชี้ว่า หากเราจะสนับสนุนนโยบายประชานิยม ต้องเป็นนโยบายที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจพอสมควร ซึ่งต้องถกเถียงกัน แต่ความยาก คือ ประชานิยมไม่มีแนวคิดหรือทฤษฎีที่ชัดเจนจะทำอะไร ทำให้มาตรการที่ออกมาจึงเบลอไปด้วย
“ความเบลอนี่เองทำให้นโยบายประชานิยมมีความเสี่ยงทางด้านการเงินการคลังของประเทศ”
ยกตัวอย่างเช่น นโยบายรับจำนำข้าว แม้มีจุดขายทางการเมือง แต่กลับไม่ได้ออกแบบมาอย่างรอบคอบ จำนำข้าวของไทยเป็นตัวอย่างที่รัฐบาลคิดเอาเอง ไม่มีการวางแผนขายข้าว ทำให้ในที่สุดแล้ว ปีแรกๆ ของโครงการนี้ไม่ได้ขายข้าวไปเลย และมีการขายข้าวรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ปลอมเกิดขึ้น
“จำนำข้าวเป็นโครงการใหญ่มาก แต่รัฐบาลยุคนั้นไม่มีแผนขายข้าว ซึ่งต้องขายข้าวให้เท่าผู้ส่งออกแต่ละรายรวมกัน นี่คือ ตัวอย่างนโยบายประชานิยมที่มีจุดขายทางเมือง แต่ไม่มีการวางแผนอย่างรอบคอบ กระทั้งมาเจอปัญหาขี่หลังเสือไม่มีทางลง เรียกว่า ทำไป คิดไป แก้ไป”
แล้วประชานิยมเป็นมาตรการทางเศรษฐกิจที่ดีหรือไม่ มีประสิทธิภาพ คุ้มค่าหรือไม่ ดร.วิโรจน์ มองว่า นโยบายประชานิยมแม้เป้าหมายทางการเมืองจะฟังดูดี แต่ราคาประชานิยม นับว่า เป็นราคาที่แพงสร้างภาระให้กับประเทศ
“ทุกวันนี้ประชานิยมเป็นคำที่เสีย ไปแล้ว การจะทวงคืนประชานิยมดีหรือไม่ ผมคิดว่ายาก ประชานิยมไม่ได้ดีเลอเลิศ ถึงขั้นไปทวงคืน ขอให้ก้าวข้ามประชานิยม และมาเรียกร้องประชาธิปไตยที่เป็นสากลจะดีกว่า”
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา วันที่ 17 ต.ค. 2558