โดย...ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน
ที่ประชุมคณะอนุกรรมการสิทธิชุมชน ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เมื่อวันที่ 13 ต.ค.2558 ได้พิจารณาข้อเท็จจริงกรณีความพยายามเพิกถอนพื้นที่สาธารณประโยชน์ป่าชุมชนบุญเรือง ต.บุญเรือง อ.เชียงของ จ.เชียงราย 3,021 ไร่ เพื่อตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรมตามนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ
จีระศักดิ์ อินทะยศ ชาวบ้าน อ.เชียงของ ฉายภาพปัญหาว่า ตามเอกสารสิทธิ์ของกระทรวงมหาดไทย (มท.) ซึ่งสำรวจเมื่อปี 2510 ได้ประกาศให้พื้นที่ป่าบุญเรือง 3,021 ไร่ เป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์เลี้ยงสัตว์ แต่จากเทคโนโลยีภาพถ่ายทางอากาศในปัจจุบันพบว่าพื้นที่แห่งนี้มีกว่า 3,700 ไร่ โดยที่ผ่านมามีความพยายามจะร้องขอให้ชาวบ้านยกผืนป่าทั้งหมดให้กับกรมธนารักษ์ เพื่อเปิดใช้เอกชนเช่าต่อตามนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ
จีระศักดิ์ บอกว่า พื้นที่แห่งนี้เป็นป่าชุ่มน้ำสมบูรณ์ที่ใหญ่ที่สุดในลุ่มน้ำอิง มีระบบนิเวศเชื่อมโยงกับแม่น้ำโขงคือปลาจากแม่น้ำอิงกว่า 80 ชนิด จะอพยพขึ้นมาวางไข่ในแม่น้ำโขง ที่ผ่านมาชาวบ้านใช้ประโยชน์และร่วมกันรักษากันมายาวนาน หากป่าผืนนี้ถูกทำลายไปจะกระทบต่อวิถีชาวบ้านจนเกิดความเดือดร้อนอย่างรุนแรง
นอกจากนี้ ที่ผ่านมาผืนป่าแห่งนี้ทำหน้าที่คอยรับน้ำตามธรรมชาติในช่วงฤดูฝน ซึ่งหากมีโครงการหรือนิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้นจะเป็นการตั้งขวาง ทางน้ำ มีการคำนวณว่าหากระดับน้ำสูง 1 เมตร ท่วมเต็มทั้งพื้นที่ จะมีปริมาณถึง 6 ล้านลูกบาศก์เมตร คำถามคือหากมีการสร้างโครงการกั้น น้ำเหล่านี้จะไหลไปไหน
“ชาวบ้านได้ร่วมกันสำรวจพื้นที่ พบว่ามีต้นไม้ใหญ่เฉลี่ยไร่ละ 121 ต้น ยืนยันว่าที่นี่คือป่าสมบูรณ์ ไม่ใช่ป่าเสื่อมโทรมหรือทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์”จีระศักดิ์ พูดชัด
อัจฉรา เทพไชย สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง ตัวแทน ผวจ.เชียงราย อธิบายว่า จ.เชียงราย ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเฟส 2 ครอบคลุม 3 อำเภอ 21 ตำบล มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อจัดหา พื้นที่ระดับจังหวัด โดยมี รองผวจ.เชียงราย เป็นประธาน และกรมโยธาธิการ เป็นเลขานุการ ทำหน้าที่หาพื้นที่ของรัฐ อาทิ ป่าสงวน ที่ดิน สปก.เพื่อใช้ดำเนินการตามนโยบาย โดยจะพิจารณาว่าขนาดพื้นที่เหมาะสมหรือไม่
“เบื้องต้นได้นำเสนอพื้นที่ป่า ต.บุญเรือง จำนวน 3,021 ไร่ เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) เพื่อพิจารณาความเหมาะสมอีกครั้ง ยืนยันว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการประกาศว่าจะใช้ผืนป่าบุญเรืองดำเนินการ เราเพียงแต่เสนอพื้นที่แห่งนี้ให้กับส่วนกลางพิจารณาเท่านั้น”อัจฉรา ระบุ
อัจฉรา ย้ำว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้พื้นที่ จึงยังไม่มีการกำหนดการส่งเสริมการลงทุนใดๆ ยืนยันว่าได้แนบความคิดเห็นและข้อกังวลของชาวบ้านประกอบกับข้อเสนอไปยัง กนพ.แล้ว
เก่งกาจ ศรีหาสาร ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า สภาพพื้นที่ตามรายงานคือเป็นที่ราบลุ่มต่ำติดแม่น้ำอิงประมาณ 3,000 ไร่ ไม่ได้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ไม่ได้เป็นป่าไม้ถาวร แต่เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์เลี้ยงสัตว์ มีลักษณะกายภาพเป็นหนองน้ำ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นดอน มีป่าไผ่ ปัจจุบันมีการปลูกพืชทางการเกษตร ปลูกมันสำปะหลัง มีการทำนา ที่สำคัญจากทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับประเทศ พบว่าพื้นที่แห่งนี้ไม่ได้อยู่ในทะเบียน
“สภาพปัจจุบันพบว่าค่อนข้างเสื่อมโทรมจากการกระทำของมนุษย์ ปัญหาคือความเข้าใจของชาวบ้านต่อโครงการรัฐน้อย ส่งผลให้เกิดการต่อต้าน”เก่งกาจ ยืนยัน
เก่งกาจ สรุปประเด็นว่า พื้นที่แห่งนี้ไม่เป็นพื้นที่ป่าและไม่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ แต่เป็นพื้นที่ที่ถูกกันไว้เพื่อเลี้ยงสัตว์เท่านั้น
อิศรพันธ์ กาญจนเรขา สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนการที่นำเสนอโครงการเท่านั้น ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าพื้นที่แห่งนี้จะเกิดนิคมอุตสาหกรรมขึ้นหรือไม่ แต่ในความเห็นของ สผ.ผ่านการศึกษาระบบนิเวศของนักวิชาการพบว่าพื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งรองรับน้ำที่สำคัญ ดังนั้นหากจะตั้งนิคมอุตสาหกรรมจริง จำเป็นต้องพิจารณาผืนป่าแห่งนี้ในฐานะระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำและเป็นแหล่งรองรับน้ำ โดยต้องพิจารณาเรื่องน้ำท่วมและการกั้นขวางเส้นทางน้ำเป็นสำคัญ
หาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิการจัดการน้ำแบบบูรณาการ ในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญ ยืนยันว่า มีโอกาสลงพื้นที่ป่าบุญเรืองและได้พบว่าพื้นที่แห่งนี้มีเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำโดยธรรมชาติ ซึ่งมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 พ.ย.2552 ได้นิยามพื้นที่ชุ่มน้ำครอบคลุมนอกเหนือจากที่ประกาศไว้ในทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับประเทศ คือรวมถึงหนองน้ำ บึง ทางน้ำไหลผ่าน พื้นที่น้ำท่วมขัง ทะเล ชายฝั่งชายหาดด้วย
“ถ้าดำเนินการในพื้นที่แห่งนี้จะขัดต่อมติครม.ซึ่งห้ามหน่วยงานใดๆ ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ชุ่มน้ำโดยเด็ดขาด ต้องสงวนไว้เพื่อเป็นแหล่งน้ำสาธารณะ”หาญณรงค์ ระบุชัด
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิชุมชน สรุปว่า ตามที่รับฟังข้อมูลพบว่า อ.เชียงของ โชคดีที่ยังไม่ถูกประกาศตามอำนาจมาตรา 44 จึงยังสามารถกลับตัวได้ อยากฝากไว้ว่านโยบายการพัฒนาต้องไม่ทำร้ายชาวบ้าน และหากจังหวัดไม่มีพื้นที่ที่เหมาะสมก็ต้องแจ้งรัฐบาลไปว่าไม่มีพื้นที่รองรับ
“ถ้าชาวบ้านไม่เอาด้วยนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องที่ดินและการมีส่วนร่วมของประชาชน ถ้าไม่มีแผ่นดินคงจะลุกเป็นไฟ” นพ.นิรันดร์ กล่าว
ทั้งนี้ กสม.จะทำหนังสือถึง กนพ.และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพราะเป็นประเด็นความเดือดร้อนที่เร่งด่วน และจะทำรายงานฉบับสมบูรณ์เสนอไปอีกครั้ง
อย่าง ไรก็ตาม ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม ตัวแทนชาวบ้าน ต.บุญเรือง ที่เข้าร่วมประมาณ 10 คน ต่างรู้สึกตกใจ เพราะเป็นครั้งแรกที่ได้ทราบว่าทาง จ.เชียงราย ได้คัดเลือกพื้นที่ป่าบุญเรืองให้ กนพ.พิจารณา โดยก่อนหน้านี้ชาวบ้านในพื้นที่เข้าใจตามที่บริษัทที่ปรึกษาฯ ชี้แจงว่า เมื่อชาวบ้านไม่ยอมให้ใช้พื้นที่ป่าก็จะจัดหาพื้นที่ใหม่ไปนำเสนอ
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ วันที่ 13 ต.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.