โครงการชดเชยส่วนต่างรายได้เกษตรกรชาวสวนยางอืด เหตุคณะทำงานพิจารณารายละเอียดโครงการประชุมน้อยครั้ง "อุทัย สอนหลักทรัพย์" หวั่นโครงการลากยาวจากการใช้เวลาในการขึ้นทะเบียนเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรทั่วประเทศ เพื่อคัดเลือกตัวแทนแต่ละภาคเป็นบอร์ด กยท.มาพิจารณาโครงการนี้
นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงโครงการชดเชยส่วนต่างรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยางว่า ได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณารายละเอียดของโครงการนี้ที่มีเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการ เกษตร (สศก.) เป็นประธานแล้ว แต่การพิจารณาค่อนข้างช้า หากมีการเปลี่ยนเลขาธิการ สศก. ก็ควรมอบหมายให้รองเลขาธิการฯ สศก.ประชุมพิจารณาแทน ที่ผ่านมามีการประชุมครั้งเดียว ควรจะรีบดำเนินการ เพราะชาวสวนยางทั่วประเทศร้องเรียนมามากเรื่องราคายางตกต่ำ อยากให้มีการชดเชยส่วนต่างราคาตลาดกับต้นทุนการผลิตโดยเร็ว ซึ่งคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ก็อนุมัติเรื่องนี้มาแล้ว
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องเสนอเข้าสู่คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ว่า จะอนุมัติหรือไม่เป็นขั้นตอนสุดท้าย แต่ปัญหาคือ บอร์ด กยท.ถาวรยังไม่ได้มีการแต่งตั้ง เนื่องจากมีการคัดค้านว่าการเลือกตัวแทนเกษตรกรจากแต่ละภาคทางอ้อมไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจะต้องมีการขึ้นทะเบียนสถาบันเกษตรกรให้ถูกต้องตามกฎหมายใหม่ รวมทั้งการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ประมาณ 6 ล้านคน คนกรีดยางอีก 3 ล้านคนก่อน รวมแล้วอาจใช้เวลามากกว่า 40 วัน ที่คณะกรรมการ กยท.ชั่วคราวบริหารอยู่ ซึ่งบอร์ด กยท.ชั่วคราวส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ คงไม่กล้าอนุมัติเรื่องโครงการชดเชยส่วนต่างราคายาง เพราะกลัวมีความผิด หากเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนหลายรายไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดิน
ผู้ สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า เมื่อต้นเดือนต.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มเครือข่ายชาวสวนยางภาคใต้ ได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมีปลัดกระทรวงเกษตรฯเป็นตัวแทนรับข้อเรียกร้องใน 3 ประเด็นหลักคือ 1.ปัญหาราคายางตกต่ำ 2.การประกาศวิธีการขึ้นทะเบียนเกษตรกร และ 3.การแต่งตั้งบอร์ด กยท. ซึ่งนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรฯกล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯมีนโยบายให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก โดยเฉพาะเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของบอร์ด กยท. ซึ่งต้องทำตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวดเพื่อให้ทุกคนเชื่อมั่น ทำให้โปร่งใสที่สุด นอกจากการตั้งคณะกรรมการบอร์ดเพื่อมาดูปัญหาเรื่องราคายางแล้ว ก็ต้องมีการพูดคุยเรื่องการขายยาง โดยจะไปพูดคุยกับกลุ่มใหญ่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เพื่อผลักดันให้เกิดการซื้อขายยางพาราอย่างเป็นธรรมมากขึ้น
ด้านนายเชาว์ ทรงอาวุธ รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ปฏิบัติงานในกิจการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเด็นเรื่องที่จะให้มีการเร่งรัดให้ประกาศการขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง เรื่องของการประกาศเงื่อนไขต่าง ๆ ประธานบอร์ด กยท. ได้มีการลงนามประกาศแล้วเมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่ผ่านมา ขณะนี้รอการประกาศในราชกิจจานุเบกษา คาดว่าประมาณวันที่ 15 ต.ค.นี้ ซึ่งฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ กยท.ได้เตรียมระบบเรียบร้อยแล้ว เมื่อประกาศราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อย เกษตรกรสามารถขึ้นทะเบียนได้ทันที
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 12 ต.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.