ไม่ว่ากระแสข่าวร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ...ซึ่งก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งการให้นำกลับมาทบทวน ขณะนี้กระทรวงการคลังศึกษาทบทวนชั่งน้ำหนัก
ผลกระทบทั้งด้านบวกและลบเสร็จเรียบร้อย พร้อมชงเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รอบใหม่เร็ว ๆ นี้ หรือข้อมูลหลุดรอดออกมาโดยบังเอิญ ทำให้ รมว.คลัง อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ต้องรีบออกโรงแจงทันควันว่า ยังไม่ได้รับรายงานผลการศึกษาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้และย้ำว่า การทบทวนร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน และไม่ได้กำหนดกรอบเวลาชัดเจนว่าต้องแล้วเสร็จเมื่อใด แต่จะพยายามให้ชัดเจนภายในปีนี้ เพื่อลดความวิตกกังวลของประชาชน
เป็นการตัดไฟแต่ต้นลม ก่อนปมภาษีที่ดินจะบานปลาย ทำให้สาธารณชนตื่นตระหนก เพราะรัฐบาลเคยได้รับบทเรียนช่วง ที่พยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯรอบแรก ยุคที่นายสมหมาย ภาษี นั่งเก้าอี้ รมว.คลัง และเจอแรงต้านจากคนชั้นกลาง รวมทั้งเจ้าของที่ดินรายเล็กรายน้อยต้องยอมถอยมาแล้ว โดยเฉพาะประเด็นการจัดเก็บภาษีจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประเภทที่อยู่อาศัย ซึ่งจะส่งผลกระทบประชาชนทั่วไปในวงกว้าง ครั้งนี้จึงต้องคิดหนัก ป้องกันพลาดซ้ำสอง
พิจารณาสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ ที่ผ่านการศึกษาทบทวนจากกระทรวงการคลังรอบใหม่ แม้มีการปรับเปลี่ยนอัตราภาษีโดยเน้นลดภาระเจ้าของที่ดินหรือเจ้าของ ทรัพย์สิน เพื่อลดแรงต้าน ขณะเดียวกันก็กำหนดอัตราการจัดเก็บภาษีจากเจ้าของที่ดินรายเล็ก หรืออีกนัยหนึ่งคือคนระดับกลาง ล่างในอัตราที่ต่ำ และไม่สร้างภาระให้เจ้าของที่ดินรายใหญ่มากเกินไปอาทิ อัตราเพดานภาษีซึ่งจะกำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา โดยที่ดินเกษตรกรรม 0.2% ที่อยู่อาศัย 0.3% ที่ดินอื่น ๆ 1% และที่ดินที่ทิ้งรกร้างว่างเปล่าหรือ ไม่ทำประโยชน์ ปีที่ 1-3 เสียภาษี 1% ปีที่ 4-6 ภาษี 2% และปีที่ 7 ขึ้นไป เสียภาษี 3% โดยที่ดิน เกษตรกรรม มูลค่า (ราคากลางประเมินทุนทรัพย์) ไม่เกิน 2 ล้านบาท จะเสียภาษีในอัตราขั้นต่ำที่ 0.01% หรือ 200 บาท/ปี ที่ดินมูลค่าตั้งแต่ 100 ล้านบาท เสียภาษี 0.1% หรือ 1.56 แสนบาท/ปี
ที่ดิน ประเภทที่อยู่ อาศัย มูลค่า 0-2 ล้านบาท เสียภาษีอัตราขั้นต่ำ 0.03% หรือ 600 บาท/ปี ที่ดินมูลค่า 100 ล้านบาท เสียภาษี 1.63 แสนบาท/ปี ที่ดินประเภทพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม มูลค่า 0-2 ล้านบาท เสียภาษี 0.1% หรือ 2 พันบาท/ปี ที่ดินมูลค่า 100 ล้านบาท เสียภาษี 2.59 แสนบาท/ปี เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ช่วง 3 ปีแรกจะยกเว้นจัดเก็บภาษีจากที่อยู่อาศัย และที่ดินเกษตรกรรม
รัฐบาลคาดหวังว่าหากสามารถผลักดันประกาศจัดเก็บ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ นอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาโครงสร้างภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งล้าสมัยและไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว ยังช่วยเพิ่มรายได้ให้กับท้องถิ่น โดย 3 ปีแรก ซึ่งจะมีการยกเว้นจัดเก็บภาษีจากสิ่งปลูกสร้างสำหรับที่ดินประเภท ที่อยู่ อาศัยและที่ดินเกษตรกรรม จะทำให้ท้องถิ่นมีรายได้เพิ่ม 8.2 หมื่นล้านบาท จากนั้นตั้งแต่ปีที่ 4 เป็นต้นไป ท้องถิ่นจะมีรายได้เพิ่มเป็น 9.7 หมื่นล้านบาท
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ล่าสุด ได้กำหนดแนวทางการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นจัดเก็บแบบขั้นบันได ลักษณะเดียวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ ที่ดินราคาต่ำจะเสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าที่ดินราคาแพง เพื่อสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ตามนโยบายของ รมว.คลัง ที่ต้องการประนีประนอมเพื่อลดกระแสต่อต้าน
ขณะที่นายทนง พิทยะ อดีต รมว.คลัง ชี้ว่า การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับผู้ที่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง ควรเป็นการจัดเก็บของหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อเป็นค่าบำรุงพัฒนาท้องถิ่น และต้องจัดเก็บในอัตราที่แตกต่างกันไปตามความเจริญในแต่ละพื้นที่ ไม่ควรจัดเก็บเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ พื้นที่ที่มีรายได้ต่ำควรจัดเก็บในอัตราที่ต่ำ พื้นที่ที่มีรายได้สูงก็ควรจัดเก็บในอัตราที่สูงขึ้น ไม่เช่นนั้นอาจเกิดปัญหาที่ตามมาได้
ยกตัวอย่างสหรัฐ ในรัฐที่เป็นเมืองอุตสาหกรรมมีตึกสูง ๆ จำนวนมาก ผู้คนอาศัยอยู่จำนวนมาก ต้องใช้งบประมาณดูแลค่อนข้างมาก ก็เก็บภาษีในระดับที่สูง ส่วนที่อยู่นอกเมืองจะเก็บภาษีในระดับที่ต่ำลง เพื่อให้ประชาชนย้ายกลับไปอยู่อาศัย ในเมืองที่ต้องการให้กลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมจะยกเว้นภาษีให้ เช่น มิสซิสซิปปี มีการยกเว้นภาษีให้ต่างชาติเข้ามาตั้งโรงงานอุตฯ ทำให้เกิดการจ้างงาน และสร้างความเจริญให้คนในพื้นที่ เป็นต้น
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 11 ต.ค. 2558