รัฐเล็งจ้างชาวนาปลูกพืชอื่นแก้ภัยแล้ง
“สมคิด” ผุดไอเดียสร้างสมการ X+Y+Z จัดรายได้ให้ชาวนา ทั้งรายได้จากค่าเช่าที่ดิน จ้างปลูก และขายสินค้าแบ่งเงินกัน หวังเป็นต้นแบบให้ชาวนาปลูกพืชชนิดอื่นแทนปลูกข้าวช่วงภัยแล้ง ชี้ส่งออกเปราะบาง พึ่งพิงอย่างเดียวไม่ได้ หันสร้างเข้มแข็งเศรษฐกิจท้องถิ่น เดินหน้าหนุนสร้างนวัตกรรมและโมเดลธุรกิจใหม่
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยนับแต่นี้เป็นต้นไปไม่สามารถพึ่งการส่งออกเพียงอย่างเดียวได้อีกต่อไป โดยในอีก 3 ปีข้างหน้าเศรษฐกิจไทยจะไม่ได้เห็นการส่งออกที่เติบโตได้ 5%หรือ 10% เหมือนในอดีต ดังนั้นจะต้องมีบางสิ่งขึ้นมาชดเชยแรงฉุดของการส่งออก เช่น ความเข้มแข็งของเศรษฐกิจท้องถิ่นที่จะต้องให้เกิดการผลิต การท่องเที่ยว วิสาหกิจชุมชน ซึ่งในอดีตเคยพูดกันมามากแล้ว
แต่ไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ เพราะว่าต่างคนต่างทำ นอกจากนี้ความสามารถทางนวัตกรรมทางสินค้าไทยยังต่ำมาก ซึ่งเศรษฐกิจจะก้าวหน้าไปได้ต้องมีนวัตกรรม รวมทั้งจะต้องมีโมเดลทางธุรกิจใหม่ๆ เป็นนวัตกรรมอีกแบบไม่ใช่เฉพาะตัวสินค้า โมเดลในการทำธุรกิจสมัยใหม่เป็นนวัตกรรมเชิงความคิดในการทำธุรกิจ ซึ่งการทำธุรกิจในโลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตแล้ว
“การส่งออกของไทยไม่ใช่เพิ่งจะมาถดถอย ตัวเลขย้อนกลับไปเมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมา การส่งออกเคยเติบโตปีละ 20% ขึ้นไป และมาอีกช่วงเติบโตประมาณ 15-20% อีกช่วงประมาณปี 2554-2555 เริ่มเติบโตมาอยู่ที่ 15% และหล่นลงมาเหลือ 2.9% หลังจากนั้นในแต่ละเดือนจะมีขึ้นมีลง สลับบวกลบอยู่ 2 ปีเต็ม มาปีนี้เจอเข้าไป 2 ดอก เศรษฐกิจโลกไม่ดี ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตกต่ำ มีผลให้การส่งออกตั้งแต่ต้นปีนี้ติดลบมาตลอดจนคาดว่าสิ้นปีนี้จะติดลบประมาณ 5% โดยเฉลี่ย สอดคล้องกับตัวเลขการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่เคยเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก อีกช่วง 5-8% หลังปี 2551 เกิดวิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐฯ จีดีพีลงมา แล้วขึ้นไปใหม่ด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสลับเป็นฟันปลา สุดท้ายก็เหลือประมาณ 0.7-0.9%ในปีที่ผ่านมา สะท้อนอะไรบางอย่างว่า ฐานะโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะการส่งออกเริ่มเปราะบาง ไม่สามารถอาศัยการส่งออกอย่างเดียวได้ในอนาคตข้างหน้า”
นายสมคิดกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมามักจะพูดถึงการยกระดับ สร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้าเกษตรเสมอ โดยมีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นแม่บท แต่หลายสิบปีที่ผ่านมามีแต่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เกิดภัยแล้งก็ให้เงิน ไม่เคยมองว่าสินค้าบางอย่างต้องปลูกน้อยลง ให้อุปสงค์ (ดีมานด์) และอุปทาน (ซัพพลาย) พอๆกันจะได้ราคาดี แต่วันนี้พอมีข่าวว่าจะแล้ง รัฐบาลก็ห่วงใยเกรงว่าชาวนาปลูกข้าวนาปรังไปแล้วจะเกิดการเสียหายมากขึ้นเพราะไม่มีน้ำส่งให้ แต่ชาวนาบางพื้นที่ก็โกรธ เพราะมีคนไปยุยงว่า รัฐบาลไม่เห็นคุณค่าจะให้เลิกปลูกข้าวแต่ไม่อธิบายว่าจริงๆแล้วรัฐบาลไม่ได้ให้เลิกปลูก
“รัฐบาลจะพยายามหาทางช่วยชาวนา โดยจูงใจให้ปลูกพืชอย่างอื่นที่จะสร้างรายได้ให้ ซึ่งการที่จะให้ชาวนาปลูกพืชอย่างอื่นชาวนาจะไม่กล้า และไม่มีทุน รวมทั้งกลัวว่าปลูกไปแล้วเจ๊งใครจะรับผิดชอบ ซึ่งเรื่องนี้มีการคุยกันในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยมีไอเดียใหม่ๆที่จะไปเช่าที่ดินของชาวนาในพื้นที่น้ำน้อยมาก ปลูกข้าวไม่ขึ้น ชาวนาจะมีรายได้เป็นค่าเช่าเท่ากับ x และสนับสนุนให้เมล็ดพันธุ์พืชบางชนิดทดลองปลูกในช่วงแล้ง และจ้างชาวนาให้ปลูก มีรายได้ค่าจ้างเท่ากับ y ปลูกแล้วได้ผลผลิต จะมีรัฐบาล เอกชน ภาคประชาชน โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์หาทางไปเปิดร้านจำหน่ายหรือเอาต์เลตให้ เพื่อให้มีที่วางสินค้าขายที่ปลูกขึ้นมาได้ เช่น ผักชี มีรายได้จากการจำหน่ายมาแบ่งกัน เป็น z ชาวนาจะมีรายได้เท่ากับสมการ x+y+z เป็นรายได้ที่จะทำให้ชาวนาอยู่ได้”
สำหรับวิธีการช่วยเหลือดังกล่าว จะดีกว่าการให้เงินช่วยชาวนาแบบให้ฟรี ซึ่งให้ไปแล้วไม่เกิดอะไรขึ้น วิธีนี้จะเกิดประโยชน์ที่ทำให้ชาวนาเห็นว่าปลูกพืชชนิดอื่นแล้วก็อยู่ได้ และไม่มีความเสี่ยง ช่วยกระตุ้นให้ชาวนารู้จักการปลูกพืชชนิดอื่น โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปช่วยยกระดับสินค้าให้มีคุณภาพ สร้างมูลค่า แปรรูปให้มากขึ้น
ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 6 ต.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.