7 ต.ค. 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ส่งหนังสือเลขที่ สม003/1983 สม003/1984 และสม003/1985 เรื่องขอประสานความร่วมมือในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนกรณีชุมชนคลองไทรพัฒนา ถึงประธานกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฏร์ธานี และเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.)
หนังสือดังกล่าวระบุถึงความชอบธรรมในการเข้าอยู่อาศัยของเกษตรกลุ่มสหกรณ์สหพันธ์เกษตรภาคภาคใต้ (สกต.) ที่เข้ามาอยู่อาศัย และทำกินในพื้นที่ชุมชนคลองไทรพัฒนา ซึ่งเป็นที่ดินของ สปก. ซึ่งได้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินกับรัฐบาล และหน่วยงานราชการมาโดยตลอด จนกระทั่งรอขึ้นทะเบียนโฉนดชุมชน ทว่ายังไม่สามารถดำเนินการส่งมอบโฉนดชุมชนให้กับชุมชนได้ เนื่องจาก สปก. ชี้แจงว่า พื้นที่ดังกล่าวยังคงอยู่ระหว่างการฟ้องร้องดำเนินคดีกับ บริษัท จิวกังจุ้ย พัฒนา จำกัด ซึ่งบุกรุกพื้นที่ของ สปก. จำเป็นต้องรอให้การดำเนินคดีถึงที่สุดเสียก่อน อย่างไรก็ตาม ศาลฏีกาได้อ่านคำตัดสินกรณี สปก. ฟ้องขับไล่ บริษัทฯ และบริวาร ให้ออกจากพื้นที่ เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2557 โดยมีคำวินิจฉัยให้บริษัทฯ และบริวาร ออกจากพื้นที่ อย่างไรก็ตาม สปก. กลับเร่งบังคับคดีขับไล่ให้ชาวบ้านชุมชนคลองไทรพัฒนาออกจากพื้นที่ด้วย
คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน เห็นว่า สปก. ควรเร่งดำเนินการพิจารณาออกโฉนดชุมชนตามขั้นตอนที่ทางเกษตรกรกลุ่มสหกรณ์สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ได้ยื่นขออนุญาตไว้แล้ว โดยเร่งด่วน เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลที่ประกาศไว้ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
รายละเอียดของหนังสือมีดังนี้
ตามที่มีการเรียนเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมชี้แจงข้อเท็จจริงต่อคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2558 ณ ห้องประชุม สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อประกอบการพิจารณาตรวจสอบและติดตามการแก้ไขปัญหากรณีสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) จะดำเนินการบังคับคดีเด็ดขาดกับกลุ่มเกษตรกรสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ให้ออกจากพื้นที่ชุนชนคลองไทรพัฒนา หมู่ที่ 2 ตำบลไทรทอง อำเภอชัยบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี
จากการพิจารณาตรวจสอบข้อเรียนร้องและการรับฟังข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคณะอนุกรรมการฯ เห็นว่า การพิจารณาของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในการดำเนินการบังคับคดีเด็ดขาดให้กลุ่มสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ออกจากพื้นที่ชุมชนคลองไทรนั้น เป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรม ไม่สอดคล้องกับมติข้อตกลงระหว่างรัฐบาลและประชาชน และอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงในพื้นที่ โดยมีข้อเท็จจริงและเหตุผลรองรับ ดังนี้
1.สมาชิกกลุ่มสหกรณ์การเกษตรสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ จำกัด เป็นประชาชนที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐจัดสรรที่ดินในลักษณะกรรมสิทธิ์ร่วมหรือโฉนดชุมชน และเป็นกลุ่มประชาชนที่ได้รับการอนุญาตผ่อนผันจากรัฐบาลให้อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ตามปกติในที่ดินดังกล่าวไปพลางก่อนในระหว่างดำเนินการแก้ไขปัญหาตามแนวนโยบายการจัดสรรที่ดินของรัฐบาลจะแล้วเสร็จ โดยชุมชนคลองไทรพัฒนาได้รับการพิจารณาเห็นชอบจากคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน(ปจช.) ว่าเป็นชุมชนที่คุณสมบัติและความพร้อมในการดำเนินโครงการโฉนดชุมชน และอยู่ระหว่างการพิจารณาให้ใช้พื้นที่ตามโครงการโฉนดชุมชน กลุ่มสหกรณ์การเกษตรสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้จึงไม่ใช่ผู้บุกรุกพื้นที่ และไม่ใช่บริวาทของบริษัท จิวกังจุ้ย พัฒนา จำกัด ดังที่ได้มีคำวินิจฉัยของศาลจังหวัดกระบี่และศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในคดีหมายเลขดำที่ 167/2554 คดีหมายเลขแดงที่ 1900/2556 เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2556 ดังนั้น การที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะบังคับคดีให้ออกจากพื้นที่โดยกล่าวหาว่าเป็นบริวารของบริษัท จิวกังจุ้ย พัฒนา จำกัด จึงเป็นการกล่าวหาที่ขาดหลักนิติธรรม
2.การดำเนินการดังกล่าวของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมขัดแย้งกับมติของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งเพื่อเป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน โดยมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดแนวทางและมาตรการในการแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ตลอดจนเร่งรัดและติดตามผลการดำเนินการของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เมื่วันที่ 23 มรกราคม 2558 คณะกรรมการฯ ได้มีมติเห็นชอบกรอบแนวทางการแก้ไขปัญหาโดยไม่ต้องกระทบต่อวิถีชีวิตปกติของประชาชน และในระหว่างการแก้ไขปัญหาขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชะลอการดำเนินการใดๆ ที่อาจเป็นมูลเหตุให้เกิดความขัดแย้ง หรืออาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนในการดำเนินชีวิตตามปกติสุข นอกจากนี้ ให้สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินรัฐตามวิถีปกติไปพลางก่อน จนกว่ากระบวนการพิจารณาของส่วนราชการหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่ตามแต่กรณีจะมีผลเป็นที่ยุติต่อไป ตลอดจนการเห็นชอบกรอบแนวทางการดำเนินการแก้ไข้ปัญหาต้องสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล เช่น คำแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยเฉพาะเรื่องที่ดิน กล่าวคือ เร่งรัดจัดสรรที่ดินให้แก่ผู้ยากไร้ในลักษณะสิทธิร่วมในการจัดการที่ดินของชุมชนไม่ใช่กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล
ดังนั้น การที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมไม่อนุญาตให้กลุ่มสหกรณ์การเกษตรสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ จำกัด อยู่นพื้นที่ชุมชนคลองไทรพัฒนา และบังคับคดีเด็ดขาดออกจากพื้นที่ดังกล่าว จึงเป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามมติคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม และไม่สอดคล้องนโยบายรัฐบาลและข้อตกลงระหว่างรัฐบาลกับประชาชนที่ได้อนุญาตผ่อนผันให้อยู่ในพื้นที่ไปพลางจนกว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้
3.พื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมดังกล่าวซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 1,900 ไร่เศษ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่จังหวัดสุราษฏร์ธานีและจังหวัดกระบี่บางส่วน ได้มีปัญหากลุ่มนายทุนครอบครองทำประโยชน์และซื้อขายที่ดินอย่างผิดกฎหมายมาโดยตลอด แต่หน่วยงานของรัฐไม่สามารถแก้ไขปัญหาหรือลงโทษปรามปราบผู้กระทำผิดได้ ทั้งยังมีปัญหาอิทธิพลในพื้นที่และคุกคามข่มขู่ชาวบ้านจนทำให้ชาวบ้านที่มาอาศัยเรียกร้องสิทธถูกลอบสังหารเสียชีวิตถึง 4 ราย สำนักงานการปฏิรูปทที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจึงควรเร่งรัดการจัดสรรที่ดินแก่เกษตรกรและสถาบันการเกษตร เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิใช้ประโยชน์จากที่ดินโดยถูกต้องตามกฎหมาย และแก้ไขปัญหาการแย่งชิงที่ดินของรัฐ
ทั้งนี้ ปรากฎการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการฯ ว่าพื้นที่ประมาณ 800 ไร่เศษ ในพื้นที่หมู่ที่ 2 ตำบลไทรทอง อำเภอชัยบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งชุมชนได้ยื่นขอออกโฉนดชุมชนตั้งแต่ปี 2553 และอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุญาตให้ใช้พื้นที่ตามโครงการโฉนดชุมชน โดยก่อนหน้านี้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมชี้แจงว่า เป็นพื้นที่ซึ่งได้ดำเนินการฟ้องคดีทางศาลเพื่อขับไล่ผู้บุกรุกที่เป็นผู้ประกอบการสวนปาล์มซึ่งถือครองพื้นที่โดยมิชอบ ดังนั้นจึงไม่อาจพิจารณาอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อดำเนินโครงการโฉนดชุมชนในขณะนั้นได้ จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ดังนั้น เมื่อปรากฎว่า ปัจจุบันสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมชนะคดีถึงที่สุดแล้ว และประชาชนมิได้บุกรุกครอบครองพื้นที่อื่นนอกเหนือจากพื้นที่สำรวจเพื่ออกโฉนดชุมชน การอาศัยอยู่ในพื้นที่จึงมิได้เป็นอุปสรรคในการจัดสรรที่ดินตามแนวทางโฉนดชุมชนแต่อย่างใด จึงไม่มีเหตุผลหรือความจำเป็นที่จะต้องขับไล่ประชาชนออกจากพื้นที่ แต่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมควรพิจารณาออกโฉนดชุมชนตามขั้นตอนที่ได้ยื่นขออนุญาตไว้แล้วโดยเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว
ในการนี้ คณะอนุกรรมการฯ เห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชน จึงประสานมายังท่านเพื่อพิจารณานำกรณีปัญหาดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม และขอให้มีการพิจารณาผ่อนผันให้กลุ่มสหกรณ์การเกษตรสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ จำกัด อยู่ในพื้นที่จนกว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการจัดสรรที่ดินในรูปแบบของสถาบันเกษตรกรหรือการใช้ประโยชน์ในลักษณะโฉนดชุมชนตามที่ได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากคณะกรรมการประสานงานเพื่อจักให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) ต่อไป
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการ หากผลเป็นประการใดกรุณาแจ้งไปยังคณะอนุกรรมการฯ และขอบคุณในความร่วมมือของท่านมา ณ ที่นี้
ข้อมูลชุมชนคลองไทรพัฒนา ชุมชนคลองไทรพัฒนาตั้งอยู่ในพื้นที่ของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ชาวบ้านเริ่มเข้ามาอยู่ตั้งแต่ปี 2551 ปัจจุบันมีเกษตรกรอาศัยอยู่ 69 ครัวเรือน แต่เดิมพื้นที่นี้มีบริษัทจิวกังจุ้ยพัฒนา จำกัด เข้าใช้ประโยชน์ โดยการยึดครองพื้นที่ป่าสงวน ป่าปากหมาก ป่าปากพัง ตั้งแต่ปี 2528 ต่อมามีการประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในปี 2537 แต่ ส.ป.ก. ไม่สามารถนำมาจัดสรรให้กับเกษตรกรได้ เนื่องจากบริษัทไม่ยอมย้ายออกจากพื้นที่ จนกระทั่งมีการฟ้องคดีความโดย ส.ป.ก. เป็นโจทก์ฟ้องบริษัทให้ออกจากพื้นที่และชนะคดีในศาลชั้นต้นเมื่อปี 2550 โดยศาลสั่งให้บริษัทออกจากพื้นที่ของ ส.ป.ก. แต่บริษัทยื่นอุทธรณ์ ขณะนี้คดีสิ้นสุดแล้ว เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2557 ศาลสั่งให้บริษัทออกนอกพื้นที่ แต่ถึงปัจจุบันยังไม่การบังคับคดีให้บริษัทออกไป ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2558 ส.ป.ก.ส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยระบุให้เร่งดำเนินการบังคับคดีกับบริษัท จิวกังจุ้ยพัฒนา และบริวาร พร้อมด้วยสมาชิกชุมชนคลองไทรพัฒนา เนื่องจากเป็นผู้บุกรุก โดยระบุความจำเป็นว่า ต้องการจัดการพื้นที่อย่างเป็นธรรมเพื่อเกษตรกรรายอื่นๆ ด้วย ความชอบธรรมการเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ 1. คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 71 / 52 แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย สั่ง ณ วันที่ 9 มีนาคม 2552 ลงนามโดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีมติเห็นชอบให้ผ่อนผันให้ราษฎรได้อยู่อาศัยและทำกินในที่ดิน ตามวิถีชีวิตปกติไปพลางก่อนจนกว่าจะแก้ไขปัญหาแล้วเสร็จ 2. มติคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหา ของ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) วันที่ 11 มีนาคม 2553 ส.ป.ก. ได้มีมติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์สั่งการมายัง ส.ป.ก.ให้ผ่อนผันให้ชุมชนต่างๆ ที่เป็นสมาชิกของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ สามารถอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้จนกว่ากระบวนการฟ้องขับไล่บริษัทและนายทุนจะแล้วเสร็จ 3. มติคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มี โฉนดชุมชน (ปจช.) ให้ชุมชนคลองไทรพัฒนาเป็นพื้นที่นำรองโฉนดชุมชน วันที่ 6 ตุลาคม 2553 (สาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในสมัยนั้นเป็นประธาน ปจช.) 4. บันทึกขัอตกลง (MOU) ข้อ 1,3 ระหว่าง พีมูฟ กับ ตัวแทนรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2556 |
ที่มา : ประชาไท วันที่ 7 ต.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.