โดย...ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน
ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการประกาศใช้ “ผังเมืองรวมจังหวัด” และ “นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ” จาก จ.สระบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี นครนายก นครศรีธรรมราช เชียงราย สุรินทร์ กระบี่ หนองคาย ตาก แพร่ ชุมพร สตูล สระแก้ว เข้าร่วมประชุมโครงการเผยแพร่และกำหนดทิศทางการสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.การใช้ประโยชน์ที่ดินและการผังเมือง พ.ศ. ... เมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา
สำหรับสถานการณ์ภาพรวม จ.มุกดาหาร ถูกประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษ 11 ตำบล 3 อำเภอ อยู่ระหว่างขอขยายเพิ่มเป็น 5 อำเภอ แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ ปัญหาคือที่ดินราคาแพง จึงมีการยึดคืนพื้นที่สาธารณประโยชน์ 1,085 ไร่ไปใช้ ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนหมดทางสู้
จ.นครพนม ประกาศ 13 ตำบล 2 อำเภอ ที่ ต.อาจสามารถ ชาวบ้านถูกรัฐฟ้องร้องฐานบุกรุกพื้นที่ ทั้งที่ชาวบ้านอยู่ในพื้นที่มาไม่ตํ่ากว่า 80-90 ปี
จ.หนองคาย ประกาศ 13 ตำบล 2 อำเภอ และกำลังจะประกาศเพิ่มเป็น 26 ตำบล แกนนำชาวบ้านขยับไม่ได้เพราะถูกทหารสกัด มีแผนสร้างรถไฟทางคู่ผ่านกลางเมือง
จ.ตาก ประกาศ 14 ตำบล 3 อำเภอ เฉพาะ อ.แม่สอด มีการเวนคืนที่ป่ากว่า 2,000 ไร่ จ่ายชดเชยให้ไร่ละ 7,000-1.2 หมื่นบาท มีชาวบ้าน 97 ครอบครัวเดือดร้อน ทั้งที่ชาวบ้าน 97 ครอบครัว ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ 2,000 ไร่ สร้างรายได้ถึงปีละ 30 ล้านบาท
นอกจากนี้ ประเด็นร่วมของชาวบ้านทุกพื้นที่คือความเดือดร้อนจากผังเมือง ซึ่งถูกประกาศใช้ใหม่ อาทิ พื้นที่สีเขียวกลายเป็นสีม่วง พื้นที่เกษตรกรรมกลายเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม สุสาน-ป่าช้าถูกกำหนดเป็นพื้นที่โครงการพัฒนาชุมชนถูกรุกคืบจากนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือแม้แต่การกำหนดพื้นที่รองรับกิจการเหมืองแร่ โรงไฟฟ้า และการขุดเจาะปิโตรเลียม
ภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการอิสระด้านผังเมือง อธิบายว่า การปรับแก้ผังเมืองจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีความชัดเจนว่าสภาพในพื้นที่ได้เกิด “ความเปลี่ยนแปลง” ไปแล้วเท่านั้น ทว่าในข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคือมีความพยายามปรับแก้ทั้งๆ ที่พื้นที่ไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดๆ
“เมื่อปี 2556 มีการปรับแก้ผังเมืองรวม 9 จังหวัด ขณะนั้นมีการให้เหตุผลว่าผังเมืองเดิมเป็นอุปสรรคต่อการขยายกิจการด้านพลังงานของประเทศ และเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวและการพัฒนา” ภารนี ชี้ประเด็น
เธออธิบายเพิ่มอีกว่า ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามี 19 จังหวัดที่ประกาศใช้ผังเมืองรวมไปแล้ว ก่อนจะนำมาปรับปรุงใหม่ ซึ่งชัดเจนว่าเป็นการปรับแก้เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อกิจการบางอย่าง เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าขยะ โรงงานอุตสาหกรรม
ภารนี บอกอีกว่า ภายหลังรัฐบาลประกาศนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษก็มีการจัดทำผังเมืองรวมขึ้นมาใหม่ เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถจัดหาที่ดินรองรับโครงการได้ จึงมีการปรับแก้พื้นที่การเกษตรสีเขียวมาเป็นพื้นที่อนุรักษ์ป่าไม้ ก่อนที่จะปรับแก้จากพื้นที่ป่าไม้มาเป็นที่ดินของรัฐอีกครั้ง
“ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามารถทำผังได้ โดยไม่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการทำผังเมืองรวมปกติ ซึ่งถือว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษอยู่เหนือผังเมืองรวมจังหวัด และเราไม่มีทางรู้เลยว่าอะไรจะถูกใส่ลงไปในพื้นที่เหล่านั้น” ภารนี กล่าว
ไพโรจน์ พลเพชร ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) อธิบายว่า ในอดีตกฎหมายให้อำนาจการจัดการผังเมืองอยู่ที่รัฐเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ประกอบกับทิศทางการพัฒนาของประเทศต้องการเน้นการขยายตัวของทุน การเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังนั้นพื้นที่ทุกพื้นที่จึงถูกเปลี่ยนเป็นอะไรก็ได้ จึงไม่ต้องแปลกใจที่ผังเมืองไปตอบโจทย์อะไร โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ
“คปก.จึงจัดทำร่าง พ.ร.บ.การใช้ประโยชน์ที่ดินและการผังเมือง โดยมีหลักการคือประชาชนมีส่วนร่วม ท้องถิ่นมีส่วนในการจัดการและต้องสมดุลและยั่งยืน ระหว่างอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจกับความยั่งยืนของทรัพยากร ซึ่งแตกต่างไปจากกฎหมายฉบับก่อนๆ ที่ให้อำนาจรัฐเป็นใหญ่และลำเอียงเข้าข้างทุนหรืออุตสาหกรรม” ไพโรจน์ ระบุ
ประทีป มีคติธรรม เลขานุการ คปก. กล่าวถึงจุดเด่นของร่างกฎหมายฉบับ คปก. ว่ามีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นทาง มีการอุดช่องโหว่กรณีผังเมืองหมดอายุ รวมถึงมีการตั้งคณะกรรมการนโยบายดูแลผังเมือง และยังกำหนดแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินระดับชาติและระยะยาว
เป็นความจริงที่ว่าชะตากรรมของชาวบ้าน-คนเล็กคนน้อยตกอยู่ในความเสี่ยงแสนสาหัส
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ วันที่ 1 ต.ค. 2558