ปธ.มูลนิธิสืบฯ ไม่ปฏิเสธสร้างเหมืองทองคำป่าสงวน แต่ที่ผ่านมาทำไม่ดี ขาดการกำกับดูแล เผยหากไม่มีมาตรการ แสดงว่าไทยไม่พร้อมเปิดประทานบัตร ‘หาญณรงค์ เยาวเลิศ’ ยันทำเหมืองแร่ได้ต้องสร้างระบบปิด แก้ กม.ให้ไทยรับภาษีมากขึ้น ระบุหากยกเว้นบีโอไอ เก็บภาษีโรงเรือน เงินจะเข้าประเทศอีก 3.7 พันล้านบาท
วันที่ 28 กันยายน 2558 ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ร่วมกับคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) และสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.) จัดเสวนา ‘จับตาร่างกฎหมายแร่ การอนุญาตให้สำรวจและสัมปทานแร่ภายใต้ภาวะอำนาจพิเศษ’ ณ ห้องอิศรา อมันตกุล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ซึ่งเป็นกรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ก่อนปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า แสดงถึงความต้องการเปิดเหมืองใหม่ของรัฐบาล ซึ่งการแต่งตั้งผู้มีส่วนในบริษัทธุรกิจเหมืองแร่นั่งตำแหน่งดังกล่าว ไม่เคยเกิดขึ้นในรัฐบาลที่มาจากการเมืองปกติมาก่อน
ส่วนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติให้ประทานบัตรเหมืองแร่ได้หรือไม่ ประธานมูลนิธิสืบฯ ระบุว่า ทำได้ แต่ที่ผ่านมาขาดกระบวนการที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้การกำกับดูแลของภาครัฐไม่ดีด้วย จะเห็นจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่มีหน่วยงานตรวจสอบ บุคลากรไม่เพียงพอ ทำให้ทุกอย่างไม่ถูกกำกับดูแลเป็นไปตามรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environmental Health Impact Assessment:EHIA)
“เมื่อรัฐไม่มีความสามารถกำกับดูแลเหมืองแร่ แสดงว่าไม่มีความพร้อมต้องเปิดประทานบัตร อย่างไรก็ตาม เหมืองแร่ทองคำสมัยใหม่ต้องย้ายชุมชนออกจากพื้นที่ก่อนเหมือนในอินโดนีเซีย เพื่อไม่ให้การดำเนินกิจการกระทบต่อชุมชนโดยรอบ พร้อมยืนยัน พื้นที่ป่าอนุรักษ์ไม่ควรยุ่ง ส่วนพื้นที่ป่าสงวนพอทำได้ แต่ต้องทำให้ดี” นายศศิน กล่าว
ด้านนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ระบุว่า การออกอาชญาบัตรพิเศษ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)แร่ ให้ผู้สำรวจครั้งแรกได้รับกรรมสิทธิ์ เหมือนปิโตรเลียม ดังนั้น หากบริษัท ก. ในเครืออัคราฯ ถือเป็นทรัพย์สินในการรับอาชญาบัตรพิเศษ ฉะนั้นจึงต้องปักธงเป็นเจ้าของไว้ก่อน เพื่อสำรวจแร่ ซึ่งข้อมูลของรัฐกับบริษัทอาจแตกต่างกันก็ได้
ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปกว่า 10 ปีที่ผ่านมา มีการให้อาชญาบัตรพิเศษประมาณ 1,000 แปลง แปลงละ 1,000 ไร่ ทำให้การออกประทานบัตร แปลงละไม่เกิน 625 ไร่ หรือ 1 ตร.กม. ฉะนั้นกรณีเขาหม้อ จ.พิจิตร มีประมาณ 3-5 แปลง หมายความว่า กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (ก.พ.ร.)มีรายได้จากการขอเพียง 4-5 ล้านบาทเท่านั้น แต่ภาษีที่ได้ไม่คุ้มค่ากับชาวบ้าน
“เราไม่มีเทคโนโลยีใหม่ในการทำเหมืองทองคำ เเต่ใช้สารไซยาไนด์ผสม ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งอันดับ 1 อย่างไรก็ตาม อนาคตต้องทำเหมืองทองคำจริง ถ้าเป็นเทคโนโลยีแบบเดิมไม่ควรทำ ยกเว้นสร้างระบบปิด เหมือนเหมืองแร่โปแตซ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา สามารถควบคุมได้” อดีตสมาชิก สปช. กล่าว และว่า ไทยไม่ได้ส่งออกทอง แต่ส่งออกสินแร่ มีทอง 30% เงิน 70% เพื่อไปแยกที่ฮ่องกง และออสเตรเลีย โดยอ้างว่า ประเทศไม่มีโรงงานคัดแยก สุดท้าย นำเข้าทองคำ 99% กลับมาปีละ 60 ตัน แต่ส่งออกปีละ 12 ตัน
นายหาญณรงค์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลต้องแก้ไขกฎหมายแร่ ให้ไทยได้รับภาษีมากกว่านี้ ซึ่งเหมืองอัคราฯ แปลงแรกมีทองคำ 1 หมื่นล้านบาท บริษัทลงทุนประมาณ 3 พันล้านบาท กำไรประมาณ 7.5 พันล้านบาท แต่จ่ายภาษี 200 ล้านบาท ขณะที่แปลงที่ 2 บริษัทได้กำไรประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท แต่จ่ายภาษี 800 ล้านบาท แต่ถ้ายกเว้นบีโอไอ เก็บภาษีโรงเรือนจะได้เพิ่มอีก 3.7 พันล้านบาท แต่รัฐบาลไม่ทำ และหากแก้ไขกฎหมายเอื้อบริษัทอีก ขอให้เก็บไว้ก่อน รับรองทองไม่เน่า
ขณะที่ดร.สุรพล ดวงแข รองประธานมูลนิธิเพื่อนช้าง กล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่มีผู้ประกอบการใดปฏิบัติตามข้อกำหนดของรายงานศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (Environmental impact assessment :EIA) ทำให้กระทบต่อสัตว์ป่า เช่น การกำหนดระยะเวลาเข้าออกเหมืองในช่วงเช้า เย็น และกลางคืน เพราะส่งเสียงรบกวน หรือการควบคุมคนงานเหมืองไม่ให้ล่าสัตว์ในพื้นที่ แต่ก็ปฏิบัติไม่ได้
ทำให้ที่ผ่านมา EIA มีมาตรการเลื่อนลอยมาก เขียนเพียงว่า การระเบิดหินจะไม่ส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่า เพราะเมื่อสัตว์ป่าได้ยินเสียงระเบิดจะหนีไปเอง การระบุเช่นนี้คิดว่าไม่ตอบสนอง พร้อมยืนยันอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ไม่ควรมีการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ หากมีการอนุมัติโดยไม่ศึกษาผลการปฏิบัติที่ผ่านมาก็ไม่ควรเรียกพื้นที่ดังกล่าวว่า แหล่งอนุรักษ์
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา วันที่ 28 ก.ย. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.