สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ และชาวคลองไทร สุราษฎร์ฯ จัดงานรำลึกการต่อสู้ของเกษตรกรไร้ที่ดิน และรำลึกถึงสมาชิกที่ถูกยิงเสียชีวิต
อนุสรณ์สถานนักต่อสู้สามัญชน
สุรพล จงรักษ์
สุนี ไชยรส
28 ก.ย. 2558 ที่ชุมชนคลองไทรพัฒนา ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) จัดงานเปิดอนุสรณ์สถานนักต่อสู้สามัญชน เพื่อรำลึกถึงการต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกิน และรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากการต่อสู้
โดยในช่วงเช้าเวลาประมาณ 09.00-10.00น. เป็นการจัดพิธีการทางศาสนา เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับสมาชิกชุมชนคลองไทรฯ ซึ่งถูกยิงเสียชีวิต จำนวน 4 คน ได้แก่ นายสมพร พัฒภูมิ เสียชีวิตเมื่อปี 2553 นางปราณี บุญรักษ์ และนางมณฑา ชูแก้ว เสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2558 และนายใช่ บุญทองเล็ก เสียชีวิตเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2558 โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่สามารถจับตัวผู้ก่อเหตุได้
ต่อมาในเวลา 10.30น. ได้มีพิธีเปิดอนุสรน์สถานฯ โดย สุรพล จงรักษ์ กล่าวถึงความหมายของอนุสรณ์สถานว่า ขดเกลียวคล้ายสปริงสีแดง แทนความหมายของวิวัฒนาการการต่อสู้ของประชาชน หลายครั้งมีการมองว่าการต่อสู้ของภาคประชาชนมักจะเป็นเดินทางเป็นวงกลม คือเดินกลับมาที่เดิมไม่ไปไหน แต่แท้จริงแล้วการต่อสู้ของประชาชนเดินทางเป็นวงกลมแบบขดสปริง คือเดินสูงขึ้นไปเรื่อยๆ และบนยอดของขดสปริงมีดาวอยู่สามดวง คือดาวเขียว แทนความอุดมสมบูรณ์ของการเกษตร ดาวแดง แทนการต่อสู้ และดาวเหลือง แทนคุณธรรม
ด้านสุนี ไชยรส อดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ได้กล่าวเปิดอนุสรณ์สถานฯ โดยระบุถึงการต่อสู้ของเกษตรกรและชาวนา ว่ามีการต่อสู้ในเรื่องที่ดินที่ทำกินมายาวนาน ตั้งแต่สมัย 14 ตุลาคม 2516 โดยมีการเรียกร้องร่วมกันระหว่างชาวนา เกษตรกร และนักศึกษา ให้มีการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกร ซึ่งถือเป็นการมองเห็นปัญหาของประเทศร่วมกันว่า เราไม่สามารถอยู่ได้โดยไม่มีการปฏิรูป ไม่มีการแก้กฎหมายเพื่อเกษตรกร อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ปัจจุบัน รัฐมีมุมมองว่าที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติเป็นสินทรัพย์ของรัฐ รัฐมีสิทธิที่จะให้ใครก็ได้ สามารถที่จะจัดสรรให้กับเกษตรกรไร้ที่ทำกินได้ แต่สิ่งที่เห็นส่วนมากรัฐกลับนำที่ดินไปให้นายทุนเช่าใช้ประโยชน์
ขณะเดียวกันตัวแทนเครือข่ายต่างๆ อาทิ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม, สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ, สหกรณ์การเกษตรโฉนดชุมชนป่าซาง, เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน, สมัชชาคนจนเขื่อนปากมูล, เครือข่ายปฏิรูปสังคมและการเมือง, เครือข่ายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมอันดามัน, สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เป็นต้น ได้ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกัน ยืนยันในหลักการต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชน และสนับสนุนให้เกิดการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกร
ข้อมูลชุมชนคลองไทรพัฒนา
ชุมชนคลองไทรพัฒนาตั้งอยู่ในพื้นที่ของ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ชาวบ้านเริ่มเข้ามาอยู่ตั้งแต่ปี 2551 ปัจจุบันมีเกษตรกรอาศัยอยู่ 69 ครัวเรือน แต่เดิมพื้นที่นี้มีบริษัทจิวกังจุ้ยพัฒนา จำกัด ได้เข้าใช้ประโยชน์ และเข้ายึดถือครองพื้นที่ป่าสงวนฯ (บริเวณที่ตั้งชุมชนคลองไทรปัจจุบัน) ตั้งแต่ปี 2528 ต่อมาได้ประกาศพื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในปี 2537 เมื่อบริษัทหมดสัญญาเช่าพื้นที่ทำประโยชน์ แต่ไม่ยอมออกจากพื้นที่ ส.ป.ก. ได้ฟ้องบริษัทให้ออกจากพื้นที่ และชนะคดีในศาลชั้นต้นเมื่อปี 2550 โดยศาลสั่งให้บริษัทออกจากพื้นที่ของ ส.ป.ก. แต่บริษัทยื่นอุทธรณ์ โดยขณะนี้คดีสิ้นสุดแล้ว เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2557 ศาลให้บริษัทออกนอกพื้นที่ แต่ถึงปัจจุบันยังไม่การบังคับคดีให้บริษัทออกไป
ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2558 ส.ป.ก.ส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยระบุให้เร่งดำเนินการบังคับคดีกับบริษัท จิวกังจุ้ยพัฒนา และบริวาร พร้อมด้วยสมาชิกชุมชนคลองไทรพัฒนา เนื่องจากเป็นผู้บุกรุก โดยระบุความจำเป็นว่า ต้องการจัดการพื้นที่อย่างเป็นธรรมเพื่อเกษตรกรรายอื่นๆ ด้วย
ความชอบธรรมการเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่
1. คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 71 / 52 แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของ เครือข่าย ปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย สั่ง ณ วันที่ 9 มีนาคม 2552 ลงนามโดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีมติเห็นชอบให้ผ่อนผันให้ราษฎรได้อยู่อาศัยและทำกินในที่ดิน ตามวิถีชีวิตปกติไปพลางก่อนจนกว่าจะแก้ไขปัญหาแล้วเสร็จ
2. มติคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหา ของ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) วันที่ 11 มีนาคม 2553 ส.ป.ก. ได้มีมติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์สั่งการมายัง ส.ป.ก.ให้ผ่อนผันให้ชุมชนต่างๆ ที่เป็นสมาชิกของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ สามารถอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้จนกว่ากระบวนการฟ้องขับไล่บริษัทและนายทุนจะแล้วเสร็จ
3. มติคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มี โฉนดชุมชน (ปจช.) ให้ชุมชนคลองไทรพัฒนาเป็นพื้นที่ นำรองโฉนดชุมชน วันที่ 6 ตุลาคม 2553 (สาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในสมัยนั้นเป็นประธาน ปจช.)
4. บันทึกขัอตกลง (MOU) ข้อ 1,3 ระหว่าง พีมูฟ กับ ตัวแทนรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2556
|
ที่มา : ประชาไท วันที่ 28 ก.ย. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.