นายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการเพื่อการพิจารณาแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดินและใช้ประโยชน์ในที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาภูหลวง อุทยานแห่งชาติทับลาน และพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน ในท้องถิ่นอำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมาว่า ปัญหาการบุกรุกพื้นที่รัฐในเขตอำเภอวังน้ำเขียว เป็นปัญหายืดเยื้อมายาวนาน และไม่มีการแก้ไขปัญหาที่จริงจัง ในช่วงที่ตนมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงาน ขึ้นมาดำเนินการ โดยการประชุมนัดสุดท้าย เมื่อวันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมาได้มีข้อสรุปเพื่อเสนอเป็นเบื้องต้นไปยังคณะรัฐมนตรี(ครม.) ผ่านคณะเลขานุการครม. ซึ่งขอย้ำว่า แนวทางที่ทางจังหวัดนครราชสีมาเสนอ ไม่ใช่ข้อยุติ แต่เป็นแนวคิดของคนในพื้นที่เพื่อจะจัดการปัญหาของตัวเองที่เสนอไปยังรัฐบาล ถ้ารัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นพ้องด้วย ก็จะออกมาตามนี้ หรือเห็นบางส่วน ไม่เห็นด้วยบางส่วน จะปรับปรุงแก้ไขอย่างไร ก็จะต้องมีการหารือกันอีกที ทั้งตัวแทนระดับพื้นที่กับผู้บริหารระดับบน ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่ข้อยุติที่ดีในวันข้างหน้า ดีกว่าไม่มีการคิดริเริ่มอะไรเลย ต่างคนต่างเห็นก็ทำไป ไม่เกิดผลดีอะไร โดยคณะกรรมการชุดนี้ ประกอบไปด้วยหลายหน่วยงาน ทั้งตำรวจ ทหาร องค์กรภาคเอกชน
สำหรับข้อสรุปของคณะกรรมการที่จะนำเสนอเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาไปยังรัฐบาล คือ 1. ในส่วนของอุทยานแห่งชาติทับลานให้ยึดแนวเขตปี 2543 เป็นสำคัญ โดยผู้ที่เข้ามาอยู่ก่อนปี 2550 จะจัดสรรให้คนละไม่เกิน 35 ไร่ ใครที่ถือครองผืนใหญ่อยู่ 500-600 ไร่ ต้องนำกลับคืนมาให้รัฐ เพื่อจะได้จัดสรรเป็นเขตปฏิรูปให้แก่คนจนและผู้ยากไร้ 2.ส่วนป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาภูหลวง จะยึดถือแนวกันไฟผสมผสานกับร่องน้ำธรรมชาติ ในส่วนที่ไม่มีคนยึดถือครอบครองอยู่ จะยึดถือร่องน้ำซึ่งมีพื้นที่ลาดชัน ซึ่งจะเขียนรายละเอียดลงไปในแผนที่ ไม่กระทบกับประชาชนมากนัก ต้องยอมรับว่าอาจจะมีผลกระทบต่อประชาชนบ้างบางส่วน แต่จากที่ผิดกฎหมายหมด 100% ได้คืนมา 50 % แต่ถูกกฎหมายก็ทำให้มีความสุขขึ้นอีกมากและอยู่ได้อย่างยั่งยืนถาวร นี่คือ การถอยคนละก้าว เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จได้
3.ส่วนพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน หรือ ส.ป.ก. อย่างที่ทราบว่าเขตปฏิรูปตามกฎหมายปี 2518 คือต้องการให้ผู้ยากไร้ ไม่มีที่ดินทำกินได้มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ได้มีที่ดินทำกิน เพราะเป็นรากฐานความมั่นคงของชาติ ต้องนำเอาเจตนารมณ์ของกฎหมายปฏิรูปมาเป็นที่ตั้งด้วย อาจจะยกเว้นให้ทำนอกเหนือจากอาชีพเกษตรกรรม แต่ต้องเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องหรือคู่กันของคนยากไร้ ตามกฎหมายมาตรา30 (5) หรือให้ทำเท่าที่จำเป็นและให้เชื่อมโยงสอดคล้องกับอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักรวม คือต้องดูการได้มาของการถือครองครั้งแรกด้วยว่า ได้มาในสถานะอะไร ก็จะนำไปสู่ข้อยุติในที่สุด ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวนี้จะเป็นบรรทัดฐานให้กับพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศได้ใช้ หรือเป็น”วังน้ำเขียวโมเดล”
ต่อข้อถามที่ว่ากรณีการสร้างรีสอร์ต หรือบ้านพักหรูของกลุ่มนายทุนที่เกิดขึ้นจำนวนมากในพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียวนั้นจะเสนอให้มีการดำเนินการอย่างไร นายธงชัย กล่าวว่า ต้องไล่ดูว่า การได้มาครั้งแรก ได้มาโดยชอบหรือไม่ชอบ เช่น บางรายได้มาครั้งแรกปลูกข้าวโพด และมีการพัฒนาตัวเองจนกลายมาเป็นร้านอาหาร เป็นรีสอร์ต ก็ได้มาโดยชอบตั้งแต่เป็นเกษตรกร และมีการพัฒนาตัวเองขึ้นมา กรณีเช่นนี้ตนเองสนับสนุน ถือเป็นเรื่องดี คนที่มีการพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น
นางเปรมจิต สังขพงษ์ รองเลขาธิการ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) กล่าวว่า ส.ป.ก.ได้ข้อสรุปเพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินส.ป.ก. คือ หากเป็นนายทุนที่ไม่ใช่เกษตรกรในพื้นที่ถือครองที่ดินส.ป.ก. ทั้งที่ขึ้นทะเบียนเป็นส.ป.ก.4-01 และยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน จะต้องออกจากพื้นที่ หรือให้ศาลสั่งขับไล่ หากมีโฉนด หรือหลักฐานน.ส.3 มาแสดง ก็ต้องตรวจสอบ และหากมีความผิดต้องเพิกถอนเอกสารสิทธิ์นั้น กรณีเป็นเกษตรกรซื้อขายเปลี่ยนมือกันเอง และมีเจตนาทำกินในพื้นที่ ก็จะผ่อนผันให้ขึ้นทะเบียนส.ป.ก.ใหม่ จากเดิมจะถือว่าผิดกฎหมาย และกรณีที่เกษตรนำที่ส.ป.ก.4-01 หรือที่ดินของส.ป.ก.ที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนนำไปหาประโยชน์เชิงพาณิชย์ จะต้องเสียค่าเช่า 3% ของราคาประเมินที่ดินให้กับส.ป.ก.
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3091 วันที่ 27-30 กันยายน พ.ศ. 2558
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 27 ก.ย. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.