สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ(TDRI) จัดเสวนาสาธารณะเมื่อวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา หยิบยกเนื้อหาในโครงการวิจัย ซึ่งอยู่ในความสนใจหลายต่อหลายเวทีในช่วงก่อนหน้านี้ ในหัวข้อ “โมเดลใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย:นโยบายเศรษฐกิจมหภาคและการเงินการคลัง”
แนวโน้มความเหลื่อมล้ำ”ยังน่าเป็นห่วง”
ส่วนหนึ่งของเนื้อหาในเสวนาสาธารณะครั้งนี้ มีการนำเสนอผลงานในโครงการวิจัยในประเด็น “ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย:แนวโน้ม นโยบาย และแนวทางขับเคลื่อนนโยบาย” ซึ่งดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ ผู้นำเสนอบทวิเคราะห์ ฟันธงไว้ชัดเจนว่า “แนวโน้มความเหลื่อมล้ำของไทยยังน่าเป็นห่วงอยู่ อาจแย่ลง และมีเรื่องที่ต้องทำเยอะ”
พร้อมกันนี้ยังได้ให้ความเห็นว่า “นโยบายการคลัง”เป็นนโยบายที่ลดความเหลื่อมล้ำได้ค่อนข้างสูง แต่กรณีของไทยนั้น นโยบายการคลังในการลดความเหลื่อมล้ำ ยังทำหน้าที่ไม่ดี ทั้งด้านนโยบายภาษีและการใช้จ่าย
เทียบประสบการณ์ 3 กลุ่มประเทศในประเด็นแนวโน้มความเหลื่อมล้ำ ประเทศพัฒนาแล้วความเหลื่อมล้ำมากขึ้นเพราะการกระจุกตัวของทุนมากขึ้น ช่องว่างระหว่างค่าจ้างห่างกันมากขึ้น
ประสบการณ์ของไทยเทียบเกาหลีใต้และไต้หวัน ไทยมีประวัติความเหลื่อมล้ำสูงกว่าเกาหลีใต้และไต้หวันที่ระดับการพัฒนาเท่ากัน แสดงถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของไทย และหากปัญหาเชิงโครงสร้างยังอยู่ก็แสดงว่า ความเหลื่อมล้ำก็น่าจะยังอยู่ในสังคมไทย
ระบอบปชต.ไม่ได้รับประกัน “ลดความเหลื่อมล้ำ”
เนื้อหาในงานวิจัยระบุถึงแนวทางลดความเหลื่อมล้ำ โดยใช้มาตรการเชิงสถาบัน และมาตรการด้านเศรษฐกิจและสังคม(คน/ทุน/การคลัง) ในส่วนของปัจจัยและมาตรการเชิงสถาบันต่อความเหลื่อมล้ำ อาทิ โครงสร้างอำนาจทางการเมือง คอร์รัปชัน และการปฏิรูปภาครัฐ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ ระบุว่าระบบเศรษฐกิจและการเมืองในสังคมไทย ไม่เอื้อต่อการลดความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากความเหลื่อมล้ำของอำนาจทางการเมืองนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ทำให้นโยบายที่ลดความเหลื่อมล้ำไม่ถูกปฏิบัติอย่างจริงจัง เช่น การปฏิรูปการศึกษาระบบภาษี นโยบายสาธารณสุข social protection และสวัสดิการ และยังมีผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ(Growth)ไม่ดีด้วย ซึ่งเมื่ออำนาจการเมืองกระจุกตัวก็ต้องทำให้อำนาจทางการเมืองเท่าเทียมกัน
คำถามคือเป็น”ประชาธิปไตย”ช่วยได้หรือไม่ คำตอบคือ”ไม่ชัดเจน” เพราะประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ก็ไม่ได้มีความเหลื่อมล้ำต่ำ “ดร.สมชัย”ให้เหตุผลว่า เหตุที่ระบอบประชาธิปไตยไม่ได้รับประกันในการลดความเหลื่อมล้ำเพราะการสุมหัวรวมกันของคนรวยกับคนชั้นกลางและไม่เห็นหัวคนจน ดังนั้น แนวทางแก้ไขคือ สร้างประชาธิปไตยโดยเน้นที่ฐานรากก่อน อยากให้ไปได้จริง ๆ แบบสุดตัว เพราะถ้าเป็นประชาธิปไตยจากฐานรากขึ้นมาแล้วมันก็จะดีขึ้นเอง
สำหรับประเด็น”คอร์รัปชัน” สำคัญกับความเหลื่อมล้ำใน 2 ทิศทางคือ หนึ่งคอร์รัปชันทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เพราะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวช้าลง ทำให้ภาษีก้าวหน้าน้อยลง ค่าใช้จ่ายสังคมน้อยไม่มีประสิทธิภาพ การสะสมทุนมนุษย์น้อยลง อีกทิศทางหนึ่งคือ ความเหลื่อมล้ำเอื้อต่อการคอร์รัปชัน เนื่องจากคนจนขาดทรัพยากรในการมอนิเตอร์คอร์รัปชัน หรือป้องกันตัวเองจากการถูกเอารัดเอาเปรียบ และมีผลต่อทัศนคติในการยอมรับคอร์รัปชัน ดังนั้น แนวทางการแก้ไขคือ ลดโอกาสคอร์รัปชัน
ขณะที่การปฏิรูปภาครัฐก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญและจำเป็น การที่ภาครัฐมีปัญหามาก ทำให้คนชั้นกลางหมดหวังในภาครัฐ หันไปใช้บริการภาคเอกชน ทำให้ขาดแรงจูงใจในการมอนิเตอร์ประสิทธิภาพภาครัฐ และมีผลกระทบให้คนจนถูกกระทบไปด้วย จากบริการภาครัฐต่อคนจนมีคุณภาพลดลง อาทิ การศึกษา นอกจากนี้ นโยบายเศรษฐกิจสังคม นโยบายว่าด้วยคน คือลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ,นโยบายว่าด้วยทุน/สถาบันการเงินคือ เพิ่มการเก็บภาษีทุนให้ใกล้เคียงกับนานาประเทศ ลดช่องทางในการเคลื่อนย้ายฐานบัญชี และลดข้อจำกัดทางการเงินของครัวเรือน/ธุรกิจขนาดเล็ก
การคลังเพื่อลดเหลื่อมล้ำยังไม่ทำหน้าที่
ดร.สมชัย ขยายความประเด็น ผลการลดความเหลื่อมล้ำโดยนโยบายการคลังของไทย ซึ่งยังทำหน้าที่ไม่ดี ทั้งด้านนโยบายภาษีและการใช้จ่าย โดยสนับสนุนให้มีการเก็บภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดก ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พร้อมสร้างระบบสวัสดิการ ด้วยเหตุที่สังคมไทยเข้าสู่ยุคที่ต้องฟังเสียงของรากหญ้า หรือเห็นหัวคนจน
ที่ผ่านมาประเด็นความเหลื่อมล้ำกับวงจร “ประชานิยม” หากมีความเหลื่อมล้ำมากก็เกิดประชานิยม ซึ่งวิธีที่จะออกจากประชานิยมไม่ใช่การปฏิเสธความต้องการของรากหญ้า แต่ต้องเสนอทางเลือกที่ดีกว่า (ตอบสนองความต้องการระยะสั้นและระยะยาวพร้อมกัน และไม่เลือกกลุ่มรับผลประโยชน์)
ส่วนกรณีมาตรการของรัฐบาลในการอัดฉีดเม็ดเงินสู่กองทุนหมู่บ้านนั้น ดร.สมชัยประเมินว่า แพ็กเกจที่เสนอมา คือ ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น แต่ในระยะยาวจะมีผลหรือไม่นั้น จากกรณีที่เคยดำเนินการมาในอดีต ความเหลื่อมล้ำลดลงแค่แวบเดียว ประมาณ1-2ปี แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้ยั่งยืนอะไร
โดยสรุปนโยบายการคลังและสวัสดิการสังคม ปรับระบบภาษีให้ครอบคลุมเท่าเทียมกันมากขึ้น เช่น เพิ่มฐานทรัพย์สิน เพิ่มความเสมอภาคทางภาษี (คนที่มีความสามารถในการจ่ายเท่ากันควรจ่ายเท่าเทียมกัน) ปฏิรูประบบสวัสดิการสังคม โดยเพิ่มการใช้จ่ายด้านการคุ้มครองทางสังคมและด้านสวัสดิการ โดยยึดหลัก 1.ทั่วถึงและครบถ้วน 2.ไม่แพง มีประสิทธิภาพ 3.ลดความเหลื่อมล้ำได้จริง 4.ให้น้ำหนักกับการลงทุนด้านสังคม 5.สามารถขับเคลื่อนนโยบายอย่างเหมาะสมกับบริบทสังคมการเมืองไทย 6.มีการปฏิรูประบบการบริหาร และ7.เร่งสร้างประชาคมสวัสดิการ
ระบบสวัสดิการ’ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย
ด้านดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้วิจารณ์ แสดงความเห็นด้วย กับทางออกที่นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำในเรื่อง Policy Choice หรือนโยบายที่เลือกได้ ซึ่งเป็นทางเลือกของประเทศ ว่าจะสร้างระบบนี้หรือไม่
ดร.กอบศักดิ์ระบุถึงประเด็นการสร้างระบบสวัสดิการในการลดความเหลื่อมล้ำ ว่า “สวัสดิการไม่ใช่คำตอบทุกอย่าง”ยกตัวอย่างสหรัฐอเมริกา ที่มีระบบสวัสดิการทั่วถึง แต่ก็ยังเผชิญกับเรื่องของความเหลื่อมล้ำสูง และกำลังเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้น ระบบสวัสดิการจึงควรมีเพื่อช่วยคน แต่อย่าหวังว่าจะเป็นคำตอบสุดท้าย ที่ตอบโจทย์ลดความเหลื่อมล้ำของไทยได้
พร้อมกันนี้ ยังได้เสนอความเห็นในส่วนที่ต้องดำเนินการ-นอกเหนือจากเรื่องสวัสดิการและการศึกษาแล้ว ต้องทำเรื่องอื่น ๆ ด้วย อาทิ ปฏิรูปการเงินฐานราก ปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูปการเกษตร ช่องทางการเข้าถึงต่าง ๆ โดยดร.กอบศักดิ์กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า สิ่งที่น่าเสียดายที่สุดที่รัฐธรรมนูญตกไป คือ ในเนื้อหาเขียนไว้เยอะมากเพื่อสร้างประชาธิปไตยเชิงเศรษฐกิจ ปรับโครงสร้างอำนาจอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ลดความเหลื่อมล้ำ การจัดสรรงบประมาณเชิงพื้นที่ ระบบบำนาญแห่งชาติ ซึ่งหากมีโอกาสทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ต้องเรียกร้องให้มีเรื่องพวกนี้อยู่ด้วย
ทั้งนี้ เสวนาสาธารณะในหัวข้อ “โมเดลใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย:นโยบายเศรษฐกิจมหภาค และการเงินการคลัง” เป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมที่ทีดีอาร์ไอเผยแพร่ผลงานในโครงการวิจัย ซึ่งประกอบด้วยการวิจัยเพื่อศึกษาประเด็นเรื่อง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีความเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นโครงการระยะ 3 ปี ได้รับสนับสนุนเงินทุนจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และปีนี้เข้าสู่ปีที่ 3 โดยทีดีอาร์ไอจะเน้นเผยแพร่ผลงานวิจัยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากนี้ทีดีอาร์ไอจะนำข้อมูลมาผลิตเป็นหนังสือเชิงวิชาการ และเป็นหนังสือที่อ่านง่าย สามารถเข้าถึงผู้อ่านในวงกว้างต่อไป
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3090 วันที่ 24-26 กันยายน พ.ศ. 2558
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 24 ก.ย. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.