โดย...ทีมข่าวเศรษฐกิจภาครัฐโพสต์ทูเดย์
ผลกระทบของภัยแล้งที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2557 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อพื้นที่เกษตรกรรมลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ลุ่มแม่น้ำแม่กลอง หรือพื้นที่ภาคกลางที่ไม่สามารถเพาะปลูกข้าวได้ เลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า วิเคราะห์ผลกระทบเศรษฐกิจจากการงดทำนาในฤดูแล้ง 2557/2558 ซึ่งกรมชลประทานงดการจ่ายน้ำ ทำให้พื้นที่ทำนาซึ่งมีอยู่ประมาณ 10-12 ล้านไร่ ปลูกข้าวได้เพียง 8 ล้านไร่เท่านั้น ได้ผลผลิตเพียง 5.4 ล้านตัน จากปกติซึ่งจะได้ผลผลิตประมาณ 9-12 ล้านตันข้าวเปลือก หรือการงดทำนาช่วงหน้าแล้งที่ผ่านมาทำให้ผลผลิตข้าวเปลือกหายไป 4.5-6 ล้านตัน ซึ่ง สศก.คาดว่าผลผลิตที่หายไปคิดเป็นมูลค่าประมาณ 3 หมื่นล้านบาทเศษ ไม่รวมเงินหมุนเวียนในระบบการซื้อขายปัจจัยการผลิตที่ทำให้เสียโอกาสเงินหมุนเวียนอีกประมาณ 6 หมื่นล้านบาทแต่หากประเมินถึงความเสียหายของภัยแล้งที่จะส่งผลกระทบในช่วงหน้าแล้งปีหน้าหรือปี 2559 เลขาธิการ สศก. ประเมินว่าจะส่งผลให้เงินชาวนาหายไปอีกเกือบ 6 หมื่นล้านบาทหากรวมตัวเลขความเสียหายจากภัยแล้งตั้งแต่ปลายปี 2557 ต่อเนื่องไปจนถึงฤดูแล้ง 2559 ความเสียหายน่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรประมาณ 8 แสนรายอนันต์ ดาโลดม ประธานสหกรณ์ฟ้าประทานเพื่อการเกษตร อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา กล่าวว่า สถานการณ์ของเกษตรกรไทยทั้งประเทศในช่วง 1-2 ปีนี้ถือว่าวิกฤตมาก ทั้งจากผลผลิตที่ลดลงและราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ ส่งผลต่อรายได้ครัวเรือนและกระทบต่อการเติบโตของประเทศ เพราะภัยแล้งได้ส่งผลต่อสินค้าเศรษฐกิจเกษตรที่สำคัญทั้งหมดทั้งข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย ที่ผลผลิตลดและราคาที่ขายได้ก็ลดลง โดยเกษตรกรที่อยู่ในกลุ่มนี้คิดเป็น 80% ของเกษตรกรทั้งหมด 6.33 ล้านครัวเรือน“รัฐบาลจะต้องอัดฉีดเงินมาสู่รากหญ้าผ่านโครงการต่างๆ ให้มาก เพราะการที่เงินในมือคนประมาณ 80% ของประเทศหายไปทำให้เศรษฐกิจในประเทศได้รับผลกระทบ”อนันต์ เสนอแนะไปยังรัฐบาลสำหรับมาตรการแก้ปัญหาภัยแล้งของรัฐบาลนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เตรียมจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหาระยะสั้นในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อทำแก้มลิง 30 แห่ง สร้างฝายกั้นลำน้ำสาขาที่ไหลลงแม่น้ำโขงทั้งหมด 562 แห่งพร้อมกันนี้ ได้กำหนดมาตรการควบคุมการใช้น้ำ ประกอบด้วยเปิดประตูน้ำในลำน้ำสาขาเพื่อรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นครั้งคราวสำหรับอุปโภคบริโภค ห้ามสูบน้ำเพื่อการเกษตรและลดการเพาะเลี้ยงปลาในกระชัง ซึ่งจะเริ่มใช้มาตรการเหล่านี้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้ไปจนถึงปลายเดือน เม.ย. 2559สำหรับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ประกอบด้วย 1.ส่งเสริมความรู้เพื่อปรับตัวและบรรเทาผลกระทบ สนับสนุนพันธุ์พืช สัตว์ปีก สัตว์น้ำสำหรับเป็นแหล่งอาหารในครัวเรือนเพื่อลดรายจ่าย 2.ควบคุมการใช้น้ำเฉพาะพื้นที่วิกฤต 3.ชะลอหรือขยายเวลาการชำระหนี้เกษตรกรที่มีภาระหนี้กับสหกรณ์และกองทุนในกำกับของกระทรวงเกษตรฯ ด้วยการชดเชยดอกเบี้ย 3% ระยะเวลา 1 ปี 4.จ้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร 5.การเสนอโครงการความต้องการของชุมชม 6.เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนโดยขุดลอกคูคลอง สร้างแหล่งน้ำ ขุดเจาะบ่อบาดาล และทำฝนหลวง
กปน.เลื่อนจุดรับน้ำดิบหนีน้ำเค็ม
ช่วงกลางเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ภาวะฝนทิ้งช่วงนานก็ทำให้เกิดวิกฤตขาดแคลนน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปาในหลายจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.ธัญบุรี สามโคก และหนองเสือ จ.ปทุมธานี พื้นที่ชานเมืองใกล้กรุงเทพมหานคร ซึ่งโรงผลิตประปาธัญบุรีของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ต้องหยุดจ่ายน้ำรวม 3 วัน
ขณะที่พื้นที่กรุงเทพมหานคร การประปานครหลวง (กปน.) ก็ประสบปัญหาน้ำเค็มรุกแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นมาถึงปากคลองสำแล อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ค่าความเค็มสูงกว่าค่ามาตรฐาน และเพื่อเตรียมรับกับสถานการณ์ภัยแล้งที่เขื่อนต่างๆ ต้องลดการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา จะทำให้น้ำเค็มรุกขึ้นมาส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำดิบผลิตน้ำประปาอีก กปน. จึงได้เตรียมแผนใช้แหล่งน้ำสำรองจากบริเวณต้นคลองเปรมประชากร เหนือปากคลองสำแลขึ้นไปอีกประมาณ 3 กิโลเมตร
ธนศักดิ์ วัฒนฐานะ ผู้ว่าการ กปน. เปิดเผยว่า บริเวณดังกล่าวน้ำเค็มจะขึ้นมาไม่ถึง พร้อมกันนี้ก็จะผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองมาผลิตน้ำประปา ก็จะสามารถแก้ปัญหาน้ำเค็มในช่วงฤดูแล้งนี้ได้ ซึ่งการผลิตน้ำประปาจะมีปัญหาเรื่องน้ำเค็มผสมเป็นหลัก แต่ไม่ถึงขั้นผลิตน้ำไม่ได้
ทั้งนี้ การผลิตน้ำประปาจะใช้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาประมาณวันละ 3.6 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) และใช้น้ำจากแม่น้ำแม่กลองผันเข้าสู่คลองมหาสวัสดิ์อีกวันละ 1.6 ล้าน ลบ.ม.
“สถานการณ์น้ำขณะนี้ยังไม่มีปัญหา เพราะน้ำในปัจจุบันยังพอมีอยู่และฝนยังตกลงมาอย่างต่อเนื่องในเดือน ก.ย.-ต.ค. ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ รวมกันมีอยู่ประมาณ 1,800 ล้าน ลบ.ม. คาดว่าการผลิตน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคจะไม่ได้รับผลกระทบแน่นอน มีเพียงแต่ผลกระทบต่อภาคการเกษตรที่ทำนาปรังเท่านั้น”ผู้ว่าการ กปน. กล่าว
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ วันที่ 20 ก.ย. 2558