นบข.เตรียมควักเงิน 4 หมื่นล้านบาท ดูแลราคาข้าวเปลือกฤดูกาลใหม่ แย้มเพิ่มวงเงินกู้ให้ชาวนาเป็น 2 เท่าจาก 5 หมื่น เป็น 1 แสนบาทต่อคน ยอมรับผวาหนี้ท่วม ส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไปทำรายละเอียด
แหล่งข่าวจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) เปิดเผยว่า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)ได้เสนอโครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขอรับการสนับสนุนวงเงินกู้ไม่เกิน 5 หมื่นบาทในปีที่ผ่านมา เพิ่มเป็น 1 แสนบาทในปีนี้ ทั้งนี้ที่ประชุมได้มีความเห็นว่าจะทำให้งบประมาณเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากปีที่ผ่านมา และจะทำให้ปริมาณการกู้เพื่อขยายเพดานเพิ่มตาม ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลแบกภาระมากขึ้น ซึ่งที่ประชุมได้ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) กลับไปทำรายละเอียดเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตามโครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ฯเป็นโครงการที่ดำเนินการโดยธ.ก.ส.และกรมส่งเสริมสหกรณ์ กำหนดเป้าหมายเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นเกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปีในปีการผลิต 2558/59 ซึ่งอัตราดอกเบี้ยจะลดให้กับสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการที่มีเกษตรกรเป็นสมาชิก ในอัตรา 3% ต่อปีของหนี้เงินกู้คงเหลือไม่เกิน 6 เดือน โดยวงเงินชดเชยดอกเบี้ยจะขอรับจากรัฐบาลเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ธ.ก.ส.ยังได้เสนอขอสินเชื่อในโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่อง โดยในปี 2558/59 จะปรับปริมาณในการดำเนินการรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อจำหน่ายและแปรรูปของสถาบันเกษตร กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชนจำนวน 2.5 ล้านตันข้าวเปลือก มูลค่าสินเชื่อ 1.25 หมื่นล้านบาท ซึ่งธ.ก.ส.จะสนับสนุนสินเชื่อให้กับระบบสหกรณ์เพื่อให้มีสภาพคล่องไปซื้อข้าวรวบรวมจากสมาชิกในอัตราดอกเบี้ย MLRโดยให้สถาบันเกษตร กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชนรับภาระดอกเบี้ย 2% ต่อปี และรัฐบาลชดเชยส่วนที่เหลือ 3% ระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 – 30 กันยายน 2559
ทั้งนี้คาดจะมีผู้เข้าร่วมโครงการมากกว่าปีที่ผ่านมาที่มีสหกรณ์เข้าร่วมโรงการ 316 สหกรณ์ โดยที่ธ.ก.ส.สนับสนุนสินเชื่อไปประมาณ 1.05 หมื่นล้านบาท ปริมาณข้าวที่รวบรวม 1.80 ล้านตัน และโครงการสินเชื่อเกษตรกรเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือกซึ่งธ.ก.ส.ได้ให้สินเชื่อกับเกษตรกรที่เป็นลูกค้าของธ.ก.ส.และสหกรณ์การเกษตรที่มีความพร้อมในโครงการในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อชะลอการขายข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเหนียวที่มีเป้าหมาย 2 ล้านตันข้าวเปลือก แยกเป็นเกษตรกรรายบุคคล 1.5 ล้านตัน และสหกรณ์การเกษตร 0.5 ล้านตัน จำนวนเงินกู้ถ้าเป็นรายบุคคลกู้ได้สูงสุดรายละไม่เกิน 3 แสนบาท และถ้าเป็นสหกรณ์กู้สูงสุดไม่เกินสหกรณ์ละ 300 ล้านบาท
โดยที่กำหนดวงเงินสินเชื่อต่อตันข้าวเปลือกที่มีความชื้นไม่เกิน 15% สิ่งเจือปนไม่เกิน 2% โดยที่ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาเป้าหมายตันละ 1.60 หมื่นบาท จะกำหนดวงเงินสินเชื่อ 90% คือราคาตันละ1.44 หมื่นบาท ข้าวเปลือกเหนียว10 % เมล็ดยาว กำหนดวงเงินสินเชื่อ 1.17 หมื่นบาท ข้าวเปลือกเหนียว10% เมล็ดสั้น กำหนดวงเงินสินเชื่อตันละ 1.08 หมื่นบาท โดยที่ทางธ.ก.ส.จะจ้างเซอร์เวเยอร์มาทำการสุ่มตรวจคุณภาพข้าว ชนิด กรัมข้าว และจ่ายเงินตามกรัมข้าวเพื่อให้เกษตรกรรักษาคุณภาพ
นอกจากนี้ ธ.ก.ส.ยังได้ขอเพิ่มค่าฝากเก็บรักษาสภาพข้าวเปลือกสำหรับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ โดยให้ค่าเก็บรักษาตันละ 1 พันบาท กรณีที่ครบระยะเวลาโครงการแล้วจำเป็นต้องระบายข้าวจะให้ค่าขนส่งกับเกษตรกรและสถาบันเกษตรไม่เกินตันละ 300 บาท ระยะเวลาในการดำเนินการวันที่ 1 พฤศจิกายน 2558-29 กุมภาพันธ์ 2559 และกำหนดให้เกษตรกรต้องชำระเงินคืนให้เสร็จภายใน 4 เดือน นับจากเดือนที่ได้รับเงินกู้ซึ่งระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 1พฤศจิกายน2558-30 กันยายน 2559 สำหรับงบประมาณที่ใช้ในโครงการเสนอสินเชื่อคาดว่าจะไม่เกิน 2.88 หมื่นล้านบาท
“ที่ประชุมนบข.ได้เห็บชอบในหลักการว่าด้วยการดำเนินมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวปีการผลิต 2558/59 ตามที่กระทรวงพาณิชย์และธ.ก.ส.เสนอวงเงินสินเชื่อรวมประมาณ 4 หมื่นล้านบาท สำหรับดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันการเกษตรกร เป็นต้น โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำรายละเอียดและหารือกับสำนักงบประมาณก่อนนำเสนอคณะกรรมการรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเพื่อพิจารณาและรายงาน นบข.ต่อไป”
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3088 วันที่ 17-19 กันยายน พ.ศ. 2558
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 17 ก.ย. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.