นักวิชาการทบทวนหนี้ภาคเกษตร พบเงินกองทุนอุดหนุนเกษตรกรจำนวนมากกลายเป็นหนี้สาธารณะ การวางนโยบายขาดความเข้าใจถึงปัญหาของการขาดศักยภาพในการแข่งขันของเกษตรกร ในอีกทางหนึ่ง นโยบายรัฐ เช่น การตกลงทำเอฟทีเอ ก็ส่งผลต่อการลดทอนศักยภาพของเกษตรกรด้วย
ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร จากมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยระบุว่าจากงานวิจัยของสถาบันเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย พบว่าภาคเกษตรกรของไทยส่วนใหญ่เป็นหนี้ในระบบ คนในภาคเกษตรไม่มีปัญหาในการเข้าถึงเงินทุน และเกษตรกรที่มีฐานะร่ำรวยเป็นหนี้มากกว่าเกษตรกรที่ยากจนกว่า 63 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ โดยเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้าน จะพบว่าไทยมีอัตราดอกเบี้ยถูกกว่าเพื่อนบ้าน ยกเว้นสิงคโปร์และมาเลเซีย เพราะรัฐบาลไทยทุกรัฐบาลจะมีนโยบายดอกเบี้ยต่ำเป็นนโยบายอุดหนุนภาคเกษตร ซึ่งนี่จะปัญหาที่บั่นทอนเศรษฐกิจระยะยาว เพราะเงินอุดหนุนกลายเป็นหนี้สาธารณะก้อนใหญ่
ดร. นิพนธ์ ชี้ว่าการให้สินเชื่อเกษตรกรควรให้ผ่านสถาบันการเงินมากกว่าที่จะเป็นการอุดหนุนจากหน่วยงานรัฐผ่านกองทุนต่างๆ ซึ่งหน่วยงานรัฐไม่มีความถนัดในเรื่องเหล่านี้เท่ากับสถาบันการเงิน และการให้ทุนกับเกษตรกรที่ขาดความสามารถในการแข่งขัน เช่น ผู้สูงอายุ หรือคนพิการ นั้นไม่มีประโยชน์เพราะขาดศักยภาพ ในกรณีเกษตรกรผู้สูงอายุหรือพิการ ควรปรับให้เป็นการสงเคราะห์มากกว่าอุดหนุน ขณะเดียวกันก็ควรมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่เป็นมาตรฐาน เพราะปัจจุบันนี้กองทุนอุดหนุนเกษตรกรที่มีกว่า 13 กองทุนนั้นมีลักษณะต่างคนต่างทำ ไม่มีดอกเบี้ยที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ประการต่อมาก็คือ การส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านการเงินการคลังให้กับเกษตรกร และควรบังคับให้สหกรณ์และกองทุนหมู่บ้านทั้งหมดถูกตรวจสอบความสามารถในการกู้โดยเครดิตบูโร ไม่เช่นนั้นรัฐจะขาดข้อมูลว่าเกษตรกรมีหนี้สินอยู่เท่าไหร่ ทำให้แก้ปัญหาหนี้สินเกินตัวของเกษตรกรไม่ได้
ดร.นิพนธ์เสนอด้วยว่า นโยบายการจำหน่ายหนี้สูญที่รัฐบาลกำลังจะดำเนินการมียอดหนี้กว่า 4,565 ล้านบาท จากลูกหนี้เกษตรกรราว 27,000 ราย เรื่องนี้ต้องมีระบบป้องกันคนที่ได้รับการจำหน่ายหนี้สูญแล้วต้องไม่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการอื่นของรัฐอีก
ขณะที่นายสุพัฒน์ เอี้ยวฮาย ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ระบุว่า การมองโครงสร้างหนี้ต้องมองโครงสร้างครัวเรือนของเกษตรกรด้วย เพราะในหนึ่งครัวเรือนอาจประกอบด้วยผู้สูงอายุ ผู้ป่วย เกษตรกรวัยแรงงาน และต้องทำความเข้าใจกับวิธีคิดของเกษตรกรด้วยเนื่องจากสำหรับคนที่มีเงินอยู่น้อย ก็อาจจะเป็นเรื่องยากที่จะคิดเรื่องการจัดสรรเงินทุน หลายครั้งที่ภาครัฐพูดเรื่องการให้การศึกษาด้านการเงินกับเกษตรกร แต่ก็ต้องยอมรับว่าความรู้บางเรื่องไม่ตอบโจทย์ที่เกษตรกรต้องการ อีกทั้งโครงการให้ความรู้ทางการเงินของภาครัฐเองก็ไม่ประสานให้สอดคล้องกัน เป็นเรื่องสิ้นเปลืองงบประมาณอีกด้วย
“คนเหล่านี้ไม่มีเวลามานั่งคิด คนจนกับเราคิดไม่เหมือนกัน เพราะเราคิดเรื่องการจัดสรรเงิน แต่ชาวบ้านมีเงินแค่ร้อยบาทจะให้เขาจัดสรรอะไร คนที่อยู่ในฟิลด์ (พื้นที่) น่าจะเข้าใจดีกว่านักวิชาการ นี่จึงไม่ใช่แค่การสอนอย่างเดียวเพราะการสอนไม่สามารถหยุดวงจรนี้ได้” โดยนายสุพัฒน์กล่าวด้วยว่า กองทุนอุดหนุนเกษตรกรได้ผลหรือไม่ได้ผล มีประสิทธิภาพหรือไม่นั้นเป็นเรื่องประเมินยาก เพราะต้องคิดเปรียบเทียบด้วยว่า ถ้าไม่มีกองทุนแล้วเกษตรกรจะอยู่ในภาวะที่ต่างไปหรือไม่
ด้านดร.กนก คติการ อดีตเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ให้ความเห็นว่า การประเมินผลเรื่องกองทุนอุดหนุนเกษตรกรนั้น ต้องพิจารณาจากนโยบายรัฐโดยรวมด้วย เพราะการขาดศักยภาพของเกษตรกรไทยบางกรณีก็เกิดจากนโยบายรัฐเองเช่นการเจรจาเอฟทีเอ ตัดโอกาสของเกษตรกรบางส่วน ซึ่งก็ควรจะชดเชยให้กับเกษตรกรด้วยการให้โอกาสเข้าถึงกองทุนอุดหนุนดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น
ที่มา : BBC Thai วันที่ 21 ก.ย. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.