ในอดีตเคยได้รับฉายาหมู่บ้านยากจนที่สุดของจังหวัด มีข้อมูลชี้วัดตกเกณฑ์ จปฐ. (ความจำเป็นพื้นฐาน) กระทั่งชาวบ้านรวมตัวกันคิดหาแนวทางแก้ไข ด้วยการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เล็กๆ แล้วค่อยๆ เติบโตก้าวขึ้นมากลายเป็นธนาคารชุมชนที่มีความแข็งแกร่งที่สุดในเวลานี้
สำหรับ ”หมู่บ้านดอนมะขามย่างเนื้อ” ต.ปากทะเล อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี เจ้าของธนาคารชุมชนดีเด่นระดับประเทศ ที่เป็นแหล่งเงินทุนของชาวบ้านในการประกอบอาชีพครอบคลุมพื้นที่ 4 หมู่บ้านในตำบล ตั้งแต่หมู่ 1-4 ปัจจุบันมีสมาชิกในเครือข่ายมากกว่า 2,000 ราย
จากความสำเร็จดังกล่าวทำให้ชาวบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีอาชีพและรายได้อย่างมั่นคง ส่งผลให้หมู่บ้านดอนมะขามย่างเนื้อได้รับรางวัลชนะเลิศหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงประจำปี 2557 และล่าสุดสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศหมู่บ้านสารสนเทศดีเด่น ระดับเขตประจำปี 2558 ของกรมการพัฒนาชุมชนมาครองได้สำเร็จอีกครั้ง
กิ่งทอง รูปิยเวช ผู้จัดการฝ่ายการเงินและบัญชี ธนาคารชุมชนบ้านดอนมะขามย่างเนื้อ บอกเล่าถึงความสำเร็จของธนาคารแห่งนี้ว่า เริ่มก่อตั้งธนาคารเมื่อปี 2548 หลังจากมีการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มออมทรัพย์จนมีความเข้มแข็งแล้วยกระดับมาเป็นธนาคารชุมชน โดยมีธนาคารออมสินเป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษาแนะนำการดำเนินกิจการ ภายใต้การนำของ อรุณ สีดวกบวบ ประธานธนาคารชุมชนคนปัจจุบัน
“แต่ก่อนเป็นหมู่บ้านยากจน ตกเกณฑ์ จปฐ. ปี 36 มีเงินก้อนแรกจากโครงการแก้ไขความยากจน (กขคจ.) เข้ามาจำนวน 2.8 แสนบาท จากนั้นก็มีกองทุนเงินล้านเข้ามา แล้วเราก็มีกลุ่มออมทรัพย์เดิมอยู่แล้ว ออมวันละบาท เก็บเดือนละ 30 บาทต่อคน เกิด แก่ เจ็บ ตายได้ทั้งหมด จึงเอาเงินมารวมกันเพื่อจัดตั้งเป็นเป็นธนาคารชุมชนหมู่บ้านดอนมะขามย่างเนื้อขึ้นในปี 48”
ผลสำเร็จจากการจัดตั้งธนาคารชุมชนไม่เพียงเป็นแหล่งเงินทุนให้สมาชิกกู้ยืมเพื่อนำไปประกอบอาชีพเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งเงินออมของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มผู้ประกอบอาชีพต่างๆ ในชุมชนอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มออมทรัพย์วันละบาท กลุ่มทำน้ำยาล้างจาน กลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์ กลุ่มเลี้ยงปลา กลุ่มทำนากุ้ง กลุ่มเลี้ยงโคนม ตลอดจนกลุ่มแม่ค้าหาบเร่แผงลอยที่ทำมาหากินอยู่บริเวณชายหาดชะอำ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี
กิ่งทอง แจงรายละเอียดในการดำเนินกิจการของธนาคารชุมชนแห่งนี้ โดยระบุว่า คณะกรรมการธนาคารนั้นจะเป็นตัวแทนของกลุ่มอาชีพต่างๆ ในชุมชนที่ได้รับคัดเลือกส่งเข้ามาเป็นกรรมการของธนาคาร ปัจจุบันมี นายอรุณ สีดวกบวบ เป็นประธานคณะกรรมการธนาคาร มีการทำธุรกรรมทางการเงินเหมือนกับธนาคารพาณิชย์ทั่วไป แต่ให้เฉพาะผู้ที่เป็นสมาชิกของธนาคารเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ฝาก ถอนทั่วไป ตลอดจนการทำธุรกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ การกู้ยืมฉุกเฉิน กรณี งานบวช งานแต่ง งานศพ เป็นต้น โดยสมาชิกสามารถกู้ยืมได้จำนวนเงินสูงสุด 1 แสนบาท หลังเสร็จงานก็นำมาคืน โดยทางธนาคารไม่คิดดอกเบี้ยแต่อย่างใด
“วงเงินกู้สูงสุดได้ไม่เกิน 2 หมื่นต่อราย คิดดอกร้อยละบาทต่อเดือน กรณีเอาโฉนดมาค้ำ แต่ถ้าสมาชิก 3 คนค้ำ จะคิดร้อยบาทห้าสิบ แต่สมาชิกต้องเสนอโครงการให้คณะกรรมการพิจารณาก่อนว่าจะเอาเงินไปทำอะไร ถึงจะอนุมัติเงินกู้ ส่วนกรณีสมาชิกรายใดมีงานบวช งานแต่ง งานศพแต่ไม่มีเงินก็มากู้ยืมได้เสร็จงานก็มาจ่ายคืนโดยไม่คิดดอกเบี้ย” ผู้จัดการฝ่ายการเงินเผย พร้อมระบุว่า ที่ผ่านมาไม่เคยมีหนี้เสีย จะมีก็แต่ส่งเงินคืนช้ากว่ากำหนด เนื่องจากอาชีพที่ทำนั้นต้องประสบปัญหาการขาดทุนหรือผลผลิตที่ได้ไม่เป็นไปตามเป้าที่วางไว้
ส่วนการเปิดทำการของธนาคารนั้น กิ่งทองบอกว่า จะเปิดให้บริการเฉพาะสมาชิกของธนาคาร ทั้งในส่วนที่เป็นนิติบุคคล กลุ่มอาชีพต่างๆ และบุคคลทั่วไป โดยจะเปิดให้บริการเพียงสัปดาห์ละ 1 วัน เฉพาะวันอาทิตย์ตั้งแต่ 09.00–12.00 น. โดยมีคณะกรรมการธนาคารจะมาทำหน้าที่ให้บริการในส่วนต่างๆ ซึ่งจะได้รับค่าจ้างครั้งละ 100 บาท
“ธนาคารเราจะไม่มีเจ้าหน้าที่ประจำหรอก แต่จะมีคณะกรรมการธนาคารมาทำหน้าที่ในช่วงวันที่ธนาคารเปิดทำการ คือทุกวันอาทิตย์เวลา 9 โมงเช้าถึงเที่ยงเท่านั้น ใครจะมาทำธุรกรรมอะไรก็มาได้ในช่วงนี้ ส่วนค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ได้ครั้งละ 100 บาท แต่จะได้รวมยอดอีกครั้งในตอนปลายปี เฉลี่ยคนละ 5-6 พันบาท”
ปัจจุบันธนาคารชุมชนหมู่บ้านดอนมะขามย่างเนื้อ มีเงินทุนในธนาคารประมาณ 10 ล้านบาท โดยมีเงินหมุนเวียนเฉลี่ยต่อเดือน 80,000-100,000 บาท โดยการทำธุรกรรมของธนาคารจะไม่เน้นกำไร แต่จะมุ่งไปที่การเป็นแหล่งเงินทุนให้แก่สมาชิกเพื่อนำไปประกอบอาชีพและกำไรที่ได้จากการทำธุรกรรมมาใช้ในการทำประโยชน์เพื่อช่วยเหลือสังคมมากกว่าการคืนกำไรให้แก่สมาชิก
“จุดเด่นของเราคือ การคืนกำไรสู่สังคม มากกว่าการปันผลกำไรให้แก่สมาชิก ที่อื่นเขาอาจมีเงินมากกว่าเรา บางแห่งมี 40-50 ล้าน แต่ผลกำไรที่ได้กลับคืนสู่สมาชิกเท่านั้น นี่คือจุดเด่นที่ทำให้เราได้รับรางวัลและมีคนมาดูงานจากทั่วประเทศ ต่างประเทศก็มา อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ก็มีประเทศเนปาลมาดูงานที่ธนาคารของเรา” กิ่งทองกล่าวอย่างภูมิใจ
กิ่งทองกล่าวย้ำว่า ปัจจุบันคนในหมู่บ้านดอนมะขามย่างเนื้อส่วนใหญ่นอกจากจะไม่กู้เงินนอกระบบมาลงทุนในการประกอบอาชีพแล้ว ยังไม่มีโอกาสใช้บริการธนาคารรัฐอย่างเช่น ธ.ก.ส.อีกด้วย เนื่องจากธนาคารชุมชนสามารถให้บริการได้อย่างเพียงพอและทั่วถึง
ธนาคารหมู่บ้านดอนมะขามย่างเนื้อ ต.ปากทะเล อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี นับเป็นอีกความสำเร็จของธนาคารชุมชน ที่เกิดจากแนวคิด การทำงาน ความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชน จนกลายเป็นแหล่งเงินทุนหลักในการประกอบอาชีพ สร้างรายได้เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นนั่นเอง
“ธนาคารชุมชน”ต่อลมหายใจแม่ค้าหาบเร่
หากใครมีโอกาสไปท่องเที่ยวชายหาดชะอำ จะเห็นแม่ค้าหาบเร่เดินขายจำพวกกุ้ง หอย ปู ปลา และสินค้าพื้นเมืองของเพชรบุรี โดยแม่ค้าเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านจากหมู่บ้านดอนมะขามย่างเนื้อใน ต.ปากทะเล ที่มายึดทำเลชายหาดชะอำทำมาหากินอย่างยาวนาน
หุ้นส่วน เกตุแก้ว หนึ่งในชาวบ้านในหมู่บ้านดอนมะขามย่างเนื้อ ต.ปากทะเล แม้จะมีอาชีพหลักทำนา แต่ก็ยังเจียดเวลาในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ มายึดอาชีพแม่ค้าหาบเร่ที่ชายหาดชะอำ โดยมีสินค้าสำคัญ ได้แก่ ลูกตาลโตนด น้ำตาลสดและน้ำตาลปึก ที่ผลิตขึ้นมาเองในครัวเรือน โดยลูกตาลโตนดนั้น สนนราคา 3 ถุง 100 บาท ถุงละ 0.5 กิโลกรัม ส่วนน้ำตาลสด 3 ขวด 100 บาท และน้ำตาลปึกกิโลกรัมละ 80 บาท ซึ่งใช้เงินลงทุนโดยกู้จากธนาคารชุมชนในหมู่บ้าน
“ที่บ้านมีอาชีพทำนา ตามหัวคันนาก็จะมีต้นตาลที่ปลูกไว้ ก็มีรายได้จากการทำตาลโตนดด้วย ผลผลิตที่ได้ก็จะนำไปขายที่ชายหาดชะอำ แต่จะไปเฉพาะวันหยุดเสาร์อาทิตย์หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ เพราะมีนักท่องเที่ยวเยอะ ส่วนวันธรรมดาก็จะทำงานอยู่บ้าน”
ยอมรับว่าการกู้เงินธนาคารส่วนใหญ่จะนำไปลงทุนในอาชีพทำนา เงินบางส่วนก็จะนำไปซื้ออุปกรณ์ในการผลิตน้ำตาลสดและน้ำตาลปึก นอกจากนี้ยังนำไปลงทุนเลี้ยงปลาช่อนและกุ้งขาวที่เลี้ยงไว้อย่างละ 1 บ่อ หลังจากจับขายได้แล้วก็จะนำเงินมาคืนให้กับธนาคาร
“ไม่เคยกู้นอกระบบหรือกู้ ธ.ก.ส.เลย ถ้าจะลงทุนทำอะไรก็จะกู้ธนาคารชุมชนนี่แหละสะดวกที่สุด ได้เงินง่ายแล้วก็ดอกไม่แพงด้วย ที่สำคัญผลกำไรของธนาคารก็ไม่ได้เอาไปไหน แต่จะนำมาช่วยชุมชนของเรา” ชาวบ้านคนเดิมกล่าวทิ้งท้าย
รางวัลหมู่บ้านจัดการสารสนเทศดีเด่นปี58
ปรียาพร สุบงกช นักวิชาการพัฒนาชุมชนปฏิบัติการ สำนักงานพัฒนาชุมชน อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี รับผิดชอบพื้นที่ ต.ปากทะเล กล่าวถึงสภาพหมู่บ้านดอนมะขามย่างเนื้อว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ นอกจากจะมีการทำนาแล้ว ยังมีการเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา รับจ้างแบกเกลือ หาบเร่แผงลอยตามชายหาดที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยว อย่างเช่นหาดเจ้าสำราญ หาดชะอำ
“ที่หมู่ 1 บ้านดอมมะขามย่างเนื้อนั้น มีความพิเศษที่เด่นมากคือธนาคารชุมชน ตอนแรกกรมการพัฒนาชุมชนได้เข้าไปส่งเสริมให้ทำกลุ่มออมทรัพย์ จากนั้นก็ยกฐานะเป็นธนาคารชุมชน โดยมีธนาคารออมสินเข้ามาช่วยให้คำปรึกษาแนะนำ”
นักวิชาการคนเดิมระบุอีกว่า นอกจากธนาคารชุมชนแล้ว หมู่บ้านแห่งนี้ยังมีความโดดเด่นในเรื่องการเชื่อมโยงเครือข่ายโดยใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กในการกระจายข้อมูลข่าวสารความเคลื่อนไหวกิจกรรมต่าง ๆ ของหมู่บ้านไปสู่สมาชิกในชุมชนและทั่วประเทศ โดยมีการตั้งกลุ่มเฟซบุ๊ก กลุ่มไลน์ของผู้นำ ติดตั้งอินเทอร์เน็ตประจำบ้าน โดยมีบุตรหลานช่วยฝึกสอนพ่อแม่ให้รู้จักวิธีการใช้ จนประสบความสำเร็จ ทำให้ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์จากโซเชียลเน็ตเวิร์กได้เป็นอย่างดี
“ปีที่แล้ว (2557) หมู่บ้านดอนมะขามย่างเนื้อได้รับรางวัลชนะเลิศหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงดีเด่นของกรม มาปีนี้ (2558) ได้รับรางวัลชนะเลิศหมู่บ้านการจัดการสารสนเทศดีเด่นระดับเขต ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของพื้นที่เขต 5 ของกรมการพัฒนาชุมชน” ปรียาพร กล่าวที่สุด
ที่มา : คมชัดลึก วันที่ 17 ก.ย. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.