ชาวบ้านแสดงภาพถ่ายขณะถูกเจ้าหน้าที่แผ้วถางสวนยาง
โดย...พชร เนืองนอง
จากนโยบาย "ทวงคืนผืนป่า" ต่อเนื่องมาตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา รัฐบาลมอบหมายให้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ ปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าที่ถูกบุกรุก ปลูกยางพารารวม 600,000 กว่าไร่ ภายใน 62 จังหวัดทั่วประเทศ และตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องเป็นผลสำเร็จภายในสิ้นปี 2558 นี้
อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลมีความพยายามที่จะแก้ปัญหาการบุกรุกและทำลายป่าอย่างจริงจัง แต่ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยที่อาศัยอยู่กับผืนป่ามาก่อนหน้าที่จะประกาศเป็นเขตของทางการ กลับได้รับผลกระทบไม่น้อย
จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐในระดับนโยบาย และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติต้องตระหนักและคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ด้วย เช่นกัน
โครงการสื่อสารสุขภาวะชุมชนชายขอบ นำคณะลงสำรวจพื้นที่ และพูดคุยกับ ชาวบ้านที่ อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร และ อ.วังสามหมอ จ.อุดรธานี หนึ่งในพื้นที่รอยต่อของเขตอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก โดยเจ้าหน้าที่แผ้วถางและเตรียมรื้อถอนที่ดินทำกินของชาวบ้าน
ที่บ้านหนองแวง ต.วาริชภูมิ อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร มีชาวบ้านอาศัยอยู่ราว 500 ครัวเรือน วิถีชีวิตของชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรและปลูกยางพารา ในอดีตเป็นพื้นที่สีแดงสมัยรัฐบาลต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์
หลังจากนั้น รัฐบาลประกาศให้ชาวบ้านในพื้นที่ออกมาขึ้นทะเบียนเป็น "ผู้ร่วม พัฒนาชาติไทย" โดยมีนโยบายให้ที่ดินทำกินชาวบ้าน ส่วนชาวบ้านที่เคยอาศัยอยู่ที่เดิมก็สามารถอยู่ต่อไปได้
แต่แล้ววันที่ 30 มิ.ย.2541 ที่ประชุมครม.มีมติการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าไม้ โดยชาวบ้านทุกคนที่อาศัยในป่าจะต้องเข้ารับการสำรวจการถือครองที่ดิน การพิสูจน์สิทธิ์ และการรับรองสิทธิ์ แต่ที่ดินของชาวบ้านได้รับการพิสูจน์สิทธิ์นั้นเหลือน้อยกว่าเดิมจนทำประโยชน์ไม่ได้ และจุดนี้เองกลายมาเป็นปัญหาที่กระทบต่อที่ดินทำกินของชาวบ้านมาจนถึงปัจจุบัน
"จากการพิสูจน์สิทธิ์ ชาวบ้านบางคนมีที่ดิน 18 ไร่ แต่ได้รับการพิสูจน์สิทธิ์ที่ดิน 2 ไร่ บางคนได้รับที่ดิน 3 ตารางวา ชาวบ้าน จึงยื่นเรื่องให้จังหวัดพิสูจน์สิทธิ์ใหม่ และรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านมากขึ้น แต่กระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ยังไม่สิ้นสุด ครม. ก็ประกาศเขตอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก พ.ศ.2552 จนกระทั่ง รัฐบาลและคสช.เข้ามาบริหารประเทศ และประกาศนโยบาย ทวงคืนผืนป่า ทำให้กระบวนการที่ดำเนินการอยู่ถูกล้มเลิกทั้งหมด" นายสวาท อุปะฮาด ตัวแทนเครือข่ายไทบ้านไร้สิทธิ์สกลนคร อธิบายถึงปัญหา
หนึ่งในชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก คือ นางจันทรา บังหอม หรือ ยายจันทรา อายุ 82 ปี ชาวบ้านหนองแวง ถูกเจ้าหน้าที่กว่า 100 คน แผ้วถางที่ดินแปลงยางพาราจำนวน 18 ไร่ โดยไม่แจ้งล่วงหน้า แล้วปักป้ายล้อมเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ จากสาเหตุที่เจ้าหน้าที่อธิบายว่าบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติ
แต่ยายจันทราก็ยืนยันว่า ที่ดินแปลงนี้ตกทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ปลูกยางพารามานาน 9 ปี และกรีดยาง 2 ปี เท่านั้น โดยยังไม่ทันชำระหนี้สินกว่า 200,000 บาท ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
"ที่ดินแปลงนี้ย่าให้พ่อ และพ่อให้มาตั้งแต่ปีพ.ศ.2525 เมื่อก่อนปลูกพริก มะเขือ กล้วย และหันมาปลูกยางพารา จากการส่งเสริมของภาครัฐ เพื่อหวังหาเงินใช้หนี้ ที่ดินแปลงนี้ปลูกต้นมะม่วงหิมพานต์มาตั้งแต่ พ.ศ.2528 แต่วันนี้เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาตัดโค่นทั้งหมด ไม่รู้จะหันหน้าพึ่งใคร ลูกชายจึงไปรับจ้างทำไร่ที่ต่างจังหวัดแล้ว เพราะว่าไม่มีเงินซื้อข้าวกิน" เสียงสะท้อนจากยายจันทรา
ขณะเดียวกัน ที่บ้านสมสวัสดิ์ อ.วังสามหมอ จ.อุดรธานี ซึ่งอยู่ใน เขตอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็กด้วย มี บ้านเรือนชาวบ้านอยู่เพียง 4-5 หลังคาเรือน กำลังรอเวลาถูกรื้อถอนจากทางการ ทำให้ชาวบ้านเหล่านี้รู้สึกล้มทั้งยืน เพราะไม่รู้ว่าชีวิตในอนาคตของพวกเขาจะเป็นอย่างไร
"เจ้าหน้าที่เข้ามาแจ้งว่าที่ดินของเราและเพื่อนบ้านทับซ้อนกับเขตอุทยานฯ ให้ทุกคนออกจากพื้นที่โดยเร็วที่สุด และคาดว่าการรื้อถอนจะดำเนินการไม่เกินสิ้นปีนี้ อีกทั้งผู้นำชุมชนก็บอกไม่ให้ ชาวบ้านเรียกร้องและต่อต้าน ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาแผ้วถางที่ดิน ตอนนี้ครอบครัวจึงมีความรู้สึกไม่แน่นอน" นางลำดวน บุญโส หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบที่บ้านสมสวัสดิ์ กล่าว
นางลำดวนย้อนให้ฟังว่า อาศัยอยู่กับแม่พร้อมลูก 2 คน มาตั้งแต่ปีพ.ศ.2536 ก่อนหน้านี้เคยถูกเจ้าหน้าที่รื้อถอนบ้านเมื่อปลายปีที่แล้ว และมาสร้างบ้านหลังใหม่ห่างจากสวนยางพาราของเพื่อนบ้านประมาณ 5 ก.ม. ตอนนี้ลูกทั้ง 2 คน ลาออกจากมหาวิทยาลัยแล้ว เพราะไม่มีเงิน จะเพาะปลูกอะไรก็ไม่ได้ แม้แต่สวนยางพาราหน้าบ้าน 8 ไร่ ก็กรีดไม่ได้
นอกจากนี้ที่บ้านจัดระเบียบ ต.หลุบเลา อ.ภูพาน จ.สกลนคร ก็มีปัญหาลักษณะเดียวกัน โดยบ้านจัดระเบียบก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2536 วิถีชีวิตของชาวบ้านเพาะปลูกพืชต่างๆ เช่น ปอ หวาย กล้วย และปลูกยางพาราจากการส่งเสริมของภาครัฐ ในพื้นที่แกนกลางของป่า 841 ไร่ แต่ในปัจจุบันถูกตรวจยึดที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดงชมภูพาน-ป่าดงกะเฌอ เมื่อปีพ.ศ.2557
ก่อนหน้านี้ชาวบ้านอาศัยในป่าที่เป็นเขตอุทยานแห่งชาติภูพานในปัจจุบัน ต่อมารัฐบาลเข้ามาสำรวจป่าและขอให้ชาวบ้านออกจากป่า และก่อตั้งหมู่บ้านดังกล่าว แล้วจัดสรรที่ดินทำกินแบบภาษีบำรุงท้องที่ (ภบท.5)
จากนั้นมีการเปลี่ยนที่ดินเป็นแบบสำนักปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) แต่งบประมาณดำเนินการหมดลงเมื่อ พ.ศ.2544 ภาคท้องถิ่นจึงให้ชาวบ้านแจ้งสิทธิครอบครองที่ดินแบบ ภบท.1 โดยต้องชำระภาษีให้ภาคท้องถิ่นทุกปีตามจำนวนไร่ที่แต่ละครัวเรือนครอบครอง
นายสมชัย ทองดีนอก ตัวแทนชาวบ้านจัดระเบียบ กล่าวให้ข้อมูลว่า เมื่อปีพ.ศ.2555 กรมป่าไม้เข้ามาตรวจสอบสิทธิครอบครองที่ดินอีกครั้ง โดยชาวบ้านที่ครอบครอง ภบท.5 ก่อน พ.ศ.2545 สามารถทำประโยชน์ในที่ดินทำกินต่อไปได้ ส่วนหลัง พ.ศ.2545 ต้องยุติการทำประโยชน์ทั้งหมด และอีก 2 ปีให้หลัง กรมป่าไม้ก็เข้ามาอีกครั้ง
"กรมป่าไม้แจ้งให้ชาวบ้านที่ครอบครองที่ดินทำกินมากกว่า 25 ไร่ แจ้งสิทธิ์ครอบครองที่ดิน เพื่อเตรียมออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) โดยให้ชาวบ้านเซ็นชื่อลงบนกระดาษเปล่า และถ่ายภาพชาวบ้านคู่กับแปลงยางพารา แล้วแจ้งความกับชาวบ้านทันที 34 คน"
นายสมชัยเล่าต่อว่าขณะนี้ชาวบ้านให้การรับสารภาพ 4 คน และรอลงอาญา 4 คน ที่เหลืออีก 26 คน อยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล นายสมชัยเองก็อยู่ในกรณีหลัง ข้อหาบุกรุกเขตพื้นที่ป่าสงวน 16 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินทำกินแปลงสุดท้าย
ชาวบ้านให้ข้อสังเกตหนึ่งด้วยว่า ในเมื่อภาครัฐมีคำสั่งที่ 66/2557 คุ้มครองผู้ไร้ที่ดินทำกินแล้ว ทำไมเจ้าหน้าที่รัฐไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว และเลือกปฏิบัติแต่คำสั่งที่ 64/2557 อีกทั้งถ้าภาครัฐลงมาสำรวจสภาพวิถีชีวิตของชุมชนอย่างจริงจังแล้ว ทำไมคนจะอยู่ร่วมกับป่าไม่ได้
"ถ้ามองว่าป่าเสียหาย เพราะว่าชาวบ้านบุกรุก ก็อยากให้มองไปที่ประวัติศาสตร์ว่า ก่อนที่ป่าจะลดลง มันเกิดจากสัมปทานป่าไม้ หรือการสร้างเขื่อนหรือไม่ ขอให้รัฐรับผิดชอบต่อสิ่งที่รัฐทำและมองปัญหาตามข้อเท็จจริง โดยลงมาสำรวจสภาพความเป็นจริงของวิถีชีวิตชุมชน ไม่ใช่เอากฎหมายเป็นตัวตั้งอย่างเดียว
มันมีมาตรการหลายอย่างที่จะทำให้คนอยู่กับป่าได้ ด้วยความเข้าใจระหว่างชาวบ้านและรัฐ ถึงแม้ว่าชาวบ้านจะปลูกพืชอะไรก็ตาม ก็สามารถปลูกพืชชนิดอื่นเพิ่มเติมเข้าไปได้โดย ไม่ต้องตัดโค่น ถ้าตัดโค่นแล้วกว่าที่ป่าจะฟื้นตัว ชาวบ้านก็ล้มละลาย เพราะไม่รู้จะทำอะไรกิน" นางจันทร โพธิ์จันทร์ หนึ่งในชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ ร่วมชี้ถึงปัญหา
แน่นอนนโยบายรักษาผืนป่า รักษาทรัพยากร ย่อมส่งผลดีต่อสังคมโดยรวมและประเทศชาติ แต่ในทางปฏิบัติ ต้องดูด้วยว่าจะทำอย่างไรที่จะดูแลกลุ่มคนที่อยู่กับป่ามาก่อนภาครัฐจะมาขีดเส้นหรือแบ่งพื้นที่รับผิดชอบ
หรือกรณีที่ชาวบ้านบางกลุ่มอยู่อย่างไม่ถูกต้อง ก็เพราะกฎระเบียบของทางราชการเองที่มันบิดเบี้ยวมาแต่แรก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องตระหนักและคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ด้วย
ที่มา : ข่าวสด วันที่ 17 ก.ย. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.