ป่าไม้แจงรื้อพื้นที่เตรียมโฉนดชุมชนตามนายสั่ง- นักวิชาการเสนอยกเลิกเอาป่ามาแจก
จนท.อุทยานฯ เผยรื้อถอนที่เตรียมโฉนดชุมชนตามคำสั่ง นักวิชาการชี้ รบ.ไหนก็ไม่กล้าออก พ.ร.บ.โฉนดชุมชน หวั่นกระทบทุน เสนอแก้ัํปัญหาจริงต้องยกเลิกเอาป่ามาแจก แต่จำกัดการถือครองที่ดิน
26 เม.ย. 55 วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต ร่วมกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด และกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน จัดเสวนา “ความรุนแรงต่อคนจนจากโยบายรักษาป่า บทสะท้อน 15 ปี สิทธิชุมชนในสังคมไทย” ณ คณะนิเทศศาสตร์ ม.รังสิต ภายหลังเกิดกรณีข้อพิพาทระหว่างเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่ – เขาย่า และสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ที่โดนเจ้าหน้าที่นำกำลังตัดโค่นสวนยางพาราและรื้อสะพานในพื้นที่เตรียมนำร่องออกโฉนดชุมชนบ้านทับเขือ – ปลักหมู และบ้านหาดสูง จ.ตรัง จนชาวบ้านต้องเดินขบวนยื่นหนังสือแก่หน่วยงานรัฐทุกภาคส่วน เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ในมุมมองนักวิชาการเเละผู้ปฏิบัติงานต่อเเนวทางเเก้ปัญหา นายธิติ กนกทวีฐากร ผู้ตรวจราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ชี้แจงว่า กรณีเจ้าหน้าที่รัฐรื้อถอนพื้นที่นำร่องเตรียมออกโฉนดชุมชนนั้นทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาและกฎกระทรวงที่ระบุมาตั้งแต่รัฐบาลก่อนแล้วว่าหากพื้นที่ใดมีการยึดถือ บุกรุก ครอบครองให้ย้ายออกใน 24 ชั่วโมง หากไม่กระทำจะตั้งกรรมการสอบวินัยทันที ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากระบบราชการไทยที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งลายลักษณ์อักษร
นายธิติ กล่าวต่อว่า มั่นใจรัฐบาลปัจจุบันจะสานงานต่อ แต่อาจเปลี่ยนชื่อโฉนดชุมชน เพราะทำให้ชาวบ้านคิดว่ามีกรรมสิทธิ์ครอบครองไม่ต่างจากโฉนดที่ดินทั่วไป สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ ทั้งที่ความจริงการตั้งชื่อผิดตั้งแต่ชั้นกฤษฎีกาตีความแล้ว
“การแก้ปัญหาจำเป็นต้องแก้กฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญว่าด้วยเรื่องสิทธิชุมชน ม. 66 และ67 โดยการประกาศพื้นที่อนุรักษ์จะต้องสำรวจว่ามีใครได้รับผลกระทบ พร้อมปักปันเขตชัดเจน หากเกิดการทับซ้อนพื้นที่ชาวบ้านสามารถยื่นอุทธรณ์เพิกถอนคำสั่งได้” ผู้ตรวจราชการทส. กล่าว
ด้านรศ.ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ กล่าวว่า ไทยเคยมีพื้นที่ป่าทั่วประเทศ 130 ล้านไร่ แต่ปัจจุบันกลับเหลือเพียง 100 ล้านไร่ ซึ่งมีผลจากการลักลอบตัดไม้ส่งออก การทำเกษตรพาณิชย์ และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ของกลุ่มนายทุนที่มีผลประโยชน์เกี่ยวเนื่องกับนโยบายรัฐ โดยเฉพาะในพื้นที่เตรียมออกโฉนดชุมชน
ทางออกหนึ่งที่จะลดปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น รัฐบาลต้องไม่แก้ปัญหาที่ปลายเหตุโดยสั่งเจ้าหน้าที่เข้ารื้อถอนโดยอ้างสิทธิชอบธรรมทางกฎหมาย แต่ควรแก้กฎหมายให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในสังคมและเกิดประโยชน์สูงสุด มิใช่เป็นเพียงเศษกระดาษแผ่นหนึ่งที่เขียนขึ้นเพื่อใช้บังคับข้าราชการให้เดินตามนโยบายโดยมีผลประโยชน์แอบแฝง ส่งผลให้ประเทศไม่พัฒนา
นายวสันต์ พานิช ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ กล่าวว่า อดีตคนไทยดำรงชีวิตอยู่กับน้ำและป่าแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน แต่เมื่อมีกฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมขึ้น เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจทางกฎหมายกำหนดเขตอนุรักษ์ป่าทับซ้อนที่อยู่อาศัยของชาวบ้านเดิม ทำให้ไม่มีที่ทำกิน เพราะรัฐบาลทุกสมัยออกกฎหมายตามชาติตะวันตกที่ให้ทรัพยากรเป็นของรัฐ หากใครจะใช้ต้องสัมปทานเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่ตกอยู่ในมือนายทุน เช่น เหมืองแร่ ป่าไม้
“จะให้ชาวบ้านลุกขึ้นเรียกร้องความเป็นธรรมฝ่ายเดียวไม่ได้ หากรัฐบาลไม่ช่วยเหลือก็ไม่เกิดผล สิ่งสำคัญคือก่อนกำหนดเขตพื้นที่อนุรักษ์ป่าต้องตรวจสอบข้อมูลว่ามีใครอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าดั่งเดิมบ้าง เพื่อลดข้อขัดแย้งเช่นปัจจุบัน” นายวสันต์กล่าว
ขณะที่รศ.วิทยากร เชียงกุล คณบดีกิตติคุณวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต กล่าวว่า ไทยกำลังปกครองระบอบทุนนิยมกึ่งผูกขาด อาจทำให้เกิดภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจในอนาคตได้ เพราะรัฐกำลังใช้กลไกทุนนิยมเอื้อต่อนายทุนสัมปทานพื้นที่ป่า เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความเชื่อดังกล่าวส่งผลให้ชาวบ้านถูกรุกพื้นที่ทำกิน ไม่เฉพาะรัฐบาลปัจจุบันเท่านั้น แม้แต่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ไม่กล้าออกพ.ร.บ.จัดตั้งโฉนดชุมชน เพราะหวั่นฐานเสียงที่มีกลุ่มทุนรองรับจะน้อยลง จึงออกเพียงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเท่านั้น
รัฐบาลควรยกเลิกนำพื้นที่ป่าแจกชาวบ้าน แต่ควรจำกัดการถือครองที่ดินของคนในประเทศให้เกิดความเท่าเทียม พร้อมตั้งธนาคารที่ดินและเก็บภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้าเหมือนญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ต้องส่งเสริมให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง รู้จักการบริหารจัดการตนเองก่อนจะจัดสรรที่ดินให้ทำกิน มิเช่นนั้นชาวบ้านจะขายให้นายทุน เพราะไม่สามารถจัดการที่ดินให้เกิดประโยชน์ได้ เช่น พื้นที่ภูเก็ต เกาะสมุย.
ข่าวโดย ณัฐดนัย ใหม่ซ้อน ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา 27 เมษายน 2012
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.