รัฐดันสุดตัวนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ “วิษณุ”สั่งกฤษฎีกายกร่างกฎหมายรองรับโดยตรงเสร็จแล้ว เตรียมยกเลิกพ.ร.บ.กนอ. ปรับบทบาทการนิคมฯใหม่เป็นสำนักงานฯ รองรับงานบอร์ดนโยบายระดับชาติที่นายกฯเป็นประธาน เผยถ้าผ่านการพิจารณาของสนช.พร้อมบังคับใช้ต้นปีหน้า ด้าน “บีโอไอ” เตรียมชงกนพ. กลางก.ย.นี้ ดันกว่า 10 กิจการที่ยกเลิกส่งเสริมไปแล้วกลับมาลงทุนได้ แต่มีเงื่อนไขต้องอยู่ในเขตศก.พิเศษเท่านั้น “บิ๊กตู่” ลั่นปีนี้เขตศก.แม่สอดต้องเกิด
เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเป็นนโยบายหลักประการหนึ่งของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยได้มีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่72/2557ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2557 แต่งตั้งคณะกรรมการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษขึ้นตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มุ่งมั่นผลักดันนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และต่อมาบรรจุเป็นหนึ่งในนโยบายที่แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และมีมาตรการเพื่อผลักดันนโยบายนี้มาเป็นลำดับ พร้อมทั้งมอบหมายนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จัดทำกฎหมายขึ้นมารองรับล่าสุดคณะกรรมการกฤษฎีกา(คณะพิเศษ)ได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)เขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ……..เสร็จแล้ว
ต่อเรื่องนี้แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย”ฐานเศรษฐกิจ” ถึงร่างกฎหมายดังกล่าวว่า มีประเด็นหลักคือ รัฐบาลต้องการหาเจ้าภาพมาดูแลเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ชัดเจน เพื่อจะได้ผลักดันให้โครงการลงทุนเกิดขึ้นในพื้นที่ หลังจากที่ปัจจุบันนักลงทุนยังไม่ขานรับการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเท่าที่ควร
เปลี่ยนกนอ.เป็นนิติบุคคล
ในร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ….มาตรา 3 ให้ยกเลิกพ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 และพ.ร.บ. ฉบับเพิ่มเติม ปี 2534, 2539, 2550 และให้เปลี่ยนชื่อการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) มาเป็น “สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ” ขึ้นตรงกับ “คณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ” ซึ่งจะมีนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธานกรรมการ
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ จะมีฐานะเป็นนิติบุคคลที่เป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น โดยให้โอนอำนาจหน้าที่ กิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ ทุน งบประมาณ และความรับผิดชอบของกนอ. ไปเป็นของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ
นอกจากนี้ให้โอนอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าการ กนอ. และพนักงานตามพ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 ไปเป็นลูกจ้างของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ และในระยะเริ่มแรกนี้ให้เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษไปพลางก่อน จนกว่าจะมีการแต่งตั้งเลขาธิการ
ส่วนตำแหน่งผู้ว่าการกนอ. จะถูกโอนไปเป็นพนักงานของสำนักงาน โดยให้ได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน สิทธิ และประโยชน์ตอบแทนอื่นตามที่ได้รับตามสัญญาจ้างไปพลางก่อน จนกว่าสัญญาจ้างจะสิ้นสุดลงวันที่ 31มีนาคม 2559 นี้
ยกบทบาทเพิ่มก.ม.เป็น 8 ฉบับ
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า หากร่างพ.ร.บ. นี้ผ่าน จะถือว่าเป็นการยกฐานะหรือยกบทบาทของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือกนอ.เดิมให้มีกว้างขวางมากขึ้น เมื่อเทียบกับกนอ.ในยุคปัจจุบัน เนื่องจากตามร่างกฎหมายนี้ ได้รับมอบอำนาจอนุมัติ อนุญาต ตามกฎหมายเพิ่มขึ้น จากเดิมตามพ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีกฎหมายหลัก 3 ฉบับ ก็จะเพิ่มเป็น 8 ฉบับ ประกอบด้วย
กฎหมายเดิม 3 ฉบับที่ยังคงไว้คือ 1.พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2.พ.ร.บ.โรงงานที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม 3. พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน ส่วนกฎหมายใหม่อีก 5 ฉบับประกอบด้วย 1.กฎหมายว่าด้วยการขุดดินและถมดิน 2.กฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนเครื่องจักร 3.กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข 4.กฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์ และ5.กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
ยันไม่กระทบนิคมร่วมดำเนินการ
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะไม่กระทบต่อนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินการกับกนอ. ที่มีอยู่ทั่วประเทศราว 49 แห่งในปัจจุบัน เนื่องจากร่างกฎหมายดังกล่าว “นิคมอุตสาหกรรม”จะเป็นส่วนหนึ่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษ กฎระเบียบต่าง ๆ ที่เคยใช้ในพ.ร.บ.กนอ. ที่เกี่ยวกับการตั้งนิคมอุตสาหกรรมเอกชนร่วมกับกนอ.เดิม จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพียงแต่ตัวนิคมอุตสาหกรรมที่เป็นของกนอ. จะถูกโอนไปอยู่ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ ส่วนนิคมอุตสาหกรรมเอกชนร่วมดำเนินการ จะเปลี่ยนจากสัญญาร่วมดำเนินการไปเป็นใบอนุญาต
คาดต้นปี 59 ประกาศใช้
สำหรับขั้นตอนการยกระดับกนอ.มาเป็น”สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ” นั้นล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ส่งเรื่องมายัง ดร.วีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการกนอ. พิจารณา เพื่อแจ้งยืนยันความเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายดังกล่าวต่อนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ภายใน 14 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว (21ส.ค.58) คาดว่าภายในสัปดาห์หน้า(7-11 ก.ย.นี้) จะได้รับคำยืนยันจากผู้ว่าการกนอ.ไปถึงรองนายกรัฐมนตรี จากนั้นจะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาในคณะรัฐมนตรี(ครม.) หากครม.เห็นชอบร่างดังกล่าว ก็จะส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) บรรจุเข้าวาระพิจารณารับร่าง หากผ่านขั้นตอนการพิจารณาตามกระบวนการนิติบัญญัติแล้ว ก็จะนำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯ ก่อนประกาศใช้เป็นกฎหมายคาดจะมีผลบังคับใช้อย่างช้าต้นปี 2559 นี้
แนะทำความเข้าใจนักลงทุนก่อน
ต่อเรื่องนี้นายทวิช เตชะนาวากุลกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยอินดัสเตรียล เอสเตทฯ ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมไฮเทค (บ้านหว้า) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินการกับกนอ.กล่าวว่า ภาคเอกชนไม่มีอำนาจในการคัดค้าน และไม่น่าจะได้รับผลกระทบอะไร หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เคยใช้ในพ.ร.บ.กนอ. ที่เกี่ยวกับการตั้งนิคมอุตสาหกรรมเอกชนร่วมกับกนอ. เพียงแต่เรื่องนี้รัฐบาลต้องออกแรงในการทำความเข้าใจโดยเฉพาะนักนักลงทุนต่างชาติ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วจะมีผลกระทบเรื่องความเชื่อมั่น ทุนต่างชาติอาจมองว่ารัฐบาลเข้ามาผูกขาดได้ ทั้งที่ความจริงแล้วบทบาทยังเหมือนเดิม เพราะต้องเข้าใจก่อนว่านิคมร่วมดำเนินการนั้น ภาคเอกชนเป็นผู้นำร่อง ทำให้นักลงทุนมั่นใจลงพื้นที่ โดยภาคเอกชนที่พัฒนาที่ดินจะจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวก ระบบโครงสร้างพื้นฐานภายในนิคมฯ ขณะที่กนอ.จะเป็นผู้กำกับดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐานกนอ. เอื้อประโยชน์ด้านใบอนุญาตก่อสร้างโรงงาน
“ถ้าจะให้ดีก่อนประกาศใช้ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวออกมา รัฐบาลควรเชิญนิคมร่วมดำเนินการทั่วประเทศ ที่มีผู้ประกอบการอยู่ในพื้นที่ 2-3 พันโรงงานหารือก่อน เพื่อให้นักลงทุนมั่นใจมากขึ้น”
BOI เพิ่มกิจการลงพื้นที่เขตศก.ฯ
นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีที่รัฐบาลให้มาทบทวนว่า ยังจะมีสิทธิประโยชน์พิเศษอะไรออกมาเพิ่มเติมอีก สำหรับลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษในประเทศ จากเดิมที่บีโอไอให้สิทธิประโยชน์สูงสุดสำหรับการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษอยู่แล้ว กับ 13 กลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งประกอบด้วย 62 ผลิตภัณฑ์ เช่นกลุ่ม อุตสาหกรรมเกษตร ประมง สิ่งทอ อัญมณี เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พลาสติกฯลฯ ให้ได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด โดยการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และลดหย่อนภาษีเงินได้ 50% เพิ่มอีก 5 ปี
ล่าสุดได้พิจารณาเพิ่มกลุ่มอุตสาหกรรม ที่อยู่นอกเหนือจากอุตสาหกรรม 13 กลุ่ม 62 ผลิตภัณฑ์ ที่ได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ให้ได้รับส่งเสริมด้วยประมาณ 10 ประเภทกิจการ เพื่อให้คนในท้องถิ่นสามารถลงทุนได้เร็วขึ้น โดยประเภทอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นเป็นกิจการที่ก่อนหน้านี้บีโอไอยกเลิกให้การส่งเสริมไปแล้ว แต่กลับมาขอส่งเสริมได้อีกครั้ง โดยมีเงื่อนไขว่ากิจการนั้นจะต้องตั้งในเขตเศรษฐกิจพิเศษเท่านั้น โดยให้สิทธิประโยชน์สูงสุดเหมือน13กลุ่มอุตสาหกรรม โดยจะชงเรื่องเข้าพิจารณาใน คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ( กนพ.) กลางเดือนกันยายนนี้
อนึ่ง กิจการที่บีโอไอที่บีโอไอเคยให้การส่งเสริมและยกเลิกไปก่อนหน้านี้แล้วเช่น กิจการผลิตขวดพลาสติก ถังพลาสติก กาละมัง อาหารสัตว์ ซึ่งกิจการเหล่านี้ไม่ได้รวมอยู่ใน 7 หมวดอุตสาหกรรม หรือกว่า160 ประเภทกิจการที่บีโอไอให้การส่งเสริมทั่วไปอยู่ในปัจจุบัน
ลั่นปีนี้เขตศก.แม่สอดต้องเกิด
ด้านนายชาญวิทย์ อมตะมาทุชาติ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์กล่าวภายหลังจาก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และในฐานะประธาน กนพ.ลงพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตากวันที่ 2 กันยายน 2558 ที่ผ่านมาเพื่อตรวจเยี่ยมและขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษให้เกิดขึ้นภายในปีนี้อย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ จังหวัดตากกำหนดให้ 3 อำเภอเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ได้แก่ อำเภอแม่สอด อำเภอพบพระ และอำเภอแม่ละมาด อย่างไรก็ดีสิ่งที่ นายกรัฐมนตรีต้องการอันดับแรกคือขอความร่วมมือภาคเอกให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่โดยเฉพาะอำเภอแม่สอดซึ่งถือว่าเป็นโมเดลของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่จะเร่งรัดจังหวัดชายแดนอื่นต่อไป
นอกจากนี้ ยังมอบจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้อำนวยความสะดวกเอกชน เช่น การเร่งรัดลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ สะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่2 การขยายสนามบินแม่สอด การก่อสร้างและขยายเส้นทางต่างๆเพื่อเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้าน หลังจาก ถนนสายแม่สอด-เมียวดี (กอกาเรก) ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ การผ่อนปรนแรงงานซึ่งไม่น่าจะมีปัญหาอะไรรวมทั้งเปิดให้ท้องถิ่นและเอกชนเสนอเพิ่มเติมได้หากติดขัดในการลงทุนโดยเฉพาะเรื่องข้อกฎหมายและสิทธ์ประโยชน์ที่ต้องการเพิ่มเติม
รองเลขาธิการสภาพัฒน์กล่าวต่อว่า ส่วนผังพื้นที่เฉพาะเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดตาก และจังหวัดอื่นได้เร่งรัดและให้เน้นพื้นที่อุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเพื่อเอื้อต่อการลงทุนของเอกชนด้วย ขณะเดียวกันปัญหาการบุกรุกพื้นที่ที่เป็นที่ดินรัฐที่มอบให้กรมธนารักษ์เปิดเช่า ได้ขอร้องให้ประชาชนออกจากพื้นที่และเร่งเยียวยาต่อไป
นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีตรวจเยี่ยมการออกแบบวางผังพื้นที่เฉพาะเขตพัฒนาพิเศษจังหวัดตาก ซึ่งครอบคลุม 3อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่สอด อำเภอพบพระ และอำเภอแม่ละมาด ซึ่ง กรมรับมอบให้เร่งวางผังเมืองโดยเฉพาะข้อกำหนด แต่เบื้องต้นคาดว่าปลายปีนี้จะใช้ประกาศกระทรวงมหาดไทยบังคับใช้1ปีหลังจากนั้นจะมอบให้ท้องถิ่นออกข้อบัญญัติตามกฎหมายควบคุมอาคารรับช่วงต่อไป โดยเบื้องต้นนายกรัฐมนตรีต้องการเร่งรัดให้เกิดการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดซึ่งจะเป็นตัวอย่างของเขตอื่น
นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังกำชับนายกเทศมนตรีนครแม่สอดว่าขอให้ช่วยดูแลท้องถิ่นร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก ให้ขับเคลื่อนต่อไป รวมทั้งสนับสนุนให้นครแม่สอดเป็นท้องถิ่นรูปแบบพิเศษเพื่อร่วมกันพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษอีกด้วย
‘บิ๊กตู่’ชูธงนำเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
• 19 มิถุนายน 2557
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีคำสั่งคสช.ที่72/2557แต่งตั้งคณะกรรมการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ(กนพ.)ตั้งแต่ก่อนฟอร์มครม.
• 15 กรกฎาคม 2557
ที่ประชุม กนพ. ครั้งที่ 1/2557 เห็นชอบพื้นที่ที่มีศักยภาพ 5 พื้นที่ชายแดน ระยะที่หนึ่งได้แก่ 1.แม่สอด 2.อรัญประเทศ 3.ตราด 4.มุกดาหาร และ 5. สะเดา (ด่านศุลกากรสะเดาและปาดังเบซาร์) และอนุมัติให้ตั้งคณะอนุกรรมการ 3 ชุด ได้แก่ (1) คณะอนุกรรมการด้านสิทธิประโยชน์ขอบเขตพื้นที่ และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (2) คณะอนุกรรมการศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านแรงงาน สาธารณสุข และความมั่นคง และ (3) คณะอนุกรรมการด้านโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากร
• 17 พฤศจิกายน 2557
ที่ประชุม กนพ. ครั้งที่ 2/2557 ให้ความเห็นชอบขอบเขตพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ใน 5 พื้นที่ชายแดนเป้าหมาย รวม 36 ตำบล ใน 10 อำเภอ พื้นที่รวมประมาณ 1.83 ล้านไร่ (2,932 ตร.กม.) ดังนี้
– ตาก : 14 ตำบล 886,875 ไร่ (1,419 ตร.กม.)ในอ.แม่สอด อ.พบพระ และอ.แม่ระมาด
– มุกดาหาร : 11 ตำบล 361,542 ไร่ (578.5 ตร.กม.)ในอ.เมือง อ.หว้านใหญ่ และอ.ดอนตาล
– สงขลา : 4 ตำบล 345,187 ไร่ (552.3 ตร.กม.)ในอ.สะเดา
– สระแก้ว : 4 ตำบล 207,500 ไร่ (332.0 ตร.กม.)ในอ.อรัญประเทศ และอ.วัฒนานคร
– ตราด : 3 ตำบล 31,375 ไร่ (50.2 ตร.กม.) ซึ่งเป็นพื้นที่ อ.คลองใหญ่ทั้งอำเภอ
• 19 มกราคม 2558
ที่ประชุม กนพ. ครั้งที่ 1/2558 เห็นชอบในหลักการแผนโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากร ปี 2557-2565 รองรับพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะแรก จำนวน 6 พื้นที่(7 ด่าน) ได้แก่ จ.ตาก จ.สระแก้ว จ.ตราด จ.มุกดาหารจ.สงขลา (สะเดาและปาดังเบซาร์) และ จ.หนองคายและให้ความเห็นชอบแผนระยะเร่งด่วน (ปี 2557-2559)ซึ่งจะขอรับจัดสรรงบประมาณปี 2558 (งบกลาง) และโครงการที่จะขอรับจัดสรรงบประมาณปี 2559
• 16 มีนาคม 2558
ที่ประชุม กนพ. ครั้งที่ 2/2558 เห็นชอบกำหนดพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 2 ใน 5 จังหวัด ได้แก่หนองคาย เชียงราย นครพนม นราธิวาส และกาญจนบุรีรวม 54 ตำบล ใน 13 อำเภอ ดังนี้
– หนองคาย 13 ตำบล ใน 2 อำเภอ คือ อ.เมืองและอ.สระใคร
– เชียงราย 21 ตำบล ใน 3 อำเภอ คือ อ.แม่สายอ.เชียงแสน และอ.เชียงของ
– นราธิวาส 5 ตำบล ใน 5 อำเภอ คือ อ.สุไหงโก-ลกอ.ตากใบ อ.แว้ง อ.ยี่งอ และอ.เมือง
– นครพนม 13 ตำบล ใน 2 อำเภอ คือ อ.เมือง และอ.ท่าอุเทน
• 2 กันยายน 2558
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ตรวจพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก(แม่สอด-พบพระ-แม่ระมาด)
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3085 วันที่ 6-9 กันยายน พ.ศ. 2558
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 8 ก.ย. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.