นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงสถานภาพหนี้ภาคครัวเรือนไทยปีนี้ว่า ปัจจุบันมีครัวเรือนไทยไม่มีหนี้ 19.8% และมีหนี้สิน 80.2% โดยครัวเรือนที่มีหนี้เป็นหนี้ในระบบ 48.7% นอกระบบ 51.3% และครัวเรือนมีปัญหาในการชำระหนี้มีกว่า 87.8% ไม่เคยมีปัญหา 12.2% อย่างไรก็ตาม สัดส่วนครัวเรือนมีหนี้กู้นอกระบบ และมีปัญหาชำระหนี้สูงสุดครั้งแรกในรอบ 10 ปี หรือสูงสุดตั้งแต่ที่เคยทำสำรวจมาตั้งแต่ปี 2549 สาเหตุจากรายได้ลดลง ค่าครองชีพสูงขึ้น ภัยแล้ง ใช้บัตรเครดิตมาก ทั้งนี้่ พบว่าจำนวนหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 2.48 แสนบาท ซึ่งขยายตัวเฉลี่ย 10% ต่อเนื่องมา 3 ปีแล้ว เนื่องจากเศรษฐกิจย่ำแย่ ทำให้ครัวเรือนเปราะบางด้านรายได้ เป็นปัญหาสะสม 3 ปี นอกจากนี้คนมีรายได้น้อยมีแนวโน้มก่อหนี้นอกระบบมากขึ้น และมีการกู้เงินจากโรงรับจำนำ ญาติพี่น้อง นายทุนเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ แต่หนี้ในระบบไม่มีการเปลี่ยนแปลงเท่าใดนัก เพราะไม่สามารถกู้ในระบบได้แล้ว ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขสัดส่วนหนี้ครัวเรือนในปัจจุบันที่อยู่ที่ 86% ต่อจีดีพี เพิ่มจาก 10 ปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 75% ต่อจีดีพี
นายธนวรรธน์กล่าวว่า สำหรับการผ่อนชำระหนี้ในปีนี้เฉลี่ยทั้งในและนอกระบบอยู่ที่ 1.4 หมื่นบาทต่อเดือนต่อครัวเรือน ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี จากเดิมปี 2551 เฉลี่ยอยู่ที่ 8.3 พันบาทต่อเดือนต่อครัวเรือน การออมที่ลดลงของครัวเรือนไทยก็สอดคล้องกับภาวะหนี้ที่สูงขึ้น ปีนี้ครัวเรือนที่ออมมีอยู่ 32.7% และไม่ออม 67.3% ต่างจากปี 2551 อย่างมาก ที่ครัวเรือนมีการออม 89.4% และไม่ออม 10.6%
"ภาคครัวเรือนมองว่าสถานการณ์ปัจจุบันเหมาะสมที่จะกู้ยืมเงินอีกมี 34% เพราะไม่มีเงินใช้จ่าย อยากลงทุนใหม่ สินค้าราคาแพง หางานยากขึ้น โดยส่วนใหญ่จะนำเงินไปใช้ในชีวิตประจำวันและใช้หนี้เก่านอกระบบ ขณะเดียวกันอีก 46.1% เห็นว่าเวลานี้ยังไม่เหมาะสมหรือเหมาะสมน้อยที่จะกู้เงินอีก เพราะมีหนี้สินมากแล้ว ไม่มีคนให้กู้ ดอกเบี้ยสูง กู้แล้วไม่รู้จะหาเงินที่ไหนจ่าย" นายธนวรรธน์กล่าว
ที่มา : มติชน วันที่ 4 ก.ย. 2558