(31 ส.ค.58) นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ อธิบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ในฐานะ อดีตคนสนิทของ สืบ นาคะเสถียร อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งปลิดชีพตัวเอง เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2533 เพื่อเรียกร้องให้สังคมไทยหันมาดูแลรักษาป่าให้มากยิ่งขึ้นว่า แนวคิดที่ คุณสืบพยายามส่งสัญญาณให้ทุกคนทราบ และช่วยกันปฏิบัติเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนมาจนถึงวันนี้เป็นที่รับรู้ของผู้คนมากขึ้น โดยเฉพาะเยาวชน ที่แสดงออก และมีความเข้าใจ รวมทั้งปฏิบัติตัว ที่ทำให้เห็นว่า เอาใจใส่ดูแลรักษาป่ามากขึ้น และแม้บางคนจะเกิดไม่ทันช่วงการเสียชีวิตของคุณสืบ แต่เมื่อพูดถึงชีวประวัติของวีรบุรุษป่าไม้คนนี้มีเยาวชนมากกว่าครึ่งที่รู้จัก
นายธีรภัทรกล่าวว่า จากการสำรวจพื้นที่ป่าเพื่อบันทึกเป็นข้อมูลล่าสุด ปี 2556 ถึง เดือนตุลาคม 2557 พบว่า จังหวัดที่มีพื้นที่ป่ามากที่สุด เมื่อเทียบกับพื้นที่จังหวัดเป็น 5 อันดับแรก ได้แก่
1. แม่ฮ่องสอน มีพื้นที่ป่าคิดเป็น ร้อยละ 87.12 อันดับที่ 2.จ. ตาก มีพื้นที่ป่าคิดเป็นร้อยละ 72.05 อันดับที่ 3. จ.ลำปาง มีพื้นที่ป่าคิดเป็น ร้อยละ 70.84 อันดับที่ 4. จ.เชียงใหม่ มีพื้นที่ป่าคิดเป็น ร้อยละ 70.13 และอันดับที่ 5. จ.กาญจนบุรี มีพื้นที่ป่าคิดเป็น ร้อยละ 62.50
ส่วนจังหวัดที่มีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น มากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. กรุงเทพมหานคร เพิ่มขึ้นร้อยละ 298.48 2. สมุทรปราการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 72.02 3. สมุทรสาคร เพิ่มขึ้นร้อยละ 70.21 4. สมุทรสงคราม เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.49 และ 5. พิจิตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.43
ส่วนจังหวัดที่มีพื้นที่ป่าลดลงมากที่สุด 5 อันดับ คือ 1.ระยอง ลดลงร้อยละ 10.23 2. สงขลา ลดลงร้อยละ 7.52 3. ศรีษะเกษ ลดลงร้อยละ 5.84 4. สุรินทร์ ลดลงร้อยละ 4.61และ 5. บึงกาฬ ลดลงร้อยละ 4.01
นายธีรภัทรกล่าวอีกว่า สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม เป็นพื้นที่ที่มีแนวเขตติดต่อกัน พื้นที่ป่าที่เพิ่มขึ้นมานั้น ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าชายเลน โดยในกรุงเทพฯนั้น ปี 2556 สำรวจพบป่าชายเลน 805 ไร่ และล่าสุดพบ 3,211 ไร่ สมุทรปราการ ปี 2556 พบ 8,642 ไร่ ล่าสุดพบ 14,866 ไร่ และสมุทรสาคร ปี 2556 พบ 13,541 ไร่ ล่าสุดพบ 23,048 ไร่ สาเหตุหลักของการเพิ่มขึ้นของป่าชายเลน คือ ประสิทธิภาพในการสำรวจดีขึ้นละเอียดมากขึ้น รวมกับการฟื้นฟูพื้นที่ป่าดีขึ้น ทั้งนี้ลักษณะเฉพาะของต้นไม้ในป่าชายเลน โดยเแพาะ โกงกาง เสม็ด ลำพู โปรง นั้น หากไม่มีใครไปรุกรานทำลายแล้ว ไม้พวกนี้ค่อนข้างจะโต และขยายพื้นที่ได้เร็ว
นอกจากนี้ นายธีรภัทรยังกล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของพื้นที่ป่าที่มีตัวเลขเปอร์เซ็นต์ ค่อนข้างสูงนั้น เปรียบเทียบกับพื้นที่ป่าที่มีอยู่เดิม และพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัดนั้นๆด้วย เมื่อคิดออกมาเป็นจำนวนไร่แล้ว อาจจะไม่มากนัก แต่ก็ถือว่าดีที่ปริมาณเพิ่มขึ้น ไม่ได้ลดลง อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายพื้นที่ของประเทศ ที่พื้นที่ป่าลดลง จากการบุกรุกทำลาย โดยเฉพาะการบุกรุกเข้าไปทำสวนยางพารา อย่าง จ.ระยอง เดิมปี 2556 พบพื้นที่ป่า 55,254 ไร่ แต่ล่าสุดพบ 49,733 ไร่ ซึ่งการบุกรุกพื้นที่ป่าในเขต จ.ระยองนั้นมีมาก่อนปี 2556 อีก
สำหรับพื้นที่ภาคใต้ ที่มีข่าวออกมาว่า ไม่ค่อยประสบความสำเร็จในเรื่องการทวงคืนผืนป่า ตามโรดแม็ปของรัฐบาลชุดนี้มากนักนั้น อธิบดีกรมป่าไม้ ชี้แจงว่า ยอมรับว่า ภาคใต้เป็นพื้นที่ ที่มีกลุ่มนายทุนและผู้มีอิทธิพล เข้าไปครอบครองพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเพื่อปลูกยางพาราอยู่ค่อนข้างมาก ทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานลำบาก และยากกว่าพื้นที่อื่นๆ โดยตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะเข้ายึดคืนพื้นที่ที่ถูกบุกรุกให้ได้ภายในปีนี้ 100,000 ไร่ แต่ที่ผ่านมาสามารถยึดคืนได้แค่ 6,750 ไร่เท่านั้น หลังจากนี้อาจจะต้องวางแผนการเข้าพื้นที่ใหม่ โดยได้ขอกำลังสมทบจากกองทัพภาคที่ 4 เข้าร่วมทำงานเพิ่มขึ้นด้วย
ที่มา : มติชน วันที่ 31 ส.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.