ผู้สื่อข่าวชุมชนประเด็นที่ดินภาคเหนือ
ชาวบ้านปฏิรูปที่ดินโดยชุมชนจังหวัดลำพูน และจังหวัดเชียงใหม่ ต้อนรับคณะกรรมการบริหารสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินชุดแรก หลังตั้งสถาบันมา 4 ปี พร้อมคาดหวังรัฐบาลเดินหน้าโครงการนำร่องธนาคารที่ดิน
เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2558 เวลา 09.00น. ชาวบ้านกลุ่มปฏิรูปที่ดินโดยชุมชนจังหวัดลำพูน และเชียงใหม่(ล่าง) ได้รวมตัวกันที่สหกรณ์การเกษตรโฉนดชุมชนป่าซาง จำกัด เพื่อเตรียมต้อนรับคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การกระจายการถือครองที่ดิน และวิธีการใช้ประโยชน์ในที่ดิน สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) ซึ่งนำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์อิทธิพล ศรีเสาวลักษณ์ ประธานอนุกรรมการฯ พร้อมคณะลงพื้นที่นำร่องธนาคารที่ดิน บ้านไร่ดง ต.น้ำดิบ อ.ป่าซาง จ.ลำพูน เพื่อศึกษาแนวทางในการกำหนดหลักเกณฑ์การกระจายการถือครองที่ดิน และวิธีการ ใช้ประโยชน์ในที่ดินในโครงการนำร่องธนาคารที่ดิน 5 ชุมชน (ภาคเหนือ) ซึ่งประกอบไปด้วย 1) บ้านไร่ดง ต.น้ำดิบ อ.ป่าซาง, 2) บ้านแม่อาว ต.นครเจดีย์ อ.ป่าซาง 3) บ้านท่ากอม่วง ต.หนองปลาสวาย อ.บ้านโฮ่ง, 4) บ้านแพะใต้ ต.หนองล่อง อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน และบ้านโป่ง ต.แม่แฝก อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ โดยโครงการดังกล่าวได้มีมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ และอนุมัติให้ดำเนินโครงการนำร่องธนาคารที่ดินตั้งแต่ปี พ.ศ.2554
สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานประเภทองค์การมหาชน อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันการบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2554 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2554 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกินและการไม่ สามารถเข้าถึงที่ดินของเกษตรกรรายย่อยและผู้ยากจน และ มีภารกิจหลักในการดำเนินการจัดตั้งธนาคารที่ดิน และเมื่อดำเนินการจัดตั้งธนาคารที่ดินเสร็จสิ้นแล้ว สถาบันฯ ก็จะยุติการดำเนินการ หรือหากในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการจัดตั้งธนาคารที่ดินได้ภายในระยะเวลา 5 ปี
ซึ่งขณะนี้สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินได้ถูกจัดตั้งมาเป็นระยะเวลา 4 ปี แล้วแต่ยังไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดินแต่อย่างใด โดยที่ผ่านมาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) ได้มีการผลักดันให้รัฐดำเนินการโครงการนำร่องธนาคารที่ดิน 5 พื้นที่ อย่างเร่งด่วนมาโดยตลอด จนกระทั่งล่าสุดได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสถาบันในวาระเริ่มแรก เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2557 ที่ผ่านมา โดยการลงพื้นที่ของอนุกรรมการในวันนี้ ชาวบ้านในพื้นที่นำร่องคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผลการลงพื้นที่เพื่อเก็บ ข้อมูล ข้อเท็จจริง และรูปธรรมในการจัดการที่ดินโดยชุมชนจะนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอ หลักเกณฑ์การกระจายการถือครองที่ดิน และวิธีการบริหารจัดการ การใช้ประโยชน์ในที่ดินให้มีความเหมาะสม สอดคล้องตามภารกิจของสถาบันซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ดินให้กับเกษตรกร รายย่อยให้สามารถเข้าถึงที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืนต่อไป
ที่มา : ประชาไท วันที่ 26 ส.ค. 2558