นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตนได้ส่งเสริมนโยบายการดำเนินโครงการเหมืองแร่โพแทชในประเทศไทย เนื่องจากมีปริมาณแร่มหาศาล เพราะนอกจากการนำไปผลิตเป็นปุ๋ยในภาคการเกษตร ยังใช้เป็นส่วนประกอบของอุตสาหกรรมยา ผงซักฟอก สบู่ รวมทั้งพลาสติก ทั้งนี้ตน ได้ออกใบอนุญาตประทานบัตรการทำเหมืองโพแทช 2 แห่ง คือ บริษัทเหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) ที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ และบริษัทไทยคาลิ จำกัด อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ขณะเดียวกันยังมีคำขออาชญา–บัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่ 6 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม สกลนคร ชัยภูมิ อุดรธานี
“แร่โพแทชเป็นธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับการผลิตเป็นแม่ปุ๋ยไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ หากสามารถดำเนินโครงการ ได้ จะมีความคุ้มค่าทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม โดยประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเมื่อสามารถผลิตโพแทชได้ใน ปี 2561 เกษตรกรจะได้ปุ๋ยในราคาที่ถูกลง 15% และประหยัดการนำเข้าปุ๋ยโพแทชปีละ 10,000 ล้านบาท”
สำหรับชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงกับโครงการแร่โพแทช ก็จะได้รับประโยชน์คิดเป็นมูลค่า 5,000 ล้านบาท อาทิ กองทุนที่รัฐบาลจัดให้ตามกฎหมาย 5,000 ล้านบาท เช่น กองทุนวิจัยโครงการทำเหมืองของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย กองทุนเพื่อสนับสนุน การร่วมตรวจสอบของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย กองทุนที่จัดให้ชุมชนโดยสมัครใจ 3,100 ล้านบาท เช่น กองทุนเพื่อการติดตามตรวจสอบเวลามีปัญหาในพื้นที่ กองทุนเพื่อการชดเชย กองทุนเพื่อการส่งเสริมประโยชน์ชุมชน เงินช่วยเหลือประชาชนด้านการเฝ้าระวังสุขภาพ การพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นที่เหมืองแร่ เงินช่วยเหลือครัวเรือนในพื้นที่ ทุนการศึกษาเยาวชน กองทุนสวัสดิการชุมชน และกองทุนประกันความเสี่ยง รวมถึงเงินช่วยเหลือเรื่องค่าปุ๋ย ซึ่งถือเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพ ที่จะช่วยดูแลและพัฒนาท้องถิ่นรอบๆพื้นที่ทำเหมือง
นอกจากนี้ ภาครัฐก็จะได้รับผลประโยชน์จากโครงการทั้ง 2 แห่งนี้ รวมประมาณ 29,500 ล้านบาท โดยจะมีรายได้จากการเก็บค่าภาคหลวงแร่ ผลประโยชน์พิเศษเพื่อรัฐ เงินโบนัสและเงินสนับสนุนการศึกษาให้กับสถานศึกษาของรัฐบาล เป็นต้น
ที่มา : ไทยรัฐ วัันที่ 21 ส.ค. 2558