สตง.ตรวจสอบพบพฤติกรรมเลียนแบบเพิ่ม "มีเงินไม่ใช้หนี้" นโยบายแก้ที่ดินเกษตรกร-คนจน ยุค"ยิ่งลักษณ์" 2 พันล้าน "อุบลฯ-ศรีสะเกษ-มุกดาหาร" ปัญหาเพียบ!
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เผยแพร่รายงานตรวจสอบการดำเนินงานกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดศรีสะเกษ และ จังหวัดมุกดาหารของสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดมุกดาหาร โดยมุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินเพื่อไถ่ถอนที่ดินทำกินและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเกี่ยวกับข้อพิพาทเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดินของเกษตรกรและผู้ยากจนไม่ให้ตกไปเป็นของบุคคลอื่น
จากการตรวจสอบผลการดำเนินการตามโครงการ พบว่า การดำเนินการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจนโดยการให้กู้ยืมเงินเพื่อไถ่ถอนที่ดินประสบปัญหาหนี้ค้างเป็นจำนวนมากและมีระยะเวลาการค้างนาน อีกทั้งยังมีปัญหาในการจัดเก็บเอกสารหลักฐานการขอกู้เงินไม่ครบถ้วนยากต่อการตรวจสอบและให้การฟื้นฟูลูกหนี้
สตง.ระบุว่า สาเหตุสำคัญของลูกหนี้ค้างชำระกองทุนเป็นจำนวนมากและเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากอชก.ส่วนจังหวัด และ อชก.ส่วนอำเภอ ไม่มีการติดตามให้ความช่วยเหลือและรายงานผลการชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงขาดการส่งเสริมพัฒนาฟื้นฟูอาชีพให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกหนี้ตามอำนาจหน้าที่ที่ อชก.ส่วนต่าง ๆ ต้องปฏิบัติ อีกทั้งไม่มีการจัดทำแผนการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจนในพื้นที่รับผิดชอบของตน รวมถึงไม่ปฏิบัติตามมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระลูกหนี้กองทุนโดยเคร่งครัด
นอกจากนี้ยังขาดกระบวนการติดตามและรายงานผลสถานะลูกหนี้จาก ธ.ก.ส. ส่งผลให้ อชก.ส่วนจังหวัด และ อชก.ส่วนอำเภอ ไม่ทราบถึงข้อมูลสถานะลูกหนี้และผลการดำเนินงานของตน ทำให้ไม่สามารถวางแผนการปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจนได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ขอกู้ของ ธ.ก.ส. บางรายไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงทำให้ไม่สามารถกำหนดแผนในการบริหารสัญญาให้กับลูกหนี้ได้อย่างเหมาะสม เกษตรกรและผู้ยากจนที่เป็นลูกหนี้กองทุนมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ โดยเกิดจากการมีพื้นที่ทำกินลดลงแตกต่างกับข้อมูลที่ให้ไว้กับเจ้าหน้าที่เพื่อทำการวิเคราะห์ขณะยื่นขอกู้เงิน
นอกจากนี้ลูกหนี้มีการก่อหนี้สินจากแหล่งเงินกู้อื่นเพิ่มเติม โดยเฉพาะบางรายมีการนำที่ดินทำกินของตนเองและเป็นหลักประกันตามสัญญากู้เงินกับ สป.กษ. ไปกู้เงินนอกระบบโดยให้เจ้าหนี้ทำกินบนที่ดินของตนซึ่งทำให้ลูกหนี้กองทุนขาดรายได้มาชำระหนี้
รวมถึงลูกหนี้บางรายขาดแคลนแรงงานในการประกอบอาชีพซึ่งมีสาเหตุหลักจากปัญหาสุขภาพ เจ็บป่วย และบางรายอยู่ในสภาวะพึ่งพิงบุคคลอื่น โดยไม่สามารถประกอบอาชีพได้ และที่สำคัญที่สุดคือกลุ่มลูกหนี้ที่มีศักยภาพในการชำระหนี้แต่ไม่ต้องการชำระหนี้กองทุน ซึ่งมีจำนวนมากและปัจจุบันมีพฤติกรรมเลียนแบบเพิ่มขึ้นอีกด้วย
จากปัญหาดังกล่าวส่งผลให้กองทุนเสียโอกาสในการนำเงินกองทุนจำนวน 34,365,564.22บาท เพื่อนำไปให้ความช่วยเหลือกับเกษตรกรและผู้ยากจนรายอื่น รวมถึง สป.กษ. ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานให้แก่ ธ.ก.ส. ในปริมาณที่สูงขึ้นกว่าที่กำหนดเนื่องจากต้องชำระเงินให้ ธ.ก.ส. ในอัตราร้อยละ 4.00 บาทต่อปี ดังนั้นหากยอดหนี้ค้างชำระมากไม่เป็นตามแผนจะทำให้ยอดหนี้คงเหลือเพิ่มมากขึ้นและค่าใช้จ่ายที่จะต้องจ่ายให้ ธ.ก.ส. ในการดำเนินงานจะเพิ่มขึ้นด้วย อีกทั้งลูกหนี้กองทุนจะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบที่จะไม่ชำระคืนเงินกองทุนซึ่งทำให้ลูกหนี้ขาดวินัยทางการเงิน
ทั้งนี้ กองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจนมีเงินทุนในการให้ความช่วยเหลือเพียงวันที่ 30 กันยายน 2556 พบว่า มีงบประมาณในการดำเนินการทั้งสิ้น 2,317,932,005.38 บาท โดยเป็นต้นเงินกู้จำนวน 1,783,452,766.00 บาท และงบประมาณ พ.ศ. 2557 อีก 70.00 ล้านบาท จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดมุกดาหาร เป็นจังหวัดที่มีการดำเนินงานให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจนมาโดยตลอดทุกปี ข้อมูลเพียงวันที่ 30 กันยายน 2556 พบว่า มีต้นเงินกู้คงเหลือ จำนวน 120,652,203.74 บาท แบ่งเป็นจังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 57,200,795.83 บาทจังหวัดศรีสะเกษจำนวน 51,087,831.14 บาท และจังหวัดมุกดาหาร จำนวน 12,363,576.77 บาท
อ่านรายงานฉบับเต็มที่ http://www.oag.go.th/News/Upload/6.2015080003.1.pdf
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา วันที่ 23 ส.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.