ชุมนุมชาวนานักปรับปรุงพันธุ์ต้านระบบผูกขาดเมล็ดพันธุ์พืช เรียกร้องรัฐจับมือเกษตรกรลงพื้นที่วิจัยร่วมกัน สร้างกลไกคุ้มครองไม่ให้ถูกคุกคาม โดนแสวงหาผลประโยชน์
วันที่ 19 สิงหาคม 2558 แผนงานขับเคลื่อนความมั่นคงทางอาหารเพื่อสังคม มูลนิธิชีววิถี ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย), มูลนิธิการจัดการความรู้และเครือข่ายโรงเรียนชาวนา จ.นครสวรรค์ และภาคีเครือข่าย จัดงาน สมัชชาความมั่นคงทางอาหาร ครั้งที่ 5 ประจำปี 2558 เป็นวันสุดท้าย ณ ห้องคอนเวนชันเซ็นเตอร์ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ
โดยในการสัมมนา‘ชุมนุมชาวนานักปรับปรุงพันธุ์:บทเรียนและข้อเสนอแนะการพัฒนาพันธุ์พืช’ มีข้อสรุปไม่ต้องการให้มีระบบผูกขาดพันธุ์พืชและสร้างกลไกคุ้มครองชาวนานักปรับปรุงพันธุ์ไม่ให้ถูกคุกคามหรือแสวงหาประโยชน์โดยไม่ขาดกติกา และยังเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหันมาทำงานด้วยการประสานงานกับชาวนาพัฒนาพื้นที่วิจัยร่วมกัน เพราะชาวนามีคุณสมบัติเต็มไปด้วยจิตวิญญาณ พลัง ความคิด มีความยิ่งใหญ่ น่าเคารพนับถือ
นายสุพจน์ หลี่จา เครือข่ายความมั่นคงทางอาหารชุมชนชาติพันธุ์ กล่าวว่า การขยายเมล็ดพันธุ์เข้าสู่ระบบธุรกิจเป็นหลัก จะทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่โดนพันธุ์พืชใหม่เข้าไปแทนที่พันธุ์พืชดั้งเดิม และพันธุ์พืชใหม่นี้จะนำมาสู่สารเคมีทำลายความหลากหลายและความมั่นคงทางอาหารของคนในชุมชน นอกจากนี้การขยายพันธุ์พืชนั้น ต้องกลับไปมองว่า เวลาทำแล้วมีเกษตรกรเข้าถึงเมล็ดพันธุ์พืชที่ปรับปรุงมากน้อยแค่ไหน
“ตั้งข้อสังเกตทุกครั้งที่มีนักวิชาการส่งเสริมพันธุ์พืชชนิดใหม่ ต้านทานโรคหรือสภาวะอากาศ ปรากฏว่าเกษตรกรจะมีหน้าที่ผลิตอย่างเดียว ด้วยการส่งออกตลาดทั้งหมด โดยไม่มีโอกาสได้กินอาหารที่ผลิตเลย จึงควรเร่งหาทางออกด้วย ที่สำคัญ จะทำอย่างไรให้เมล็ดพันธุ์ที่ปรับปรุงกระจายไปอยู่ในแปลงของเกษตรกรมากกว่าระบบธุรกิจ” ตัวแทนเครือข่ายความมั่นคงทางอาหารชุมชนชาติพันธุ์ กล่าว
ด้านนายหวัน เรืองตื้อ เครือข่ายฮักเมืองน่าน จ.น่าน กล่าวถึงการกรณีสิทธิบัตรพันธุ์ข้าวว่า ไม่ชอบกับการต้องออกไปปกป้องสิทธิ เพราะเราปรับปรุงพันธุ์และผลิตข้าวเพื่อให้ทุกคนในโลกได้มีอาหารกิน เราไม่ได้คิดถึงเรื่องธุรกิจการค้า ทุกวันนี้ทำไปเพื่อทำบุญ ให้ทุกคนได้ประโยชน์ ฉะนั้นไม่จำเป็นต้องนำสิทธิบัตรมาจัดการกับชาวนา ผมมองไม่ใช่เรื่องสำคัญเลย
ขณะที่นายดาวเรือง พืชผล เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จ.ยโสธร กล่าวว่า เกษตรกรต่างห่วงจะเจอธุรกิจผูกขาดเมล็ดพันธุ์ข้าว จึงเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ร่วมพัฒนาเมล็ดพันธุ์กับผู้ผลิตที่สนใจ เพื่อจะให้มีความเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศของแต่ละพื้นที่ ส่วนผู้บริโภคจะทราบได้อย่างไรว่า พันธุ์ข้าวชนิดใดมีคุณค่าทางโภชนาการ เบื้องต้นควรตรวจสอบจากสายพันธุ์เป็นหลัก และเชิญชวนให้ศึกษาคุณค่าทางโภชนาการในเว็บไซต์เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม .
ได้รับการสนับสนุนภาพจากเว็บไซต์ aseanwatch.org
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา วันที่ 19 ส.ค. 2558