ธ.ก.ส.ยอมรับสถานการณ์เกษตรกรยังน่าห่วง ตั้งทีมสำรวจพื้นที่คาดฝนแล้ง-น้ำท่วม กระทบเพาะปลูกเสียหายไม่เกิน 1 ล้านไร่ เตรียมเสนอแผนจ่ายเยียวยาไร่ละ 1,113 บาท คาดใช้งบไม่เกิน 1 พันล้านบาท พร้อมรับลูกเดินหน้ามาตรการแก้หนี้เกษตรกรทั้งใน-นอกระบบ หลังพบตัวเลข 9.2 ครัวเรือนเสี่ยงถูกยึดที่ดินทำกิน
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธนาคารค่อนข้างเป็นห่วงกับแนวโน้มของเกษตรกรที่จะก่อหนี้ในอนาคต ซึ่งเป็นผลจากราคาสินค้าเกษตรและสภาพอากาศที่ทำให้ไม่สามารถเพาะปลูกได้ จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่ประจำสาขาเร่งติดตามสถานการณ์เพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนแล้ว
อย่างไรก็ตาม ทั้งภาวะน้ำท่วมและภัยแล้งแม้จะคลี่คลายลงในหลายพื้นที่แต่แน่นอนว่าจะต้องมีพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย เบื้องต้นทีมสำรวจความเสียหายเพื่อเตรียมจ่ายชดเชยให้แก่เกษตรกรแล้วในพื้นที่ที่ทำการเพาะปลูก 4 ล้านไร่ คาดว่าจะมีพื้นที่เสียหายไม่เกิน 25% หรือราว 8 แสนถึง 1 ล้านไร่ ส่วนใหญ่อยู่ใน 20 จังหวัดพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา
ส่วนกระบวนการจ่ายชดเชยความเสียหายให้แก่เกษตรกรนั้น หลังจากกรมป้องกันสาธารณะภัย จะต้องประกาศเป็นเขตภัยพิบัติแล้ว กระบวนการต่อไปคือ การเข้าสู่คณะกรรมการกลั่นกรองระดับจังหวัด โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเป็นฝ่ายเพื่อเสนอขอมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในการอนุมัติงบประมาณสำหรับจ่ายชดเชยค่าเสียหาย โดยขั้นท้ายสุด ธ.ก.ส. จะเป็นหน่วยงานในการจ่ายเงินชดเชยดังกล่าว โดยจ่ายในอัตราไร่ละ 1,113 บาทต่อไร่ หรือคาดว่าจะใช้งบประมาณไม่เกิน 1 พันล้านบาท
สำหรับมาตรการที่ธนาคาร ธ.ก.ส. กำลังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง คือมาตรการแก้ไขหนี้ของเกษตรกร ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2558 ที่ต้องการให้เข้าไปแก้ไขทั้งหนี้ในและนอกระบบโดยอยู่ภายใต้นโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำในภาคการเกษตร ซึ่งที่ผ่านมา ธ.ก.ส. เสนอแผนในการช่วยเหลือลูกค้า เป้าหมายหนี้เกษตรกรคิดเป็นวงเงิน 8.18 แสนล้านบาท โดย 1.16 แสนล้านบาทสามารถแก้ไขหนี้ได้แล้ว ผ่านกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้และการประนอมหนี้
อย่างไรก็ดี ยังพบอีกว่ายังมีเกษตรกรอีกไม่น้อยที่นำที่ดินไปติดขายฝาก จำนอง หรือเข้าเป็นหลัก ทรัพย์ค้ำประกันกับทั้งสถาบันการเงินทั้งในและนอกระบบ โดยพบว่า 1.6 ล้านราย มีการกู้ทั้งในและนอกระบบโดยใช้ที่ดินเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน แยกออกเป็นในระบบ 1.4 ล้านราย มูลหนี้ 3.88 แสนล้านบาท และนอกระบบ 1.49 แสนราย มูลหนี้ 2.16 หมื่นล้านบาท โดย 9.2 หมื่นราย วงเงินมูลหนี้กว่า 1.1 หมื่นล้านบาท เป็นกลุ่มที่เสี่ยงสูงที่จะถูกยึดที่ดินเป็นกลุ่มแรกๆ
นายลักษณ์กล่าวอีกว่าสำหรับกระบวนการช่วยเหลือนั้น คาดการณ์ว่าจำนวน 1.4 ล้านรายจะเป็นลูกค้าของธนาคาร ธ.ก.ส. โดยจะดูจากเลขบัญชี 13 หลักในฐานข้อมูลของธนาคาร ขณะเดียวกันจะต้องเข้าไปตรวจสอบสถานะว่า เป็นหนี้ปกติ สามารถดำเนินการชำระหนี้คืนได้หรือไม่ หรือเป็นกลุ่มที่ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้คืน รวมถึงเร่งกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ ขยายเวลาชำระหนี้เสียใหม่ โดยคาดว่า 1-2 สัปดาห์จากนี้ไปจะทราบผลสถานะหนี้ที่แท้จริงและจะขยายผลไปสู่การให้ความช่วยเหลือได้ถูกต้อง
“ตอนนี้ท่านนายกรัฐมนตรีสั่งให้คณะอนุกรรมการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน (อชก.) ตั้งแต่ระดับอำเภอและจังหวัดในการเข้าไปดูแลช่วยเหลือกระบวนการประนอมหนี้กับเจ้าหนี้นอกระบบใน 9.2 หมื่นรายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการยึดที่ดินทำกิน ซึ่งเมื่อผ่านกระบวนการประนอมหนี้เสร็จก็จะเข้าสู่กระบวนการอำนวยสินเชื่อ กรณีที่เป็นหนี้ในระบบจะสนับสนุนวงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 1.5 แสนบาท หากเป็นเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกินแต่มีหนี้นอกระบบจะได้รับสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 1 แสนบาท แต่หากเป็นผู้ที่มีที่ดินจะได้รับสินเชื่อต่อรายที่ 1.5 แสนบาท ระยะเวลาชำระคืน 12 ปี อัตราดอกเบี้ยที่ 1%”
ด้านนายสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย ผู้ช่วยผู้จัดการ ฝ่ายโครงการภาครัฐ ธนาคาร ธ.ก.ส. เปิดเผย ฐานเศรษฐกิจ ว่า ขณะนี้ ธ.ก.ส. อยู่ระหว่างจัดทำบัญชีเกษตรกรที่มีหนี้ทั้งหมดแล้ว โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ยังเป็นหนี้ในระบบอาจใช้แนวทางช่วยเหลือที่หลากหลาย อาทิ การตัดหนี้ศูนย์ การปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระยะสั้นและยาวระยะ 10 ปีขึ้นไป รวมถึงการปรับระยะเวลาการชำระให้มากขึ้น ซึ่งหนี้กลุ่มนี้สามารถบริหารจัดการได้ง่ายกว่า
ส่วนหนี้กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มเกษตรกรที่เป็นหนี้นอกนระบบ ได้จัดกลุ่ม คือ กลุ่มที่มีหนี้ต่อรายไม่เกิน 1.5 แสนบาท หากเป็นเกษตรกรก็จะให้ ธ.ก.ส. รับไปช่วยดูแล แต่หากเป็นกลุ่มผู้ที่ประกอบอาชีพอื่นๆ เช่นค้าขายก็จะให้ธนาคารออมสินเข้ามาดูแลเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ และกลุ่มที่มีหนี้ต่อรายมากกว่า 1.5 แสนบาท กลุ่มนี้ธนาคารได้ประสานไปยังหน่วยงานในส่วนกลางและภูมิภาคทั่วทุกภูมิภาคแล้ว หลังจากได้รับหนังสือจากการะทรวงมหาดไทย เพื่อจัดสรรและจัดกลุ่มหนี้ที่ยังเป็นหนี้นอกระบบที่ยังมีปัญหาโดยใช้กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้มีระยะเวลาตั้งแต่ 4-12 ปี แต่ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าตั้งแต่ปัญหาราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ ทำให้แนวโน้มการก่อหนี้นอกระบบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นส่งผลต่อที่ดินทำกินของเกษตรกรมีแนวโน้มถูกยึดมากขึ้นอีกด้วย
“ปัญหาหนี้นอกระบบ ธ.ก.ส.ได้ทำมานานแล้ว โดยข้อมูลปี 2557 มีจำนวนหนี้ 105,421 ครัวเรือน คิดเป็นมูลหนี้ราว 14,074 ล้านบาท ธนาคารได้นำมาคัดกรองพร้อมกระบวนการไกล่เกลี่ย ประนอมหนี้ระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้สามารถไกล่เกลี่ยได้สำเร็จ 66,463 ครัวเรือน และได้ให้สินเชื่อช่วยเหลือเพิ่มเติม 33,455 ครัวเรือน วงเงินกว่า 3,912 ล้านบาท”
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3079 วันที่ 16 – 19 สิงหาคม พ.ศ. 2558
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 19 ส.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.