สวาท อุปฮาด ชี้ทวงคืนผืนป่า 28 ล้านไร่ของคสช. สร้างผลกระทบความมั่นคงทางอาหาร ระบุจะมีประชาชน ไม่น้อยกว่า 10 ล้านคนได้รับผลกระทบ ย้ำการฟื้นฟูป่าต้องรัฐ ชุมชน ชาวบ้าน ร่วมมือกัน
18 สิงหาคม 2558 เครือข่ายความมั่นคงทางอาหาร มูลนิธิชีววิถี จัดงานสมัชชาความมั่นคงทางอาหาร ประจำปี 2558 ทั้งนี้ในงานมีการอภิปรายเรื่อง “สถานการณ์ปัญหาความขัดแย้ง และการถือครองที่ดิน” ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ถนนวิภาวดีรังสิต กทม.
น.ส.พรพนา ก๊วยเจริญ จากเครือข่าย Land Watch กล่าวว่า หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)มีนโยบายเรื่องทรัพยากรและมีคำสั่งในการทวงคืนผืนป่า โดยในเดือนมิถุนายน 2557 มีประกาศคำสั่งคสช. ฉบับที่ 64/2557 พื้นที่ชุมชนหลายแห่งถูกบังคับให้มีการอพยพ นอกจากนี้ยังมีเรื่องการไปตัดพืชผลการเกษตรของชาวบ้าน เช่น ยางพารา รวมถึงยึดพื้นที่ทำกินของชาวบ้านด้วย
ทั้งนี้ช่วงที่มีการดำเนินการตามคำสั่งคสช.พบว่า ที่ดินที่ถูกยึดพุ่งสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และข้อมูลในช่วงเดือนเมษายน 2557- กุมภาพันธ์ 2558 ของกอ.รมน.รายงานว่า มีผู้ต้องหาถูกจับกุม 1,013 คน ยึดที่ดินได้ 52,027 ไร่
ด้านนายสวาท อุปฮาด เครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิ์ จ.สกลนคร กล่าวว่า แผนแม่บทป่าไม้ของคสช.มีนโยบายชัดเจนว่าต้องการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้ได้ 40% ซึ่งจากแผ่นแม่บทดังกล่าวส่งผลให้คนที่อยู่ในพื้นที่ป่ามาหลายชั่วอายุคนหรืออยู่กันมานานนับสิบปีโดยที่ผ่านมาคนกลุ่มนี้ไม่ได้รับการรับรองสิทธิ์ ดังนั้นเขาจึงไม่มีเอกสารสิทธิ์ และเมื่อมีกฎหมายขึ้นมาก็ทำให้บุคคลเหล่านี้ที่เข้าไม่ถึงสิทธิ์กลายเป็นกลุ่มคนที่ถือครองที่ดินอย่างผิดกฎหมาย เฉพาะสกลนครมีประเด็นเหล่านี้อย่างต่อเนื่องในการทวงคืนผืนป่าหลังมีนโยบายจากคสช. โดยมีเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจยึดบางครั้งคนนำคำสั่งไปปฏิบัติก็ไม่ได้มีการตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจนก่อนดำเนินการ
นายสวาท กล่าวถึงผลกระทบจากแผนแม่บทป่าไม้ว่า ทุกวันนี้เรื่องการตรวจยึดยังคงมีทุกวัน แจ้งข้อกล่าวหา บางส่วนก็ถูกดำเนินคดีไปแล้ว บางรายรัฐบอกว่าหากรับสารภาพโทษหนักจะกลายเป็นเบา ในช่วงแรกชาวบ้านที่สกลนคร 37 คน ยอมรับสารภาพในทันที 3 คน สิ่งที่เขาได้รับคือการสั่งจำคุกเป็นระยะเวลา 2 ปี ขณะที่ชาวบ้านพยายามหาทางออกด้วยการร้องทุกข์ และแม้จะมีการตรวจสอบก็ยังไม่ช่วยบรรเทาความทุกข์ยากของประชาชนได้
"หากมองภาพรวมตามแผนของคสช.ที่ต้องการจะเอาป่าคืนให้ได้ 28 ล้านไร่ ในระยะเวลา 2 ปี จะมีประชาชน 10 ล้านคน ได้รับผลกระทบ และแน่นอนว่าจะส่งผลความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่ของกลุ่มเกษตรกรรายย่อย ดังนั้นความน่าสนใจคือหากรัฐต้องการให้มีความมั่นคงด้านอาหารด้วยนโยบายที่แท้จริงควรจะไปในทิศทางใด"
ตัวแทนเครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิ์ฯ กล่าวด้วยว่า การกระทำของรัฐที่ผ่านมาสร้างความหวาดผวาให้กับชาวบ้าน ที่ผ่านมารัฐต้องการสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้ผืนป่า มีนโยบายของกรมป่าไม้ จึงอยากถามว่า รัฐใช้งบฟื้นฟูป่าไปเท่าไหร่ แล้วได้ผลหรือไม่ แต่เพราะนโยบายเหล่านั้นไม่ได้ผล ทำไมการที่รัฐเองอยากได้ผืนป่าคืนจึงไม่คุยกับชาวบ้าน แล้วคืนผืนป่าจากความร่วมมือ ช่วยกันออกแบบ ทั้งชุมชน ชาวบ้านในพื้นที่ หากทำลักษณะนี้ย่อมมีความสำเร็จและเป็นการทำให้คนและป่าอยู่ร่วมกันได้
ขณะที่ รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การอพยพคนออกจากป่าเป็นเรื่องที่มีการต่อสู้กันมานาน ซึ่งแท้จริงแล้วคือการแย่งชิงทรัพยากร แนวคิดที่ไม่ควรลืมน่าจะเป็นเรื่องทำอย่างไรที่จะไม่ทิ้งเรื่องการอนุรักษ์ให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้
"ที่ผ่านมาเราพยายามที่จะผลักดันพ.ร.บ.ป่าชุมชนเพื่อมุ่งหวังจะให้ชุมชนมีส่วนร่วมและทำให้คนสามารถอยู่กับป่า แต่พ.ร.บ.ฉบับนี้สำเร็จกลับกลายเป็นการนำคนออกจากป่า ซึ่งเป็นสิ่งที่สวนทางกับข้อเรียกร้องและข้อเสนอของชาวบ้าน ดังนั้นการหาทางออกของปัญหานี้เราจำเป็นต้องดูบทเรียนที่ผ่านมา กระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ และข้อเรียกร้องของชาวบ้านที่ผ่านมาเขาไม่ได้ขอที่จะบุกรุกป่า เพียงแต่ขอให้ชุมชนมีส่วนร่วมและกระบวนการให้เกิดความโปร่งใส ซึ่งแท้จริงแล้วก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินกว่าจะทำได้"
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา วันที่ 18 ส.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.