ศาลปกครองสูงสุด ยืนตามศาลปกครองกลาง ชี้ขาด ศาลไร้อำนาจตัดสิน กรณีชาวบ้านอุทธรณ์ คำสั่งไม่รับฟ้องคดีเพิกถอนแบบจำลองค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อม(คดีโลกร้อน) ศาลแจงเพราะเป็นการกระทำภายในของหน่วยงานรัฐ และยังไม่มีผู้ได้รับผลกระทบ
13 ส.ค. 2558 เวลา 14.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 7 ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ มีนัดฟังคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ชี้ขาดคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องคดีเพิกถอนแบบจำลองค่าเสียหายทางสิ่ง แวดล้อม (คดีโลกร้อน)
โดยเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2555 นายดิ๊แปะโพ รวมกับพวก ทั้งหมด 23 คน ซึ่ง 23 คน ได้ยื่นฟ้องในนามองค์กร 5 องค์กรได้แก่ องค์กรชุมชนบ้านพรสวรรค์ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์ลุ่มน้าเซิน เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าภูผาแดง และมูลนิธิอันดามัน โดยยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ 1 และกรมป่าไม้ ที่ 2 ในคดีหมายเลขดำที่ ส.412/2555 คดีหมายเลขแดงที่ ส.26/2555 ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งให้ใช้แบบจำลองสำหรับประเมินค่าเสียหาย ทางสิ่งแวดล้อมบางประการหลังการทำลายป่าไม้ เป็นหลักเกณฑ์ในการคิดคำนวณค่าเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการปรับปรุงแก้ไขแบบจำลองดังกล่าวให้ถูก ต้องตามหลักวิชาการที่ได้รับการยอมรับตามมาตรฐานของประชาคมวิชาการ โดยจัดให้มีการรับฟังจากประชาชน นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ก่อนนำมาบังคับใช้
ต่อมาศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งไม่รับฟ้องไว้พิจารณาเมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2555 ผู้ฟ้องคดีจึงได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุด
วันนี้ศาลได้อ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด โดยระบุยืนตามศาลปกครองกลางว่า การร้องของชาวบ้านต่อศาลปกครองนั้น ศาลปกครองไม่มีอำนาจในการเข้าไปตัดสินชี้ขาดได้ เนื่องจากเป็นการกระทำภายในหน่วยงานของรัฐ โดยแบบจำลองสำหรับประเมินค่าเสียหาย ทางสิ่งแวดล้อมบางประการหลังการทำลายป่าไม้ เป็นเพียงการว่างหลักเกฎฑ์ภายในของฝ่ายปกครอง ส่วนในการยื่นฟ้องจริง และเรียกเก็บค่าเสียหายนั้นจะต้องผ่านกระบวนการนำสืบของศาลก่อน ทั้งนี้กรณีที่โจทย์ทั้ง 23 คน ยื่นอุทธรณ์ โดยอ้างรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 66-67 เรื่องสิทธิชุมชน นั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับกรณีที่ชาวบ้านร้องขอให้ศาลสั่งให้มีการเพิกถอนแบบจำลองสำหรับประเมินค่าเสียหาย ทางสิ่งแวดล้อมบางประการหลังการทำลายป่าไม้
ด้าน อัมรินทร์ สายจันทร์ ทนายความจากมูลนิติธรรมสิ่งแวดล้อม(EnLAW) ได้ให้สัมภาษณ์ต่อคำชี้ขาดของศาลปกครองสูงสุดว่า เป็นเรื่องข้อจำกัดทางกฎหมายที่ศาลปกครองจะรับเรื่องได้ โดยศาลมองว่าเป็นเรื่องของระเบียบภายใน ซึ่งผู้ที่ฟ้องคดี ยังไม่ใช่ผู้เสียหายจึงไม่มีสิทธิฟ้องคดี หนทางต่อไปก็อยากให้สังคมและนักวิชาการเรียกร้องต่อไป
ที่มา : ประชาไท วันที่ 13 ส.ค. 2558