ทำนามาตั้งแต่บรรพบุรุษ ทำไมต้องเข้าโรงเรียนชาวนาอีก
คำตอบอยู่ที่ชาวนาโดยสายเลือดสามารถตอบคำถาม 3 ข้อต่อไปนี้ได้หรือไม่ 1.ข้าวหว่านลงไปในนาแล้ว 7 วัน ต้นข้าวจะมีกี่ใบ 2.ข้าวที่หว่านลงไป 1 เมล็ด จะมีหน่อออกมาเท่าไร และ 3. ข้าว 1 รวงมีกี่เมล็ด คำถามพื้นๆเหล่านี้ ชาวนามักตอบไม่ได้เพราะ “มองข้าม” ไป
เมื่อมองข้ามปัญหาพื้นๆ ปัญหาใหญ่ๆระดับโครงสร้างก็มักมองพลาดด้วยเหตุเหล่านี้เอง ทำให้ชาวนาควรคิดใหม่ เรียนรู้ใหม่เพื่อจะได้ทำนาแนวใหม่ จะได้ไม่ต้องฆ่าตัวตายดังปรากฏเป็นข่าวอยู่เนืองๆ
“ปัญหาใหญ่ของชาวนาคือหนี้สิน บริหารหนี้ไม่หลุดห่วง ถามว่าจะหลุดห่วงหนี้ได้อย่างไร คำตอบคือ เราต้องมองตัวเองก่อน หนี้สินมันมาจากไหน ราคาผลผลิตตกต่ำ ต้นทุนสูงใช่ไหม ต้นทุนเราลดโดยขอต่อรองราคาปุ๋ยได้ไหม มันก็ไม่ได้ แล้วเราจะแก้ปัญหาอย่างไร การแก้ปัญหาเราต้องมีความรู้ก่อน ความรู้ก็เกิดจากการลองผิดลองถูก ผิดก็เป็นครูถูกก็เป็นครู เมื่อเกิดความชำนาญเราก็นำความรู้มาใช้ เราก็จะปลดหนี้สินได้”นายผ่านบอก
นายผ่าน ปันคำ ปราชญ์พื้นบ้าน เจ้าของโรงเรียนชาวนาเกษตรยั่งยืน ตำบลศรีเมืองชุม อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เสริมอีกว่า สิ่งแรกที่ชาวนาต้องหันมามองคือ ฐานอาหาร เราควรปลูกทุกอย่างที่เรากิน แล้วก็กินทุกอย่างที่เราปลูก เหลือก็แจกจ่ายไปแล้วค่อยขาย เหลือจากขายก็เอาไปแปรรูป นอกจากปลูกอาหารที่เรากินแล้ว ต้องหันมาดูตัวเองด้วยว่า รายจ่ายแต่ละวันสิ้นเปลืองไปกับอะไรบ้าง ดื่มมากไปไหม เล่นหวยมากไปหรือไม่ ต้องค่อยๆตัดออก วิธีที่ดีคือทำบัญชีครัวเรือน
การปลดหนี้สิน ต้องไปดูที่ต้นตอว่าเกิดจากอะไรด้วย เกิดจากการนำเงินไปใช้ผิดประเภทใช่หรือไม่ อย่างกู้เงินมาลงทุนทำนา แต่เอาไปจ่ายค่าหน่วยกิตให้ลูก ถึงเวลาต้องลงทุนก็ไปหากู้ต่ออีก ทำให้ไม่หลุดจากห่วงหนี้สินได้
นายผ่านถอดบทเรียนของตัวเองว่า เมื่อก่อนทำนาจำนวน 14 ไร่ ถึงปีฟองสบู่แตกไม่ว่าจะด้านไหนล้มระเนนระนาดไปหมด หันมามองตัวเองก็พบว่า นาที่ทำมากไปและยังปลูกพืชอย่างเดียว จึงลดพื้นที่ทำนาลง เจียดไป “ปลูกทุกอย่างที่เรากิน” เพื่อจะได้ “กินทุกอย่างที่เราปลูก” และเลี้ยงเป็ด ไก่ ขุดบ่อเลี้ยงปลาเสริมเข้าไป
ทำให้ “เอาตัวรอดได้ ถ้าเอาตัวไม่รอดแสดงว่าเรารู้ไม่จริง ถ้าไม่รู้ก็ขวนขวายหาความรู้”
ปัจจัยดังกล่าวเป็นที่มาของโรงเรียนชาวนา หลักการเรียนก็คือ “เรียนรู้ สังเกต จดจำ บันทึก เปรียบเทียบ จนจบปริญญาชีวิต เรียนจนสามารถช่วยเหลือคนอื่นได้ เพื่อเราจะได้อยู่ดี อยู่ได้ อยู่รอด อยู่ดีคือสามารถทำให้ตนเองมีกินมีอยู่ อยู่ได้คือ ช่วยญาติพี่น้องได้ อยู่รอดคือ ออกไปเป็นวิทยากรถ่ายทอดได้”
ถามว่าโรงเรียนชาวนามีหลักในการสอนอย่างไร นายผ่านบอกว่า 1.สอนหลักคิด 2.สอนหลักทำและ 3.สอนหลักปฏิบัติ
“อย่าเพิ่งเชื่อว่าดีหรือไม่อย่างไร แต่ขอให้มาทำด้วยกัน อย่างทำนา 1 ไร่ไม่ได้ข้าว 1 เกวียน แล้วถ้าจะทำข้าว 1 ไร่ ให้ได้ข้าว 1 เกวียนจะทำอย่างไร ไม่เชื่อไม่เป็นไร ลองมาทำด้วยกัน”
การเรียนรู้เพื่อเพิ่มผลผลิตนั้น เจ้าของโรงเรียนชาวนาบอกว่า “ต้องเรียนรู้ตั้งแต่ดิน ว่ามีความเป็นกรดเป็นด่างอย่างไร สภาพน้ำเป็นอย่างไร อากาศเป็นอย่างไร เมื่อเรียนรู้สภาพพื้นที่แล้ว ก็ต้องเรียนแนวทางป้องกันด้วยว่า ถ้าแล้งขึ้นมาจะทำอย่างไร ฝนตกมากจะทำอย่างไร มีผลกระทบอย่างไรกับนาข้าว ถ้าแล้งจะเกิดแมลงอะไร ถ้าชื้นมากจะเกิดเชื้อราอะไร แฉะไปก็เกิดโรครากเน่า ปัญหาเหล่านี้แก้อย่างไร”
หลักการเรียนรู้ นายผ่านบอกว่าต้องรู้ให้จริง แล้วจด จำ บันทึกและเปรียบเทียบ
การให้คนมาเรียน “เราต้องทำให้เขาเห็น อย่างคนใกล้ตัวก็ยากนะ เขาไม่ค่อยเชื่อเราหรอก เพราะเห็นเรามาตั้งแต่เด็ก เราต้องทำให้เขาดูว่าสิ่งที่เราทำนั้นได้ผลผลิตดีกว่าเขา ต้นทุนน้อยกว่าเขา เมื่อเขาเห็นก็จะหันมาเรียนกับเราเอง เราต้องทำให้เขาดู เราต้องคิดดี ทำดี ทำไปแบบไม่หยุด เป้าหมายก็จะทำเสร็จเอง อย่าท้อกับปัญหา เพราะปัญหากับความสำเร็จจะอยู่คู่กัน เราอย่ากลัวปัญหาและอย่าหนี จงแก้ปัญหาด้วยสติ ถ้ามีสติปัญญาจะเกิด”
เชื่อได้เลยว่า “ถ้ารู้จริงจะไปรอด ชาวนามีหนี้เพราะรู้ไม่จริง อย่างอากาศร้อนแก้ปัญหาอย่างไร หนาวแก้อย่างไร ธาตุอาหารของพืชมีกี่ชนิด พืชต้องการธาตุอาหารช่วงไหน ระยะไหน ต้องรู้ตรงนี้ ไม่ใช่ทำตามๆกันไป ชาวนาอาชีพกับชาวนามืออาชีพต่างกัน”
คำว่า “ชาวนาอาชีพเป็นหนี้ หนี้เพิ่มมาทุกปีก็ยังทำอยู่เหมือนเดิม ถ้าเป็นนักธุรกิจไม่ได้แล้ว ต้องหาวิธีการบริหารใหม่ ต้องเปลี่ยนแปลง ถ้าเป็นชาวนามืออาชีพต้องรู้ให้จริง รู้ให้ลึก รู้ให้ชัด ว่าข้าว 1 ถังมีกี่เมล็ด 1 เมล็ดแตกกี่หน่อ รู้ทั้งดินฟ้าอากาศ”
นายผ่านบอกว่า “ข้าว 1 ถังมีประมาณ 4 แสนเมล็ด ข้าว 1 เมล็ดสามารถแตกหน่อได้ประมาณ 5-50 หน่อ ขึ้นอยู่กับว่าหว่านมากหรือน้อย เรื่องนี้เราต้องรู้ ถ้าไม่รู้ก็เท่ากับทำนาเหมือนคนตาบอด ทำอย่างไม่มีเป้าหมาย เราต้องรู้เลยว่าปีนี้เราจะได้ข้าวเท่าไร และต้องทำอย่างไรบ้างถึงจะได้”
เมื่อถามถึงตลาด นายผ่านบอกว่าต้องสร้างตลาดคุณธรรมขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นผลิตผลอะไรต้องปลอดสารพิษ เป็นอาหารที่ปลอดภัย ต้องใส่ใจกับชุมชน ถึงจะแก้ปัญหายากจนได้อย่างยั่งยืน
“กรณีราคาข้าวถูกอย่างนี้ เราก็แก้โดยทำทุกอย่างที่กิน อย่าทำขาย ทำพืชให้มันหลากหลาย เน้นเรื่องอาหารอย่าไปเน้นข้าว ถ้าเราทำอย่างนี้ด้วยกัน คนที่ไม่ทำนาจะอยู่ได้อย่างไร เพราะเราทำก็เป็นหนี้ เราจึงต้องทำแค่พอกิน พื้นที่นอกจากนั้นปลูกพืชอย่างอื่น อีกหน่อยเราก็จะเป็นเจ้าของธุรกิจอย่างอิสระและยั่งยืน”
โรงเรียนชาวนา หรือกลุ่มเกษตรยั่งยืนตำบลศรีเมืองชุม ก่อตั้งเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2545 เปิดสอนชาวนามาหลายรุ่น วิชาที่เรียนมีทั้งเรื่องดิน น้ำ อากาศ โรคพืช การแก้ไข การทำปุ๋ยใช้เอง เรื่อยไปถึงการให้เข้าใจกลไกการตลาด คนที่มาเรียน “มาไกลกว่า 100 กม.ก็มีครับ ผมไม่ได้ประชาสัมพันธ์ อาศัยปากต่อปากเรื่อยมา นี่ได้สิงห์อาสาเข้ามาช่วย ทำให้คนได้รู้กว้างขวางขึ้น”
โครงการส่งเสริมภูมิปัญญาชาวบ้าน “สิงห์อาสา” เกิดจากความคิดของนายปิติ ภิรมย์ภักดี กก.บริหาร บ.บุญรอดบริวเวอรี่ จก. มุ่งส่งเสริมให้ชาวบ้านพึ่งตนเองได้ และเผยแพร่ภูมิปัญญาภาคเกษตรไปในวงกว้าง นายผ่านบอกว่า หลังได้รับความช่วยเหลือ ทำให้โรงเรียนเกิดความคล่องตัวเป็นอย่างดี
นักเรียนของโรงเรียนชาวนา ล้วนเป็นชาวนาที่ต้องการองค์ความรู้ใหม่ หลังได้รับแล้วต้องลงมือปฏิบัติไปพร้อมๆกับอาจารย์ เพราะมีแปลงนาข้าวและสวนผลไม้เป็นห้องเรียน มีพืชเป็นบทเรียน มีปราชญ์ชาวนาเป็นอาจารย์สอนโดยไม่คิดค่าหน่วยกิตจากนักเรียน ถ้าจะมีบ้างก็เพียงค่าอาหารและที่พัก
ปราชญ์ชาวนาย้ำว่า “ต้นไม้ทุกต้นเป็นครู เราผ่านการลองผิดลองถูกมานาน ผิดก็ครูถูกก็ครู เมื่อได้ความรู้มาก็อยากให้เอาไปใช้ จะได้ไม่ต้องไปลองผิดลองถูกอีก นี่เป็นทางรอดไม่ใช่ทางเลือก”
ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 6 ส.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.