คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มธ.ชี้โครงสร้างรายได้ท้องถิ่นไทยไม่พัฒนามา 30-40 ปี กฎหมายใหม่ๆ เช่น ภาษีที่ดินฯ ร่วมเขียนมาตั้งแต่ปี 2536 ถึงปัจจุบันนี้ยังไม่ไปไหน ยันพึ่งพิงรายได้จัดสรรจากรัฐมากเท่าไหร่ ยิ่งบั่นทอนความเป็นอิสระของท้องถิ่นมากเท่านั้น
เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์ศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเวทีสัมมนาระดมปัญญา ในหัวข้อ " แนวทางการพัฒนารายได้ท้องถิ่น: เพื่อการพัฒนาการจัดบริการสาธารณะ และสร้างความยั่งยืนในพื้นที่" ณ ห้อง ร. 103 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ผศ.ดร. ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ…ว่า ปัจจุบันภาษีที่จัดเก็บเองของท้องถิ่น 2 ตัวหลัก ๆ คือ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ มีปัญหาอยู่หลายประการ เช่น อัตราภาษีโรงเรือนและที่ดิน อัตราค่อนข้างสูง อยู่ที่ 12.5% ของค่ารายปี ขณะที่ฐานค่าเช่ารายปีก็ไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจน จึงทำให้เกิดความรั่วไหลได้ อีกทั้งมีข้อยกเว้น ที่อยู่อาศัยไม่ต้องเสียภาษี ทำให้ฐานภาษีที่ท้องถิ่นจะได้รับแคบลง
ส่วนภาษีบำรุงท้องที่ นักเศรษฐศาสตร์ มธ.กล่าวว่า ราคาปานกลางของที่ดินก็ล้าสมัยตั้งแต่ปี 2521-2524 ไม่มีการปรับปรุง สวนทางกลับราคาที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี ตรงนี้ทำให้การจัดเก็บเม็ดเงินที่ได้มาค่อนข้างน้อย รวมไปถึงข้อยกเว้น ข้อลดหย่อนข้างมากทำให้ท้องถิ่นแทบไม่ได้ประโยชน์
“ทั้งหมดเป็นที่มาของความพยายามปรับปรุงให้เกิดเป็น ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ…. แต่ในเมื่อภาษีตัวนี้จะเป็นภาษีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) น่าจะมีการผลักดันกฎหมายตัวนี้ แต่ที่ผ่านมารู้สึกผิดหวัง ไม่เห็นบทบาทของ อปท.เข้ามาช่วยส่งเสริม หรือไปอธิบายกับประชาชน รวมถึงร่วมผลักดันในระดับนโยบาย"ผศ.ดร. ดวงมณี กล่าว และว่า จริงๆ ไม่ใช่หน้าที่ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่จะเข้ามาขับเคลื่อนกฎหมายตัวนี้ ท้องถิ่นจะต้องกระตือรือร้นร่วมกันผลักดันร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
นักเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวด้วยว่า การเก็บภาษีมีผลกระทบต่อฐานเสียงของนักการเมืองท้องถิ่น แต่ทัศนคติแบบนี้ของผู้บริหารท้องถิ่นที่ไม่ควรเกิดขึ้น เนื่องจากรายได้จากการจัดเก็บภาษีเองของท้องถิ่นปัจจุบัน เมื่อเทียบกับรัฐบาลจัดสรรให้ ยังอยู่ในระดับค่อนข้างน้อยไม่เกิน 10% ซึ่งถือว่า น้อยมาก
ขณะที่ ศ.ดร. สกนธ์ วรัญญูวัฒนา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการกระจายอำนาจทางการคลัง และการคลังท้องถิ่นไทย จำเป็นต้องกำหนดภารกิจหน้าที่ที่ดีที่สุด ให้เหมาะสมที่สุดกับขนาด แต่ประเทศไทยกำลังอยู่ในวังวน ทะเลาะกัน เถียงกันในรัฐธรรมนูญว่า จะยุบรวมหรือไม่ อบต.อบจ.จะเหลือหรือไม่ เหล่านี้เป็นวังวนที่เกิดขึ้นจากการกำหนดขนาด ภารกิจของท้องถิ่น
“ประสบการณ์การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ในฝรั่งเศส ยุโรป ไม่ได้พูดถึงการยุบรวม แต่พูดถึงเรื่องการจัดภารกิจให้เหมาะสม บางบริบท เช่น ที่ญี่ปุ่น พูดถึงเรื่องการยุบรวม แต่ไม่ว่าจะยุบรวมหรือกำหนดภารกิจหน้าที่ ก็คือจุดเริ่มต้นของการกระจายอำนาจด้านการคลัง แล้วตามมาด้วยการกำหนดรายได้ ทำอย่างไรให้ท้องถิ่นมีที่มาของรายได้ที่เหมาะสม ประเภทของเงินรายได้เหมาะสม”
ศ.ดร. สกนธ์ กล่าวถึงโครงสร้างรายได้ของท้องถิ่นในประเทศไทยไม่ได้มีการพัฒนามา 30-40 ปี เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น แม้จะพยายามผลักดันให้เกิดกฎหมายใหม่ๆ เช่น ภาษีที่ดินฯ ร่วมเขียนมาตั้งแต่ปี 2536 ถึงปัจจุบันนี้ก็ยังไม่ไปไหน เหล่านี้สะท้อนว่า การพัฒนารายได้ท้องถิ่นเป็นปัญหา ประกอบกับการพึ่งพิงรายได้จัดสรรจากรัฐบาลล้วนแล้วแต่บั่นทอนความเป็นอิสระของท้องถิ่นทั้งสิ้น
ส่วนผศ.ดร. วีระศักดิ์ เครือเทพ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสถาการณ์ปัจจุบันด้านการคลังและงบประมาณของ อปท.ปี 2559 ว่า รัฐบาลกลางตั้งงบประมาณรายจ่าย 2.7 ล้านล้านบาท จัดสรรให้อปท. ร้อยละ 28.21 หรือคิดเป็นวงเงิน 6.56 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ แบ่งเป็นรายได้ที่ อปท.เก็บเอง ไม่ถึง 10% และภาษีที่รัฐบาลจัดเก็บแล้วจัดสรรให้ แบ่งให้อปท. จำนวน 3.97 แสนล้านบาท หรือ 60.6% ของรายได้รวมของ อปท. และเป็นเงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้อปท.จำนวน 2.59 แสนล้านบาท
สำหรับเงินที่รัฐบาลจัดสรรให้ อปท. ผศ.ดร. วีระศักดิ์ กล่าวว่า แบ่งเป็นเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ 3.4 หมื่นล้านบาท และเงินอุดหนุนทั่วไป2.03 แสนล้านบาท แยกเป็นเงินอุดหนุนทั่วไปที่ไม่กำหนดวัตถุประสงค์ในการใช้จ่าย (block grant) จำนวน 4.7 หมื่นล้านบาท และเงินอุดหนุนตามวัตถุประสงค์/ภารกิจถ่ายโอน 1.56 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ ผศ.ดร. วีระศักดิ์ กล่าวด้วยว่า หากประเมินแนวโน้มและผลกระทบต่อการบริหารงานคลังท้องถิ่นปัจจุบันพบว่า สัดส่วนการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายอปท.เติบโตเร็วกว่า การเพิ่มขึ้นของรายได้ของอปท. โดยเฉพาะรายได้ที่จัดเก็บเอง เนื่องด้วยสภาพปัญหาความเป็นชุมชนเมือง ที่จำเป็นต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมและเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม บริการสาธารณะ การจัดระเบียบชุมชน การเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุ การเคลื่อนย้ายประชากรและแรงงานต่างถิ่น เข้าสู่เขตเมือง ชุมชนกึ่งเมือง รวมไปถึงนโยบายประชานิยมของรัฐ ก่อให้เกิดการเสพติดด้านรายจ่าย ประกอบกับประชาชนเริ่มมีแนวคิดรับของฟรี (Free-lunch) และพึ่งพาตนเองน้อยลง เป็นต้น
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา วันที่ 2 ส.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.