ตัดมูลค่าสิ่งปลูกสร้างออก!ลดภาระภาษี
คลังเล็งตัดมูลค่าสิ่งก่อสร้างออกจากภาษีที่ดิน โดยให้เหลือเพียง พ.ร.บ.ภาษีที่ดิน จากเดิม พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งจะทำให้เจ้าของบ้านและที่ดินจ่ายภาษีลดลง หวังลดกระแสต่อต้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงการคลังว่า กระทรวงการคลังจะตัดมูลค่าของสิ่งปลูกสร้างออกจาก พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ... ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ซึ่งหากตัดมูลค่าของสิ่งปลูกสร้างออกจากกฎหมายฉบับดังกล่าวแล้ว ก็จะทำให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ เหลือเพียง พ.ร.บ.ภาษีที่ดิน ทั้งนี้ การตัดฐานราคาสิ่งปลูกสร้างออกจากกฎหมายทำให้ภาระภาษีที่เจ้าของบ้านและที่ดินต้องจ่ายลดลง แม้ว่าจะทำให้รายได้จากภาษีลดต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ที่ 200,000 ล้านบาทต่อปีก็ตาม แต่ก็ยังจะสูงกว่ารายได้จากภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ ที่จัดเก็บในปัจจุบันที่ได้ประมาณปีละ 25,000 ล้านบาทเท่านั้น
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังตั้งเป้าหมายว่า จะนำ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เข้ามาแทนที่ภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่ เนื่องจากมีปัญหาช่องโหว่ของภาษีและอัตราภาษีที่เก็บในอัตราที่ต่ำมากโดยใช้ราคาปานกลางของราคาที่ดินในช่วงปี 2521-2524 รวมถึงการยกเว้นภาษี สำหรับเจ้าของที่ดินขนาดตั้งแต่ 50 ตารางวา จน ถึง 5 ไร่ และโครงสร้างภาษีมีลักษณะถดถอยคือ ราคาที่ดินที่ต่ำกว่า 30,000 หมื่นบาท/ไร่ จ่ายอัตราภาษีเฉลี่ยที่ 0.50% ขณะที่เกินกว่า 30,000 บาท/ไร่ จ่ายในอัตราต่ำลงคือ 0.25%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้พยายามผลักดันร่างกฎหมายภาษีเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. แต่นายกรัฐมนตรีสั่งให้ชะลอการนำเสนอให้ ครม.อนุมัติ โดยสั่งให้กระทรวงการคลังไปพิจารณาถึงมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนที่มีรายได้น้อย ซึ่งนายสมหมาย ภาษี รมว.คลังยืนยันมาโดยตลอดว่า กระทรวงการคลังจะผลักดันกฎหมายภาษีฉบับนี้ต่อไป ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปภาษี เพื่อสร้างรายได้ให้รัฐบาลที่มีภาระรายจ่ายที่สูงขึ้นทุกขณะ และรัฐบาลจัดทำงบขาดดุลติดต่อกันมานานกว่า 10 ปีแล้ว
สำหรับอัตราภาษีในร่างกฎหมายฉบับนี้ ได้กำหนดอัตราเพดานภาษีไว้ 3 ประเภทคือ ที่ดินเพื่อการเกษตร อัตรา 0.25% ของราคาประเมิน ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่ออยู่อาศัย ในอัตรา 0.50% และอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ เช่น อาคารพาณิชย์ หรือที่รกร้างว่างเปล่าไม่ได้ทำประโยชน์ตามสมควร ในอัตรา 2% อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังยืนยันว่า อัตราภาษีที่จะเก็บจริงจะไม่สูงเท่าอัตราตามเพดาน แต่จะต่ำกว่าอัตราตามเพดานมาก โดย รมว.คลัง เคยเสนอว่าให้เก็บที่ดินเพื่อการเกษตรในอัตรา 0.05% ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 0.1% และเชิงพาณิชย์ 0.2%
นอกจากนี้ ยังได้เสนอแนวทางการลดหย่อนภาระภาษี เช่น การกำหนดให้บ้านและที่ดิน ที่มีมูลค่าไม่เกิน 2 ล้านบาท จ่ายในอัตรา 25% ของภาระภาษี ซึ่งหากภาษีบ้านและที่ดินอยู่ในอัตรา 0.1% เท่ากับว่าภาระภาษีจะอยู่ที่ 1 พันบาทของมูลค่าบ้านและที่ดิน 1 ล้านบาท เมื่อจ่ายเพียง 25% เท่ากับจ่ายภาษีเพียง 250 บาท ต่อ 1 ล้านบาท
ส่วนบ้านและที่ดิน ที่มีราคามากกว่า 2 ล้านบาทแต่ไม่เกิน 4 ล้านบาท จ่ายภาษีในอัตรา 50% ของภาระที่ต้องจ่าย เท่ากับว่าจ่ายภาษี 500 บาทต่อมูลค่าบ้านและที่ดิน 1 ล้านบาท และราคาบ้านและที่ดินเกินกว่า 4 ล้านบาท ให้จ่ายเต็ม 100% ของภาระภาษี ส่วนที่ดินเพื่อการเกษตรจะยกเว้นภาษีให้สำหรับที่ดินที่มีมูลค่าไม่เกิน 1.5 ล้านบาท
ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 3 ส.ค. 2558